#ลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐาน

สงครามเทเลคอมไทย ฉบับสามก๊ก เมื่อ ADVANC ต้องปะทะ TRUE + DTAC

โดย stock2morrow
เผยแพร่:
112 views

สถานภาพสามก๊กเทเลคอมของประเทศไทย นับได้ว่าเกิดขึ้นมาอย่างยาวนานร่วม 20 ปี

 

โดยมี ก๊กใหญ่เบอร์ 1 อย่าง บมจ.เอไอเอส ซึ่งกินส่วนแบ่งตลาดกว่าครึ่ง ทั้งในเชิงรายได้ค่าบริการ และในเชิงจำนวนลูกค้า (active user : 43.7 ล้านเลขหมาย)

 

ตามมาด้วยก๊กเบอร์ 2 ได้แก่ กลุ่มทรู (active user : 32 ล้านเลขหมาย)

 

และ ก๊กเบอร์ 3 กลุ่มดีแทค (active user : 19.3 ล้านเลขหมาย

 

ก๊กเบอร์ 2 และ 3 มีส่วนแบ่งทางการตลาดในเชิงจำนวนลูกค้า ถูกทิ้งห่างจากเบอร์ 1 ค่อนข้างมาก และยิ่งมองในเชิงการทำกำไรนับได้ว่าถูกทิ้งห่างหลายช่วงตัว ซึ่งขอไม่ลงรายละเอียดงบการเงิน ตรงนี้ แต่ในภาพใหญ่คือ 

  • เบอร์ 2 สร้างการเติบโตได้ก็จริง ... แต่ต้องใช้สรรพกำลังในการบุกสูงมาก โดยเฉพาะการเข้าประมูลคลื่นความถี่ที่ราคาแพงหลายต่อหลายครั้ง ความพยายามในการเติบโตจากการทุ่มเม็ดเงินขยายโครงข่ายแบบเต็มที่ และการอัดงบการตลาดแบบจัดเต็ม จึงทำให้ขาดทุนจากการดำเนินงานธุรกิจมือถือเรื่อยมา 
  • เบอร์ 3 แม้ยังมีกำไร .... แต่แลกมาด้วยการลดต้นทุนอย่างสุดขีด กระทั่งดูด้อยกว่าคู่แข่งในหลายมิติ ทำให้สูญเสีย ส่วนแบ่งทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง เชื่อหรือไม่ว่าเขาสูญเสียลูกค้าเกือบ 10 ล้านเลขหมายนับจากปลายปี 2014 เป็นต้นมา ซ้ำร้ายยังปฏิเสธการร่วมชิงชัยในศึกชิงคลื่นความถี่อยู่หลายครั้ง กระทั่งไม่มี 5G ที่พอจะสู้กับคู่แข่งได้แบบชัดเจน การขยายโครงข่ายที่ดูด้อยกว่าคู่แข่งมาหลายปี ออกอาการเหมือนนักมวยไม่ออกอาวุธ แต่กลับเน้นเดินถอยวน 

 

สรุปคือ เบอร์ 2 เก่งเรื่องขยายตลาด มีอนาคต แต่ไร้กำไร ...เบอร์ 3 เก่งเรื่องคุมค่าใช้จ่าย มีกำไร แต่ไร้ซึ่งการเติบโต  

 

สภาพการณ์เช่นนี้ ก๊กใหญ่เบอร์ 1 จะชอบมาก ผูกปีชนะเรื่อยมา ในขณะที่เบอร์ 2 และเบอร์ 3 จะเหนื่อยแทบรากเลือด เพราะกำลังลงแข่งในสงครามที่ไม่มีวันชนะ การแข่งขันจะวนลูปแบบเดิมๆ เช่น ออกแพคเกจใหม่ อัดงบการตลาด ขยายโครงข่าย ประมูลคลื่น ออกบริการใหม่ ฯลฯ

 

ซึ่งไม่ว่าพยายามทำอย่างไร ก็ไม่มีทางท้าทายเบอร์ 1 ได้เลย เพราะธุรกิจนี้ ขนาดของกิจการมีผลมาก การลงทุนโครงข่าย การอัดงบโฆษณา การทำพีอาร์ประชาสัมพันธ์ เพื่อลูกค้า 43 ล้านคน ย่อมคุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์กว่าการลงทุนเพื่อจำนวนลูกค้าเพียงครึ่งเดียวอย่างแน่แท้ 

