ราคาหมูพุ่งแรก ถือเป็นสัญญาณแรกของเงินเฟ้อในปี 2565 สามารถพุ่งสูงได้อีกมาก
ในมุมการลงทุนแล้ว ทำไมราคาหมูถึงพุ่งแรงมาก
แล้วถ้าราคาหมูแพง เนื้อที่ทดแทนอย่างไก่ จะเป็นปัจจัยบวกต่อหุ้นไก่ ได้หรือไม่
... อยากจะเล่าให้ฟังแบบนี้ครับ
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ราคาหมูอยู่ราวๆ 100-115 บาทต่อกิโลกรัม ถือเป็นระดับจุดสูงสุดใหม่ และมีแนวโน้มว่าจะปรับตัวขึ้นได้อีก จาก 5 ปัจจัย คือ
1. ต้นทุนของวัตถุดิบอาหารหมุเพิ่มสูงขึ้น เช่น
>>> ราคากากถั่วเหลือง พุ่งขึ้น 31%
>>> ราคาข้าวโพด พุ่งขึ้น 11%
ซึ่งทั้งสองอย่างเป็นอาหารที่ใช้เลี้ยงหมู และราคาพุ่งแรงมากในช่วงไตรมาส 4 ที่ผ่านมา
ดังนั้น เมื่ออาหารหมุแพง ต้นทุนหมูก็ย่อมแพงตามไปด้วยอยากหลีกเลี่ยงไม่ได้
2. กรมปศุสัตว์มีการทำมาตรการป้องกันโรคระบาดที่สูงขึ้นเพื่อให้ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ซึ่งการป้องกันถือเป็นต้นทุนอย่างหนึ่งของผู้เลี้ยง
... ว่ากันว่าทำให้ต้นทุนหมูเพิ่มขึ้น 400-500 บาทต่อตัว เท่ากับว่าผู้เลี้ยงจะต้องแบกรับเพิ่มอีกเฉลี่ยตัวละ 100 บาท
3. รู้หรือไม่ว่ามนุษย์เจอกับโควิด แต่หมูเองก็เจอกับโรคระบาดในสุกรอย่าง PRRS PED ทำให้แม่พันธุ์ตายไปราวๆ 40% จาก 1.1 ล้านตัว เหลือเพียง 6.6 แสนตัว
เมื่อหมูลดลง (Supply ลดลง) ในขณะที่ความต้องการซื้อเพิ่มขึ้นหรือเท่าเดิม ก็สามารถทำให้ราคาหมูพุ่งขึ้นสูงได้
4. ช่วงโควิดที่ผ่านมา มีเกษตรกรผู้เลี้ยงจำนวนมาก "ขาดทุน" ในช่วงโรคระบาด ทำให้หยุดการเลี้ยงหมูไป และจะกลับมาเลี้ยงใหม่ก็ต้องเริ่มต้นลงทุนใหม่ทั้งที่ผ่านวิกฤตได้ไม่นาน ทำให้ต้องกลับมานั่งคิดว่ามีความคุ้มค่ามากแค่ไหน และการเลี้ยงหมูใช้ระยะเวลาราวๆ 3-4 เดือน เท่ากับว่าปริมาณหมูที่จะเพิ่มขึ้นไม่น่าจะกลับมาพุ่งได้ในเร็ววัน
5. เกิด Pent Up Demand หรือความต้องการซื้อที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากผ่านสถานการณ์โควิด มีการคลายล๊อคดาวน์ เปิดโรงเรียน เปิดสถานที่ท่องเที่ยว ทำให้ความต้องการซื้อพุ่งขึ้นมาก สวนทางกับปริมาณหมูที่ลดลง
เมื่อ Supply น้อยกว่า Demand มาก ไม่แปลกใจที่ทำให้ราคาหมุพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว
ถึงแม้ว่าภาครัฐจะมาควบคุมดูแล เช่น การห้ามส่งออกเป็นเวลา 3 เดือน ก็อาจจะไม่ตอบโจทย์เท่าไรนัก เนื่องจากว่าเนื้อหมูขาดแคลนจำนวนมาก ย่อมไม่มีหมูส่งออกไปต่างประเทศได้อยู่แล้ว และราคาหมูในประเทศไทยราคาสูงกว่าต่างประเทศอยู่แล้ว ผู้เลี้ยงหรือผู้จัดจำหน่ายจึงไม่มีเหตุจูงใจที่จะต้องเร่งส่งออกไปต่างประเทศ
จากที่กล่าวมา เมื่อหมูขาดแคลน ย่อมส่งผลต่อราคาไก่ เป็ด และอาหารทะเลด้วยเช่นกัน
เช่น ราคาไก่ จากเมื่อปี 2561 ทรงตัวอยู่ราวๆ 30-33 บาท ต่อกิโลกรัม
เมื่อเกิดเหตุการณ์ราคาหมูแพง ทำให้ราคาไก่กระโดดขึ้นไปสูงถึง 42.2 บาท หรือคิดเป็นการพุ่งแรงถึง 20% และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
บทวิเคราะห์หลักทรัพย์หยวนต้า วิเคราะห์ว่า ราคาไก่จะทรงตัวอยู่ในระดับสูง เช่นเดียวกับราคาหมู จาก 3 ปัจจัย คือ
1. ไก่ เป็นเนื้อสัตว์ที่สามารถทดแทนเนื้อหมู ได้ในเชิงของการบริโภค เมื่อหมูขาดแคลน คนก็จะหันไปกินไก่มากขึ้น
2. ต้นทุนการเลี้ยงไก่ ต้นทุนคนงาน อาหารสัตว์พุ่งสูงขึ้น ราคาไก่ก็จะแพงขึ้นด้วยเหมือนกัน
3. เทศกาลตรุษจีนช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ที่จะมาขึ้น กระตุ้นให้คนมาบริโภคไก่ขึ้นอีกมาก
ฝ่ายวิจัยมองว่า ราคาไก่จะทรงตัวระดับสูงตลอดไตรมาส 1 ในปีนี้ และต้นทุนการเลี้ยงที่สูงขึ้น ไม่ได้มีการจูงในให้ผู้เลี้ยงกลับมาเลี้ยงเช่นเดียวกับผู้เลี้ยงหมู
ดังนั้น ในภาพของการลงทุนจะเป็นบวกต่อบริษัทผู้เลี้ยงไก่ เช่น TFG และ GFPT ได้ประโยชน์ทั้งจากราคาที่ปรับตัวขึ้น และปริมาณขายที่มากขึ้นเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม หลักเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นในตลาดเสรี เมื่อสิ่งใดที่ราคาสูงและขาดแคลน ย่อมจูงใจให้ผู้เล่นเข้าไปผลิตมากขึ้น ส่งผลให้ราคานั้นเข้าสู่จุดสมดุลอีกครั้ง ซึ่งเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นราวๆขึ้นปีหลังของปี 2565
นี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นเงินเฟ้อพุ่งในปี 2565 เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อเรื่องอื่นๆอีกมากครับ
เราอาจจะต้องจับตาดูกันต่อไป
-------------------------------
ขอบคุณแหล่งข้อมูล