#ลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐาน

พัฒนาการรอบ 10 ปีของ Market Cap

โดย ธีรัตม์ กฤตยาภัทร
เผยแพร่:
100 views

พัฒนาการรอบ 10 ปีของ Market Cap ตลาดหุ้นรอบโลก: หุ้นจีน-ฮ่องกงมาแรงสุด

วันนี้เรามาดูพัฒนาการของมูลค่าตลาดหุ้นหลายประเทศรอบโลกจากปี 2006-2015 กันครับ จัดอันดับสวยๆจาก Wall Street Journal เราจะเห็นว่าตลาดหุ้น"เซี่ยงไฮ้" มีพัฒนาการของมูลค่าตลาดหุ้นรวดเร็วที่สุด โดยการปรับตัวจากอันดับ 19 ของโลกในปี 2006 มาเป็นอันดับที่ 3 ของโลกในปี 2015

รองลงมาคงจะเป็นตลาดหุ้น "เซินเจิ้น" ที่ก้าวขึ้นมาจากอันดับที่ 27 ปี 2006 ขึ้นมาถึง 20 อันดับจนอยู่ที่อันดับ 7 ในปี 2015

นอกจากนี้ยังมีตลาดหุ้น "ฮ่องกง" ที่ก้าวขึ้นมาเล็กน้อยจากอันดับที่เป็นผู้นำโลกอยู่แล้วที่อันดับ 7 ปี 2006 มาเป็นอันดับ 5 ปี 2015 ดูจากตัวเลข "มูลค่า" แล้ว ลองมาดูว่ามีเหตุการณ์อะไรบ้างที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้กับประเทศจีนกันบ้างนะครับ

ในช่วงปี 2006-2015 GDP ประเทศที่โตได้กว่า 4 เท่า จาก 2.7 ล้านล้าน USD ปี 2006 มาสูงเกือบ 11 ล้านล้าน USD ที่ปี 2015 

ในเรื่องของพัฒนาการของบริษัทจดทะเบียน บริษัทรัฐวิสาหกิจจีนใช้ตลาดทุนเป็นตัวเร่งแก้ไขตัวเอง พัฒนาการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ ยกมาตรฐานการบริหารจัดการการเงินให้ขึ้นมาเท่าเทียมระดับสากล นอกจากนี้ทุกยุคสมัยหลังปี 1978 ผู้นำประเทศจีนเองก็มีการผลักดันปฏิรูปตลอดเวลา "ทุกสภาวะตลาดทุน" ทั้งการพัฒนาฝีมือของผู้บริหารระดับสูงของบริษัทรัฐวิสาหกิจชั้นนำตั้งแต่เริ่มต้นปี 2002 การพัฒนาและเปิดระบบตลาดทุน และปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจ และอีกมากมาย

ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาจากการพัฒนาที่รวดเร็วก็คือ หนี้ที่เพิ่มขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ต้องกังวล ความจำเป็นที่จะชะลอความร้อนแรงนี้ลงก็จะกดให้อัตราการเติบโตลดลงสู่ระดับ "ปานกลาง" แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับสูง เทียบกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนานะครับ

แต่อย่างไรก็ตาม ตัวเลขหนี้รวม 244% ของ GDP ปี 2014 แม้ว่าจะเยอะ แต่ถ้ามาดูไส้ในก็จะเห็นช่องการเติบโตได้อีก นั่นคือภาค "Consumer" จีนเองก็ปรับตัวโดยชะลอการลงทุนภาครัฐ (หนี้ 42% ของ GDP) และภาคอุตสาหกรรมและการส่งออก หันไปดันภาค "Consumer" ซึ่งมีระดับหนี้เพียง 24% ของ GDP เท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาจีนก็แสดงให้เห็นแล้วถึงตัวเลข Retail Sales และ ภาค Tourism ที่ยังแข็งแรงอยู่

เรื่องการจัดการกับหนี้ ประเทศจีนเองก็มีวิธีบริการจัดการโดยใช้บริษัทจำพวก "Asset Management" มารับบริหารจัดการหนี้เสียบนบัญชีของธนาคารพาณิชย์ BIG 4 ยักษ์ใหญ่อย่าง Bank of China, China Construction Bank, Agricultural Bank of China และ Industrial & Commercial Bank of China ซึ่งเป็นการ "หน่วงเวลา" การบริหารจัดการหนี้ให้ไม่ต้องเจอกับ "Hard-Landing" ซึ่งจีนเองก็พิสูจน์ว่าโมเดล Asset Management นี้เคยพาจีนรอดพ้นภัย ชะลอ Hard Landing ของภาคอสังหาริมทรัพย์มาแล้ว

นอกจากนี้ ปัจจุบันเอง ผู้นำ สี จิ้นผิงก็ได้ออกมาประกาศว่าขนาดเศรษฐกิจจีนจะต้องพึ่งพากลุ่มธนาคารให้น้อยลง และจะลดการควบคุมการบริหารจัดการของธนาคารใหญ่ๆลง โดยจะต้องบริหารจัดการตัวเองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมรับการแข่งขันในตลาดการเงินที่สมบูรณ์แบบมากขึ้นในอนาคต

รวมถึงนโยบายสุดโหดอย่างการออกมาบอกว่าบริษัทรัฐวิสาหกิจไหนที่ไม่สามารถทำกำไรได้ในอีก 2-3 ปีข้างหน้าจะถูกบังคับให้ปิดไป เป็นการการันตีเป็นอย่างดีถึงการเร่งตัวให้ธุรกิจพัฒนา ผู้ที่แข็งแกร่งกว่าก็ควรจะอยู่รอดตามหลักทุนนิยม และจะไม่มีการอุ้ม หรือ "Bailout" เหมือนที่กลุ่มประเทศสหรัฐหรือยุโรปนิยมทำกัน

พัฒนาการอย่างต่อเนื่องเหล่านี้ก็พอจะทำให้เชื่อได้ว่า ที่ผ่านมา กองทุน Hedge Fund ไหนก็ตามที่เข้ามาดันตลาดหุ้นจีนให้ขึ้นไปขนาดนี้ ดันไปด้วย "ปัจจัยพื้นฐานที่สมเหตุสมผล" พอสมควรครับ

จากนี้ต่อไปข้างหน้าคงต้องมาดูกันครับ ว่าเบอร์ 1 และ เบอร์ 2 อย่าง New York Stock Exchange และ NASDAQ จะยังคงรักษาตำแหน่งต่อไปได้มั้ย

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก Wall Street Journal และ Morgan Stanley

บทความโดย: บูม MoneyCrown / FB: MoneyCrown


ผู้ก่อตั้งแฟนเพจ MoneyCrown ที่เน้นสาระความรู้และการวิเคราะห์บริษัทจากปัจจัยพื้นฐาน โดยเน้นหุ้นเติบโต (growth stock) ที่ราคาสมเหตุสมผล มีเงินปันผลสูง และเติบโตต่อเนื่อง

ประสบการณ์การทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านการจัดการ (Management Consulting) ที่ประเทศไทย ประเทศอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา

ประวัติการศึกษา:

- ปริญญาตรี: คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

- ปริญญาโท: MS in Management, Cass Business School, London

- ปริญญาโท: MS in Management Science & Engineering, Columbia University in the City of New York

นอกเหนือจากความสนใจหาหุ้นที่น่าสนใจโดยอาศัยวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานแล้ว ยังสนใจการลงทุนในต่างประเทศเป็นพิเศษ โดยเฉพาะตลาดจีน ตลาดอเมริกา เทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงเรื่องราวของ tech startup ที่อเมริกาอีกด้วย

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง