ในบรรดาราคาสินทรัพย์ทั้งหลาย “ราคาน้ำมัน” เป็นหนึ่งในสินค้าที่ราคาผันผวนสุดโต่งตัวหนึ่ง ที่ว่าผันผวนสุดโต่งคือ ในยามแพงก็จะแพงมากๆ ในยามถูกก็จะถูกมากๆ
ผมเคยอ่านบทวิเคราะห์หลายแห่ง พบว่าราคาน้ำมันดิบโลกที่เหมาะสม ไม่แพงจนทำให้เกิดเงินเฟ้อเดือดร้อน กระทบต่อการบริโภค หรือ ถูกจนกระทั่งเหมือนเศรษฐกิจชะงักงัน เป็นผลลบต่อหุ้นกลุ่มพลังงานเอง คือช่วง 60-80 USD ต่อบาร์เรล
แต่ในความเป็นจริง กราฟราคาน้ำมันดิบย้อนหลัง 25 ปีได้บอกเราว่า ราคาน้ำมันมันจะ “แพงไป หรือ ถูกไป” อยู่เสมอ นี่คือหนึ่งในสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีผลต่อสภาวะเศรษฐกิจสูงมาก มีผลต่อกลุ่มหุ้นเพื่อการลงทุนมากมาย ในทุกวันนี้ เราอยู่ในช่วงน้ำมันแพง
ราคาน้ำมันดิบโลกแพง เกิดจากอะไร ? เกิดจากหลายสาเหตุครับ ผมขอแยกเป็น 2 สาเหตุง่ายๆเพื่อความเข้าใจ
- แบบพื้นฐาน : คือ เกิดได้บ่อยๆ เกิดเป็นฤดูกาล เช่น
- ประเทศยุโรปและอเมริกาเข้าสู่ฤดูหนาวทำให้ต้องใช้น้ำมันมากขึ้น
- เกิดจากสต็อกน้ำมันโลกในประเทศมหาอำนาจลดน้อยลง สวนทางกับความต้องการที่พุ่งสูงขึ้น
- แบบพิเศษ : คือ เป็นเหตุการณ์พิเศษ ทำนายไม่ได้ เช่น
- ปัญหาความขัดแย้งในแถบประเทศผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ เช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครน การจลาจลหรือปัญหาการเมืองภายในประเทศผู้ค้าน้ำมัน
- ปัญหาการ Sanction ประกาศคว่ำบาตรทางการค้ากับประเทศผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่
- อุบัติเหตุ จากท่อขนส่งน้ำมันระหว่างประเทศระเบิดหรือใช้การไม่ได้ หรือ อุบัติเหตุไฟไหม้ถังเก็บน้ำมันของประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน ฯลฯ
- สถานการณ์โควิด-19 ที่ยืดเยื้อมากว่า 2 ปี ทำให้การค้าโลกสะดุด แต่กำลังเริ่มฟื้นตัวในอัตราเร่ง ทำให้ความต้องการน้ำมันสูงเกินกว่ากำลังการผลิต
ปีนี้ 2565 เราอยู่ในช่วงราคาน้ำมันแพง(มาก) เพราะมีปัจจัยที่มาผลักดันราคาน้ำมันมากมายเหลือเกิน ทั้ง Pent-up demand จากการเปิดประเทศหลังโควิดตั้งแต่กลางปีที่แล้ว กระทั่งปลายปีก็เข้าสู่ช่วงอากาศหนาวเป็นพิเศษของประเทศแถบยุโรปและอเมริกา ข้ามมาต้นปี 65 ก็เจอกับสงครามรัสเซีย-ยูเครนต่อในทันที
ราคาน้ำมันดิบโลกที่เคยคาดว่าจะลดลงกลับสู่สมดุลย์ในปี 65 ที่ประมาณ 80 USDต่อบาร์เรล ก็กลายเป็นความเชื่อกลับข้าง มองว่าราคาน้ำมันอาจจะยืนที่ระดับ 110-120 USD ต่อบาร์เรลไปตลอดปีนี้ และอาจจะราคาสูงขึ้นต่อเนื่องอีกก็เป็นได้
ความกังวลเรื่องราคาน้ำมันที่ทะยานขึ้นต่อเนื่อง สร้างความหนักใจให้กับนักลงทุนที่คิดจะช้อนหุ้นรับเศรษฐกิจไทยหลังการเปิดเมือง Reopening อย่างมาก
