#แนวคิดด้านการลงทุน

วิกฤตใหญ่ จะมาอีกจริงมั๊ย ?

โดย อธิป กีรติพิชญ์
เผยแพร่:
88 views

ช่วงนี้มีมิตรสหายสายลงทุนทั้งหลาย ต่างก็มีคำถามว่า คิดว่าวิกฤตใหญ่จะมา(อีกแล้ว) จริงมั้ย?

 

สาเหตุที่ถาม ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า ช่วงเวลานี้ ปัจจัยการลงทุนมหภาคดูเลวร้ายในแทบทุกภาคส่วน ทั้งสงคราม การขึ้นดอกเบี้ย การดูดสภาพคล่องออก และเงินเฟ้อที่ขึ้นสูง 

 

ส่งผลให้สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกตั้งแต่เปิดปี 2565 เป็นต้นมา ติดลบกันแทบทั้งสิ้น ทั้งหุ้นไทย หุ้นเทค คริปโต ลองไล่เรียงผลตอบแทน YTD (Year to Date) ของตลาดหุ้นที่น่าสนใจกันครับ (as of May 6th)

  • สหรัฐอเมริกา S&P500 -13% 
  • สหรัฐอเมริกา หุ้นเทคฯ NASDAQ -23.3% 
  • ยุโรป Euro Stoxx 600 -10.2% 
  • จีน CSI300 -18.8% 
  • เกาหลีใต้ KOSPI -10.1% 
  • เวียดนาม VN Index -9.2% 
  • ไทย SET -2% 

 

คิดว่าวิกฤตใหญ่จะมา(อีกแล้ว) จริงมั้ย? ก็ต้องบอกว่าไม่ทราบครับ แต่ผมมีข้อสังเกตดังนี้


1. วิกฤตที่แท้ต้องคาดการณ์ล่วงหน้าไม่ได้

จะเกิดก็ต้องเกิดเลย ก่อนหน้าที่จะเกิดขึ้น คนเกินครึ่งไม่เชื่อหรือไม่รับรู้ถึงมหันตภัยที่กำลังจะมา 

  • ก่อนหน้าวิกฤตต้มยำกุ้ง 2540 คนไทยส่วนใหญ่ก็ไม่เชื่อว่าจะเกิดวิกฤต ไม่อย่างนั้นจะกล้ากู้เงินต่างประเทศกันมากมายขนาดนั้นเชียวหรือ 
  • ก่อนหน้าวิกฤต Subprime 2551 คนอเมริกันส่วนใหญ่ก็ไม่เชื่อว่าจะเกิดวิกฤต ไม่อย่างนั้นจะเกิดฟองสบู่อสังหาฯ และตราสารการเงินบางชนิด กันมากมายขนาดนั้นเชียวหรือ 
  • ก่อนหน้าวิกฤต Covid 2563 คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่เชื่อว่าจะเกิดวิกฤตโรคระบาดครั้งใหญ่ในรอบร้อยปี ที่ติดจากคนสู่คนได้ง่ายๆ ต้องปิดเมืองปิดประเทศ หุ้นจะลงหนักทั่วโลกขนาดนี้ 

 

2. วิกฤตเศรษฐกิจ...ไม่ได้เกิดขึ้นได้ง่ายๆ 

ผมคิดว่า นักลงทุนกำลังจำภาพของวิกฤตโควิดปี 2563 ที่ยังติดตาสดๆอยู่ ประกอบกับหุ้นเทคโนโลยีและสินทรัพย์ดิจิตอล คริปโตแอสเส็ทที่ปรับตัวลงแรงในปีนี้ ทำให้จินตนาการไปผสมกับเหตุการณ์ Dot Com Bubble ปี 2543 ก็เลยทำให้เมื่อมีความเสี่ยงอะไรก็ตามกับระบบเศรษฐกิจ ผู้คนก็คิดว่าจะเกิดวิกฤตใหญ่ไปหมด 

 

ราคาน้ำมันที่ลงกระทั่งติดลบเมื่อ 2 ปีที่แล้ว หรือการปิดเมืองปิดประเทศมาหลายครั้งหลายหน ก็ไม่ได้ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในระดับประเทศแทบล้มละลาย(แบบวิกฤตต้มยำกุ้ง หรือ Subprime)

 