 

ในระยะยาวแล้ว มีโอกาสสูง ที่อาจจะต้องมีก๊กหนึ่งยืนระยะไม่ไหว ขาดทุนเรื้อรังกระทั่งหมดแรง หรือ ส่วนแบ่งตลาดหดตัวจนไม่คุ้มค่าที่จะทำธุรกิจ จนต้องล่มสลายไปก่อน การแข่งขันในตลาดมือถือก็จะเหลือ 2 รายอยู่ดี เพราะธรรมชาติของธุรกิจผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ คำว่า Economy of Scale หรือ ความประหยัดจากขนาด สำคัญขั้นอุโฆษจริงๆ 

 

สิ่งนี้น่าจะเป็นที่มาของการตัดสินใจทางธุรกิจครั้งใหญ่ ที่ก๊กเบอร์ 2 และก๊กเบอร์ 3 จะใช้กลศึกสามก๊ก แบบที่ขงเบ้งเคยเสนอให้เล่าปี่ทำคือ "ตะวันออกร่วมซุนกวน เหนือปฏิเสธโจโฉหรือ ผูกมิตรซุนกวน ต่อต้านโจโฉ

 

ถ้าแปลในบริบทนี้คือ ก๊กรอง 2 ก๊ก ร่วมมือกันต้านก๊กใหญ่ จึงจำเป็นต้องเกิดขึ้น 

 

และแน่นอนว่า เมื่อรวมกันเสร็จ สงครามระหว่างสองก๊กใหญ่ ก็จะยังคงดำเนินต่อไป ยกระดับการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง แบบไม่มีใครยอมใครแน่นอน 

 

นับตั้งแต่กลุ่มทรู และกลุ่มดีแทค ได้ลงนาม MOU ในการศึกษาเข้าควบรวมกิจการกันเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2564 เพื่อเข้าสู่กระบวนการ due diligence โดยใช้เวลาประมาณสามเดือนในการศึกษาข้อมูลกิจการของกันและกันโดยละเอียด 

 

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 กลุ่มทรู และกลุ่มดีแทค ได้แจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเกี่ยวกับการควบบริษัทระหว่างบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จํากัด (มหาชน) และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่าอนุมัติการควบบริษัท จึงนำไปสู่การประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ในวันที่ 4 เมษายน 2565 ของทั้งสองบริษัท และผู้ถือหุ้นได้ลงมติอนุมัติการควบบริษัทของ กลุ่มทรู และกลุ่มดีแทค เข้าด้วยกัน 

 

เมื่อบริษัทโทรคมนาคม 2 บริษัทมาควบรวมกัน เพื่อสู้กับก๊กใหญ่เบอร์ 1 อย่าง บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS) ที่ครองบัลลังค์เบอร์ 1 มาอย่างยาวนาน การแข่งขันจะอัพเกรดไปสู่มิติใหม่ เพราะนี่จะเป็นครั้งแรก ที่เบอร์ 1 จะได้เจอกับคู่แข่งที่สูสีจริงๆ ไม่ใช่คู่แข่งที่อ่อนด้อยกว่าจำนวนสองรายอีกต่อไป  เพราะเบอร์ 2 และ เบอร์ 3 เมื่อรวมร่างกัน จะทำให้เกิดการรวมพลังหรือ  Synergy ขึ้นในหลายมิติ 

 

ในฐานะนักลงทุนหุ้นสื่อสาร เราควรทำความเข้าใจกับฉากทัศน์ หลังจากการควบรวม ว่าจะเกิดมูลค่าเพิ่มจากการ Synergy อะไรได้บ้าง เพื่อเป็นทางเลือกของนักลงทุน ว่าจะตัดสินใจอย่างไร และมีทางเลือกใดให้ตัดสินใจบ้าง   

 

เรามาทำความเข้าใจสิ่งที่บริษัทควบรวมจะเก่งขึ้นกว่าเดิม นำไปสู่ความสามารถในการช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาด ความประหยัดต่อขนาด และความได้เปรียบเชิงการแข่งขัน คือ 

 

1. จำนวนเสาสัญญาณโครงข่าย 

มีมากขึ้น ครอบคลุมทั่วประเทศมากขึ้น และแน่นอนว่าอาจจะมีเสาสัญญาณทับซ้อนกันในหลายพื้นที่ สามารถทำการ relocate ขยายเสาส่งสัญญาณไปยังพื้นที่ที่ยังอับสัญญาณได้อีกมาก 

