วิวัฒนาการการลงทุนในตลาดหุ้นเวียตนามของผมในช่วงประมาณ 6-7 ปีที่ผ่านก็คือ ช่วงที่ 1 หรือช่วงแรก เป็นการรีบลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยงจากตลาดหุ้นไทยไปสู่เวียตนามที่ผมเห็นว่าภาวะเศรษฐกิจสดใสและกำลังกลายเป็น “ดาราดวงใหม่” ของโลก แต่เพราะไม่รู้จักหุ้นรายตัวเลยและก็ไม่รู้ว่ามีกองทุนอิงดัชนีหรือไม่ ผมจึงใช้วิธีคัดกรองหุ้นด้วยหลักการแบบ “VI” เลือกหุ้นทุกตัวที่มีค่า PE ไม่เกิน 10 เท่า PB ไม่เกิน 1 เท่า ปันผลไม่ต่ำกว่าปีละ 5% และมีขนาดของหุ้นทั้งบริษัทหรือ Market Cap. ไม่ต่ำกว่าประมาณ 4-500 ล้านบาท ซึ่งทำให้ได้หุ้นมาร้อยกว่าตัวและหุ้นแต่ละตัวก็มีขนาดไม่เกิน 4-5 ล้านบาท เป็น “เบี้ยหัวแตก” ที่ส่วนใหญ่แล้วผมไม่รู้เลยว่าบริษัทชื่ออะไรและทำอะไรจนถึงวันนี้
ต่อมาเมื่อเริ่มมีความรู้มากขึ้น ผมก็เริ่มเลือกหุ้นเป็นรายตัวโดยอาศัยคำแนะนำจากนักวิเคราะห์ของโบรกเกอร์ และบางส่วนก็เลือกหุ้นแนว Defensive เช่นเขื่อนและโรงไฟฟ้า รวมถึงกิจการสาธารณูปโภคเช่น ทางด่วนและผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำประปาและน้ำอุตสาหกรรมที่ผมคิดว่ามีความปลอดภัยและให้ผลตอบแทนสูงพอสมควรอานิสงค์จากการที่รัฐบาลให้ผลตอบแทนตาม ต้นทุนเงินทุนหรือ IRR ที่สูงกว่าของไทยมาก ขนาดของการลงทุนในหุ้นแต่ละตัวก็มีขนาดใหญ่ขึ้นพอสมควรแต่จำนวนหุ้นที่ลงทุนก็ยังค่อนข้างมากคือน่าจะประมาณ 30 ตัว
รอบที่สามนั้น น่าจะเรียกว่าเป็นการเริ่มลงทุนในหุ้น “ซุปเปอร์สต็อก” ของเวียตนามที่เป็นหุ้นที่ผมชอบและลงทุนเป็นหลักในตลาดหุ้นไทยมานานเป็นสิบ ๆ ปีแล้ว แต่เนื่องจากหุ้นที่ผมเห็นว่าจะเป็นหุ้นซุปเปอร์สต็อกในเวียตนามในอดีตหลายปีก่อนหน้านั้น มักจะเป็นหุ้นที่ต่างชาติสนใจและเข้าไปซื้อหุ้นจนติดเพดานการลงทุนเช่น ถือหุ้นถึง 30% หรือ 50% ของบริษัทไปแล้ว ทำให้ไม่มีหุ้นซื้อขายในกระดาน ชาวต่างชาติรายใหม่ที่จะซื้อก็ต้องไปซื้อเป็นบิ๊กล็อตต่อจากคนที่ถืออยู่ และต้องจ่ายราคาที่มี Foreign Premium บางที 3-40% จากราคาตลาดซึ่งทำให้ผม “ไม่ยอมซื้อ”
อย่างไรก็ตาม ในระยะหลัง หุ้นซุปเปอร์สต็อกเหล่านั้นบางตัวก็เริ่มมีพรีเมี่ยมลดลงเหลือเพียง 7-10% ผมจึงเริ่มลงทุนในหุ้นซุปเปอร็สต็อกมากขึ้นแต่ก็ยังไม่มีนัยสำคัญจนกระทั่งมีการจัดตั้ง “กองทุนซุปเปอร์สต็อก” ในตลาดหุ้นเวียตนามขึ้นคือ “ETF ไดมอนด์” ซึ่งถือว่าเป็นกองทุนท้องถิ่นของเวียตนามที่ชาวต่างชาติลงทุนได้อย่างไม่จำกัดและไม่มีพรีเมียม ดังนั้น ผมจึงเข้าไปลงทุนจำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญ
การลงทุนรอบที่ 4 และยังต่อเนื่องถึงปัจจุบันก็คือการลงทุนในหุ้นซุปเปอร์สต็อกเป็นหลักและเป็นการลงทุนในหุ้นรายตัว หุ้นที่เลือกจะเป็นหุ้นที่ผมคิดว่ามีคุณสมบัติครบที่จะเป็นหุ้นซุปเปอร์สต็อกที่จะเติบโตต่อเนื่องระยะยาว นั่นก็คือ อยู่ในเมกาเทรนด์ เป็นผู้ที่จะชนะและเหนือกว่าคู่แข่งมาก มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืน และราคาไม่แพง ซึ่งหุ้นเกือบทุกตัวที่ผมเลือกนั้น ก็อยู่ในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมเดียวกับหุ้นที่เป็นหรือเคยเป็นหุ้นซุปเปอร์สต็อกในประเทศไทยที่ผมลงทุนมานานเกือบ 20 ปี ผมยังต้องจ่ายพรีเมียมหุ้นอยู่ที่ประมาณ 7% แต่บางตัวก็สามารถซื้อได้โดยไม่มีพรีเมียม และเหตุผลที่ผมเลิกซื้อ ETF ไดมอนด์นั้นเป็นเพราะ หุ้นในกองทุนนั้นมีหุ้นอื่นโดยเฉพาะหุ้นแบ้งค์ที่ผมไม่คิดว่าเป็นซุปเปอร์สต็อกจำนวนมากรวมอยู่ด้วย
ถึงวันนี้ พอร์ตหุ้นเวียตนามของผมประกอบไปด้วยหุ้นหลัก ๆ ที่เป็นซุปเปอร์สต็อกที่มีขนาดใหญ่ประมาณ 6-7 ตัวรวมไดมอนด์ ทั้งหมดรวมกันน่าจะประมาณ 60% ของพอร์ต และหุ้น Defensive ซึ่งก็อาจจะมีโอกาสเติบโตระยะยาวแบบช้า ๆ ได้ น่าจะซัก 15% รวมเป็น 75% ในขณะที่หุ้นขนาดเล็กอีกร้อยกว่าตัวนั้นน่าจะมีสัดส่วนเหลือเพียง 25% การลงทุนในตลาดหุ้นเวียตนามของผมนั้น ไม่ใช่ “ตลาดหุ้นทางเลือก” อีกต่อไป มันเป็นตลาดหลักอีกแห่งหนึ่ง
ปีที่แล้วทั้งปี เป็นปีที่ตลาดเวียตนามเติบโตขึ้นมากอานิสงค์จากการเก็งกำไรของนักลงทุนรุ่นใหม่ที่แห่กันเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น คนเป็นล้าน ๆ ต่างเข้ามาซื้อ-ขายหุ้น จำนวนมากใช้มาร์จินเต็มเพดาน พวกเขาเข้ามาซื้อ- ขายหุ้นโดยเฉพาะที่เป็นหุ้นเก็งกำไรตัวเล็ก ๆ และหุ้นแนวโภคภัณฑ์ที่เป็นวัฎจักรรวมถึงหุ้นแบ้งค์กันอย่างหนักทำให้ดัชนีตลาดบวกเพิ่มขึ้นถึง 35% แต่หุ้นซุปเปอร์สต็อกที่ผมถืออยู่ประมาณ 6-7 ตัว ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเพียงประมาณ 12.5% อย่างไรก็ตาม พอร์ตหุ้นโดยรวมของผมซึ่งประกอบไปด้วยหุ้นตัวเล็ก ๆ นับเป็นร้อยตัวมีการปรับตัวขึ้นมากจนทำให้พอร์ตเวียตนามของผมปีที่แล้วโตขึ้นถึง 75% กลายเป็นปีทองของพอร์ตหุ้นเวียตนาม
ตั้งแต่ต้นปีนี้ถึงวันที่ 2 มิถุนายน 2565 ตลาดหุ้นเวียตนามก็ปรับตัวลงตาม “เทรนด์ของโลก” ที่ดูเหมือนว่ากำลังประสบปัญหาร้ายแรงหลายอย่าง ดัชนีตลาดหุ้นลดลงมาถึง 14% ไปแล้ว อย่างไรก็ตาม หุ้นซุปเปอร์สต็อกที่ผมเลือกกลับปรับตัวขึ้นเฉลี่ยถึง 13% อานิสงค์น่าจะมาจากการที่ผลประกอบการในไตรมาศแรกที่ผ่านมาค่อนข้างดีและภาวะทางเศรษฐกิจที่ยังคงดีอยู่และน่าจะดีขึ้นเรื่อย ๆ และที่ผมคิดว่าสำคัญยิ่งกว่าก็คือ ราคาหุ้นที่ไม่แพง ค่า PE จากกำไรปกติของหุ้นโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 21 เท่า ในขณะที่ค่า PE ถ้าคิดไปถึงตอนสิ้นปีน่าจะลดลงไปเหลือเพียง 16-17 เท่า เท่านั้น
ความรู้สึกลึก ๆ ของผมก็คือ ตลาดหุ้นเวียตนามนั้นอาจจะกำลังมีการปรับตัวอย่างมีนัยสำคัญเช่นเดียวกับกรณีของตลาดหุ้นไทยเมื่อสิบกว่าปีก่อน ที่เศรษฐกิจเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและตามมาด้วยคนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นเร็วมากที่มาพร้อมกับการบริโภคมหาศาล ซึ่งส่งผลให้บริษัทที่เกี่ยวข้องโดยตรงที่กลายเป็นซุปเปอร์สต็อกเติบโตขึ้นเท่า ๆ กัน ในอีกด้านหนึ่ง ก็ก่อให้เกิดเงินออมที่พร้อมเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น จากคนที่ต้องการสร้างความมั่งคั่งและเพื่อการเกษียณ และการลงทุนแบบอิงกับปัจจัยพื้นฐานหรือแบบ VI ก็กลายเป็นทางเลือก ซึ่งนั่นก็จะส่งผลให้หุ้นแบบซุปเปอร์สต็อกเติบโตต่อเนื่องไปยาวนานแบบที่เคยเกิดขึ้นในตลาดหุ้นไทยในอดีต