เวลาที่เราเรียนวิชาการตลาด เรามักจะได้ยินเรื่องของ Red Ocean หรือ Blue Ocean
... ตลาด Red Ocean หรือที่เรียกว่า "ทะเลเดือด" มีการแข่งขันกันสูงมาก
... ตลาด Blue Ocean หรือที่เรียกว่า "น่านน้ำสีฟ้า" เป็นตลาดใหม่ ไม่มีคู่แข่ง ความต้องการยังเติบโต
แต่ถ้าเราบอกว่า ธุรกิจอยู่ใน Red Ocean และยิ่งจมลึกกว่าเดิม โดยเฉพาะองค์กรที่กำลังเป็นข่าวดังอย่าง Sea Group เจ้าของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในชื่อว่า Shopee
เมื่อไม่นานมานี้ มีข่าวว่าด้วยเรื่องของ ช้อปปี้ (Shopee) ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซในสิงคโปร์ ประกาศปลดพนักงานจำนวนมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งอินโดนีเซีย เวียดนาม และไทย
สำหรับประเทศไทยจะมีการปลดพนักงานในส่วนของ ShopeePay และ ShopeeFood มากถึง 50% ซึ่งเหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดในประเทศไทยอย่างเดียว
แต่เราจะได้ยินมาก่อนหน้านั้น
... ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ช้อปปี้ ประกาศเลิกกิจการในฝรั่งเศส
... ในเดือนมีนาคม 2565 ช้อปปี้ ประกาศเลิกกิจการในอินเดีย โดยเลิกจ้างพนักงานกว่า 300 คนในประเทศ
ถามว่าจากข่าวที่เกิดมา เกิดอะไรขึ้นกับ "ช้อปปี้" ?
คำตอบ คือ ช้อปปี้กำลังจมลึกกว่าเดิมในตลาด Red Ocean และจำเป็นจะต้อง "ตะเกียกตะกาย" ขึ้นมาหายใจให้ได้ ....
ไตรมาส 1 ปี 2565 ผลประกอบการของ Sea Group ออกมา "ประทับใจ" นักลงทุนอย่างมาก โดย
ผลประกอบการที่บริษัททำได้ 2.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ
จากเดิมนักวิเคราะห์คาดว่าจะทำได้ 2.76 พันล้านเหรียญสหรัฐ บริษัทขาดทุนสุทธิ 580 ล้านเหรียญสหรัฐ
จากที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะขาดทุนหนักราวๆ 722 ล้านเหรียญสหรัฐ ผลสรุปคือ รายได้โต 64% แถมยังขาดทุนน้อยกว่าที่คาด
ทำให้หุ้น Sea Group กระโดดบวกทีเดียว 14% ภายในวัน
ผู้บริหารแสดงความคิดเห็นว่า บริษัทมีการขยายงาน "อย่างดุดัน" โดยเฉพาะในบราซิล ประเทศในกลุ่มตะวันออกเฉียงใต้ และไต้หวัน รวมถึงมีการลดการลงทุนในประเทศอินเดีย และฝรั่งเศส
ซึ่งทำให้ผลประกอบการเฉพาะของช้อปปี้อย่างเดียว มีรายได้เติบโตอยู่ที่ 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ
และขาดทุนเพิ่มขึ้น 77% อยู่ที่ 810.6 ล้านเหรียญสหรัฐ
ตอนที่หุ้นขึ้น ... อะไรก็ดูดีไปหมด ข่าวร้ายคนก็มองว่ามันดี
แต่ตอนหุ้นลง ... ข่าวดีก็สามารถกลายเป็นข่าวร้ายได้ ถ้าบรรยากาศมันพาไป
นักลงทุนเริ่มเห็นแล้วว่า เราไม่ควรสนใจรายได้ที่เติบโต แต่เราควรหันมาสนใจ "กำไร" ที่บริษัททำได้ต่างหาก
โดยภาพรวม Sea Group ขาดทุนเพิ่มขึ้นถึง 68% จากงบรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช้อปปี้ ทำให้บริษัทขาดทุนเพิ่มขึ้นถึง 77% จนนักวิเคราะห์ในวอลสตรีทแสดงความเห็นว่า บริษัทอยู่ใน Red Ocean ที่กำลังจมลึกไปมากกว่าเดิม!!
สิ่งที่วอลสตรีทรู้สึกกังวล ประกอบไปด้วย 2 ปัจจัย คือ
1. เมื่อไร ช้อปปี้ ที่เป็นตัว "เผาเงิน" ของบริษัทจะเริ่มกลับมาทำกำไร เหมือนอย่างที่ Lazada ของ Alibaba เริ่มทำกำไรให้บริษัทแม่ได้บ้างแล้ว
2. แพลตฟอร์ม ช้อปปี้ ทำผลงานได้ดีช่วงโควิด แต่ก็แลกมากับการขาดทุนมหาศาล สิ่งที่นักลงทุนต้องตระหนักคือ หลังจากผ่านพ้นช่วงโควิดไปแล้ว บริษัทจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร เมื่อคนเริ่มออกจากบ้าน ไปทำงาน เงินเฟ้อพุ่ง ค่าครองชีพสูง และซื้อของออนไลน์น้อยลง ... ?
สื่ออย่าง Forbes วิเคราะห์ว่า ถึงแม้ธุรกิจช้อปปี้จะทำให้บริษัทขาดทุน แต่ธุรกิจที่โดดเด่นกลับเป็นธุรกิจเกมออนไลน์อย่าง "Free Fire" ที่ทำให้บริษัททำกำไรได้ราวๆ 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมียอดผู้ใช้งานทั่วโลกประจำอยู่ราวๆ 615.9 ล้านคน
จากนี้ถือเป็นงานที่ท้าทายของ Sea Group ว่าจะดำเนินธุรกิจต่อไปอย่างไร โดยเฉพาะ "ช้อปปี้" ที่ตอนนี้ กำลังจมลึกกว่าเดิมในตลาด Red Ocean
อนึ่ง ธุรกิจแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในไทย รายใหญ่จะมี 3 บริษัทในไทย คือ
... Lazada ในเครือของ Alibaba มีกำไร 226 ล้านบาท
... Shopee ในเครือของ Sea Group ขาดทุนสุทธิ 4.97 พันล้านบาท
... JD Central ในเครือของ JD.com และเซ็นทรัลของไทย ขาดทุนสุทธิ 1.93 พันล้านบาท
--------------------------------------------------
Reference
forbes.com
cnbc.com
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
beartai.com
Brand Inside