 

2. คลื่นความถี่ 

อาวุธครบมือ ทั้งย่านต่ำ (700|850|900 MHz) ย่านกลาง (1800|2100|2300|2600 MHz) และ ย่านสูง (26 GHz)

 

3. เพิ่มส่วนแบ่งการตลาดทั้งเชิงลูกค้าและเชิงรายได้ทันที 

สิ่งนี้จะส่งผลให้บริษัทควบรวม มีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้น การอัดแคมเปญการตลาดแรงๆเพื่อลูกค้าจำนวนรวมเกือบ 50 ล้านราย ย่อมสามารถทำได้อย่างเต็มที่และคุ้มค่า เพราะเกิด economy of scale ในแบบเดียวกับที่เบอร์ 1 มีมาโดยตลอด 

 

4. การพัฒนา 5G ที่เปิดกว้าง 

การพัฒนา 5G ใช้ทั้งเงินลงทุน ความเชี่ยวชาญ และการประสานพลังสร้างโซลูชั่นให้แก่ลูกค้าองค์กร ซึ่งบริษัทควบรวมมีครบ และยังมีธุรกิจอินเทอร์เน็ตแบบมีสาย บริการดิจิตอล และกิจการโทรทัศน์อีกด้วย 

 

5. การประหยัดค่าใช้จ่ายแบบเป็นน้ำเป็นเนื้อ 

การรวมกันจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ทั้ง OPEX (ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงาน) และ CAPEX (ค่าใช้จ่ายงบลงทุน) ต้นทุนเดิมของทั้ง 2 บริษัทก่อนควบรวมสามารถทำการ Optimize ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้ โดยที่ให้ผลลัพธ์เท่าเดิมหรือดีกว่าเดิม 

 

ส่วนสำคัญสำหรับนักลงทุนที่ถือหุ้น TRUE หรือ DTAC ต่อจากนี้คือ หลังจากที่ผู้ถือหุ้นอนุมัติดีลควบกิจการไปแล้วเมื่อวันที่ 4 เม..65 ผู้ถือหุ้นจะต้องเตรียมตัดสินใจในอนาคต โดยมีทางเลือกคือ 

 

1) ขายหุ้นไปในตลาดฯ ที่ราคาที่ตนเองพอใจ เพื่อรับเงินสด 

2) ขายที่ราคาเทนเดอร์ ออฟเฟอร์ ทั้งนี้คาดว่าจะเปิดทำการเสนอซื้อหุ้น VTO (Voluntary Tender Offer) ภายในช่วง กค. ถึง ..65 ราคาเทนเดอร์ ออฟเฟอร์คือ TRUE 5.09 บาท และ DTAC ที่ 47.76 บาท 

3) เลือกถือหุ้นต่อโดย swap เป็นหุ้นใหม่ที่เกิดจากการควบรวม DTAC และ TRUE ในอนาคต อัตราการ Swap คือ TRUE 1 หุ้น แลกได้ 0.60018 หุ้นใหม่ และ DTAC 1 หุ้นแลกได้ 6.13444 หุ้นใหม่ 

 

ในขั้นตอนสุดท้าย ภายในเดือน ..65 จะมีการจัดประชุมผู้ถือหุ้นร่วม 2 บริษัท เพื่อจัดตั้งบริษัทใหม่ และหุ้นใหม่ที่เกิดจากการควบกิจการ เข้าซื้อขายใน SET ส่วน TRUE และ DTAC จะถูก delisted ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ 

 

นักลงทุนที่ถือหุ้น หรือ ซื้อขายหุ้นทั้งสองตัวนี้อยู่ ควรทำความเข้าใจ เงื่อนไขต่างๆ และเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของกิจการที่คาดว่ากำลังจะเกิดขึ้นในกรอบเวลา 4-5 เดือนนี้  


ศูนย์รวมความรู้เรื่องหุ้น ศูนย์รวมนักลงทุนรายย่อย ที่อยากรู้วิธีการลงทุนในหุ้นอย่างถูกต้องและได้กำไรอย่างยั่งยืน ติดตามเราได้ที่

www.stock2morrow.com 

FB: stock2morrow 

LINE@stock2morrow

FacebookInstagramYoutubeLine

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง