หุ้นเติบโตจะโตได้จากอะไรบ้าง ? คำถามสำคัญสำหรับนักลงทุนหุ้นเติบโต หรือ Growth Investor ซึ่งมันสำคัญพอที่เราจะต้องเรียนรู้กระบวนการทำงานของกำไรของหุ้น และราคาหุ้นอย่างเอาจริงเอาจังเลยทีเดียว
การเติบโตของหุ้น และราคาหุ้นที่พุ่งขึ้นไปทะลุฟ้า มันไม่ใช่เรื่องบังเอิญอย่างแน่นอนครับ ... มีเซียนเคยกล่าวไว้ว่า ... เจ้ามือที่แท้จริงของหุ้น คือ “กำไร” หรือ กำไรต่อหุ้น – Earning Per Share (EPS) นั่นเองครับ
สิ่งที่จะทำให้ราคาหุ้นขึ้นอย่างรวดเร็ว ในมุมมองของผมเอง และนักลงทุนหุ้นเติบโต ผมขอแบ่งออกเป็น สองปัจจัย ได้แก่
1) กำไรต่อหุ้นเติบโตเร็วกว่า พีอีที่ตลาดคาดการณ์
2) กิจการมีปันผลออกมามากเกินกว่าปกติ
สองเหตุการณ์ดังกล่าวจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้ราคาหุ้นขยับปรับขึ้นเสมอ เท่าที่ผมสังเกตด้วยตัวเอง จากประสบการณ์ ถ้าเราเจอหุ้นที่กำไรโตเร็วมาก แบบตลาดไม่คาดคิด ราคาหุ้นจะพุ่งเป็นจรวดเลยก็ว่าได้ ส่วนในกรณีที่สอง ราคาหุ้นจะค่อย ๆ ขยับขึ้น แต่สุดท้ายแล้วก็จะขึ้นสูงมากเช่นกัน มาดูไปทีละข้อดีกว่าครับ
ประการแรก ... “กำไรต่อหุ้นเติบโตเร็วกว่า พีอีที่ตลาดคาดการณ์”
จากรูปจะเห็นว่า ... หุ้นตัวนี้กำไรเติบโตเร็วมาก โดย Q2 กำไรโตกว่า 50% ในขณะที่ Q3 กำไรโต 33% และ Q4 กำไรกลับมาโต 50% (เป็นตัวเลขสมมติทั้งหมดนะครับ)
แบบนี้ถ้าเราเจอหุ้นที่เราเห็นว่ากำไรเติบโต ในขณะที่ PE ของหุ้นยังต่ำมาก หมายความว่า ตลาดคาดการณ์การเติบโตของหุ้นตัวนี้ต่ำเกินไป และเมื่อตลาดปรับพีอีให้เหมาะสมกับการเติบโตจริง ราคาหุ้นก็ขึ้นไปหลายเท่าตัว
บางคนคิดว่า ... เหตุการณ์แบบนี้มีจริงหรือ ? คำตอบก็คือ ตัวอย่างที่ผมยกมาให้พิจารณาอาจจะสุดโต่งไป แต่ก็มีจริง เช่น เหตุการณ์ในปัจจุบัน หุ้น SINGER ที่ช่วงต้นปี 2020 มี PE 13 เท่า แต่กำไรในไตรมาสล่าสุดเติบโตกว่า 117% หากกำไรของหุ้นสามารถเติบโตได้แบบนี้ในไตรมาสต่อ ๆ ไป ก็มีแนวโน้มที่ตลาดหุ้นจะปรับพีอีให้ใหม่ ซึ่งเราต้องติดตามต่อไปเรื่อย ๆ มิได้หมายความว่า ตลาดจะต้องปรับพีอีให้ทันทีเสมอไปนะครับ
ประการที่สอง ... “กิจการมีปันผลออกมามากกว่าปกติ”
เหตุการณ์แบบนี้ผมขอยกตัวอย่าง หุ้นจริงอย่าง TACC ที่ทำโถกดเครื่องดื่มในร้าน 7-11 หุ้นตัวนี้ถ้าเราดูประวัติการปันผลย้อนหลังจะพบว่า ปันผลออกมาเกือบ 100% แทบทุกปี ทำให้ราคาหุ้นสามารถทรงตัวอยู่ในระดับสูง
จากภาพจะเห็นว่า ... กิจการทำกำไรต่อหุ้นได้เท่าไหร่ ก็จะแทบจะปันผลออกมาหมด ทำให้ราคาหุ้นทรงตัวได้ในระดับสูง และตลาดก็ให้พีอีสูง
แต่ข้อเสียของวิธีการนี้ก็คือ หากกิจการมีกำไรไม่มั่นคง ปีไหนที่กำไรหด แม้จะปันผลออกมาเกือบหมด ก็จะทำให้ราคาหุ้นตกอย่างหนัก สังเกตจากปีที่สอง ที่กำไรต่อหุ้นตกอย่างหนักเหลือ 0.11 บาทต่อหุ้น ทำให้ตลาดปรับพีอีลง และราคาหุ้นก็ลงมาครึ่งหนึ่งของราคาในปีแรก
ข้อสรุป และข้อคิดก็คือ ... สิ่งที่จะผลักดันราคาหุ้น ได้แก่ กิจการที่กำไรโตเร็วกว่าที่ตลาดคาดคิด กับ กิจการที่ปันผลออกมาเยอะ ๆ ลองค่อย ๆ หาดูนะครับ ถ้าเจอตัวไหน แจ้งผมมาก็ได้ครับ จะได้ช่วยกันตรวจสอบให้รอบด้านเพื่อป้องกันความผิดพลาดในการลงทุน