สงครามอาจจะกินเวลายาวกว่าที่คาด ซึ่งจะกดดันการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ และเศรษฐกิจทั่วโลกจะปั่นป่วนจากเรื่องต้นทุนผลิตที่สูงขึ้น เพราะไม่เพียงแต่ราคาน้ำมันแพง แต่ราคาพลังงานตัวอื่นทั้ง ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ ก็แพงขึ้นในอัตราเร่งเช่นกัน
หากราคาพลังงานยังคงปรับตัวสูงขึ้น แน่นอนว่าย่อมมี 'ผู้ที่ได้ประโยชน์' และ 'เสียประโยชน์' จากสถานการณ์เหล่านี้ และแน่นอนว่า จะส่งผลต่อการลงทุนในหุ้นเช่นเดียวกัน ลองมาไล่เรียงกลุ่มต่างๆที่จะได้รับผลกระทบทั้งบวกและลบได้ ดังนี้
- บริษัทพลังงานต้นน้ำอย่าง ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ในฐานะผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของไทย น่าจะได้รับประโยชน์มากที่สุด เพราะราคาขายน้ำมันจะปรับตัวขึ้นตามราคาขาย ขณะที่ต้นทุนมักจะไม่ได้ปรับขึ้นตามมากนัก
- ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน ค่าการกลั่นและปริมาณการกลั่นที่เพิ่มสูงขึ้น และมีแนวโน้มที่จะได้รับกำไรพิเศษจากสต๊อกสินค้าที่ราคาจะปรับตัวสูงขึ้น
- บริษัทพลังงานถ่านหิน โดยเฉพาะเจ้าของเหมืองถ่านหิน ได้รับประโยชน์จากราคาถ่านหินสูงและปริมาณขายจากความต้องการลูกค้าสูงขึ้น
ในมุมกลับกัน เมื่อราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นมาก ธุรกิจที่มีต้นทุนเป็นน้ำมันย่อมได้รับผลกระทบ
- ธุรกิจสายการบิน ทำกำไรยากยิ่งขึ้น เพราะน้ำมันถือเป็นต้นทุนหลักของธุรกิจ ขณะที่ภาวะการแข่งขันในปัจจุบันก็ค่อนข้างสูง ทำให้การปรับราคาขายอาจจะไม่ได้มากเท่ากับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
- กลุ่มรับเหมาก่อสร้างและกลุ่มอสังหาฯ มักจะต้องเผชิญกับต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่จะปรับเพิ่มขึ้น อาทิ ค่าไฟฟ้า ปูนซิเมนต์ กระเบื้อง แต่กลับไม่สามารถส่งต่อภาระต้นทุนไปที่ลูกค้าได้
- กลุ่มโรงไฟฟ้า หลายโรงไฟฟ้าใช้ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ เป็นปัจจัยการผลิต จะกดดันกำไรของกิจการได้
ท้ายที่สุดไม่ว่าราคาน้ำมัน ราคาพลังงานจะปรับขึ้นอีกนานแค่ไหน การเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ จะช่วยให้มองเห็นโอกาส และปิดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้ ราคาน้ำมันที่ขึ้นสูง จากประวัติศาสตร์ยืนยันแล้วว่า “มันมีวันจบเสมอ” และมักจะตามด้วยขาลงของราคาน้ำมัน
สิ่งนี้จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งตลาดหุ้นก็มักจะ Overreact กับราคาหุ้นที่มีผลกระทบจากราคาน้ำมันเสมอ หน้าที่ของนักลงทุนคือ พยายามสร้างโอกาสในวิกฤตให้ได้