การแก้ปัญหาเศรษฐกิจโดยรัฐบาลและธนาคารกลางในพ..นี้ มีเครื่องมือมากมายกว่ายุคสมัยต้มยำกุ้งที่ประเทศไทยต้องกู้ IMF แล้วถูกบังคับให้รัดเข็มขัดทั้งประเทศ และปล่อยให้ธุรกิจน้อยใหญ่ล้มละลายเป็นจำนวนมากๆ ไม่มีใครทำแบบนั้นอีกแล้ว วิกฤตโควิดที่ผ่านมาฉายภาพได้ชัดเจนที่สุด เศรษฐกิจสามารถทนแรงกระแทกได้ มากกว่าที่คนส่วนใหญ่คิดเอาไว้มาก

 

 

3. เศรษฐกิจฝืดเคือง ไม่เท่ากับ วิกฤตเศรษฐกิจ 

แม้ว่าช่วงนี้ดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น ในขณะที่การบริโภคในประเทศไทยยังไม่ฟื้นตัวจากภาวะโควิดปิดเมือง แต่ข่าวดีคือประเทศไทยกำลังจะออกจากโควิดและทยอยเปิดเมืองเต็มรูปแบบภายในกลางปี 2565 นี้ แม้ว่าการบริโภคในประเทศและนักท่องเที่ยวจะยังไม่กลับมา แต่เศรษฐกิจขาลงแบบฝืดๆ ยังไม่พอที่จะพัฒนากลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจได้ การจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจได้ต้องเกิดจากนโยบายการเงินที่ผิดพลาด (ซึ่งเป็นต้นเหตุของวิกฤตต้มยำกุ้ง 2540 และ Subprime 2551) หรือต้องเกิดเหตุการณ์ Black Swan ระดับโรคระบาดในรอบร้อยปีอย่างโควิด-19

 

เศรษฐกิจฝืดเคืองเพราะสภาวะเงินเฟ้อและ Bond Yield ปรับสูงขึ้น ไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจได้


คำว่าเศรษฐกิจฝืดเคืองนั้นที่จริงก็ยังมีการเติบโตอยู่ เช่น เศรษฐกิจไทยในทุกวันนี้ก็ต้องนับว่าฝืดเคืองแต่ก็ยังมีการเติบโตอยู่ เมื่อเดือนมกราคม 2565 'เวิลด์แบงก์' เคยคาดการณ์ว่า GDPไทยจะขยายตัวได้ 3.9%

 

ต่อมาในเดือนเมษายน 2565 ก็ปรับลดตัวเลขคาดการณ์ GDP ไทยในปีนี้ลงเหลือ 2.9% สาเหตุสำคัญจากความเสี่ยงในต่างประเทศ โดยเฉพาะเหตุการณ์ในสงครามรัสเซียยูเครนที่ส่งผลต่อราคาพลังงานโลก การขึ้นดอกเบี้ยโดย FED และเศรษฐกิจที่อาจจะชะลอตัวในยุโรป 

 

เศรษฐกิจไทยที่ว่าจะฝืดเคืองนั้น ก็ยังมีการเติบโตอยู่  ไม่เหมือนกับวิกฤตเศรษฐกิจซึ่งเป็นการเติบโตแบบติดลบ ดังนั้น วิกฤตเศรษฐกิจใหญ่จะมาอีกจริงไหม? ... โดยส่วนตัวไม่เชื่อว่าจะมี และช่วงเวลาที่มีปัจจัยความไม่แน่นอนและราคาหุ้นปรับลดลง ก่อนที่จะมีการเปิดเมืองอย่างเต็มรูปแบบของไทยนั้น อาจจะเป็นโอกาสการลงทุนที่ดีก็ได้


เจ้าของหนังสือ Best Seller “ติวหุ้น รวยด้วยวีไอ” และยังเป็นวิทยากรคอร์ส “ลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐานแบบ Value/Growth Investor” ด้วยประสบการณ์ในตลาดทุนกว่า 17 ปี และประสบการณ์ในการเป็นติวเตอร์ บวกกับความเป็นคนอารมณ์ขัน  ทำให้คุณนิ้วโป้งสามารถถ่ายทอดเรื่องยาก อย่างการลงทุน ให้เข้าใจได้ง่าย และยังใช้ภาษา ลีลาที่มีเอกลักษณ์น่าสนใจอย่างยิ่ง จึงทำให้ได้รับเชิญไปบรรยายในงานต่างๆ มากมาย

Facebook

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง