เวลาเราลงทุนอะไรซักอย่างหนึ่ง เช่น หุ้น
เรามักจะคิดถึงเรื่อง กิจการ พื้นฐานของธุรกิจ มีโอกาสมากน้อยแค่ไหนที่มันจะเติบโต
หรือถ้าเราจะลงทุนในกองทุนรวม
เรามักจะไปดูว่า กองทุนนี้ที่ผ่านมาผลตอบแทนเป็นอย่างไร มีปันผลไหม ถืออะไรอยู่บ้าง
แต่ถ้าเราถอยออกมาจากสิ่งเหล่านั้นหนึ่งก้าว
และตั้งคำถามว่า การลงทุนนั้นเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ?
เช่น เรามักจะได้ยินคำโฆษณาว่า
- ลงทุนในกองทุนรวมนี้ ได้ผลตอบแทน 20%
- ลงทุนหุ้นตัวนี้ เติบโตปีละ 40% ราคาหุ้นจะขึ้น 10 เท่า 20 เท่า ในอีก 5 ปี
สิ่งแรกที่เราต้องคิด คือ มันพอจะเป็นไปได้ไหม ?
เช่นในกรณีแรกเรื่องของกองทุนรวม
... กองทุนรวมกองหนึ่ง ให้ผลตอบแทนโดดเด่นมาโดยตลอด เราอาจจะตั้งข้อสังเกตว่ากองทุนรวมนี้อาจจะลงทุนในสิ่งที่ "เสี่ยงมากเกินไป" เพื่อเร่งผลตอบแทนให้โดดเด่น
นั้นหมายความว่า ความเสี่ยงมากเกินไปก็อาจจะเป็น "หายนะ" ได้ในปีถัดไป
หุ้นโตปีละ 40% ก็พอมีความเป็นไปได้ แต่มักเกิดขึ้นไม่บ่อย
เพราะโดยหลักธุรกิจจะเติบโตระดับ 40% พอจะเป็นไปได้แต่ต้องอยู่ในธุรกิจที่เป็น "เมกะเทรนด์" และการเติบโตระดับ 40% นั้นมักจะอยู่ได้ไม่นาน
สิ่งเหล่านี้เราเรียกว่า สามัญสำนึกทางการลงทุน
คือการพิจารณาว่า การลงทุนนี้พอจะเป็นไปได้ไหม ?
หรือแม้แต่การเล่นแชร์ลูกโซ๋ (บ้านออมเงินทั้งหลาย) ฝากเงินตอนนี้นอนรอรับปันผลที่บ้านสบายๆ หรือลงหมื่นได้คืนแสนภายใน 1 เดือน
สิ่งเหล่านี้มันเป็นการลงทุนที่เป็นไปไม่ได้ อยู่แล้ว
เอาจริงๆคนส่วนใหญ่รู้อยู่แล้วว่ามันเป็นการโกง เรื่องหลอกลวง แต่อารมณ์เข้าครอบงำ
"ฉันจะออกก่อน วงแชร์จะล้ม"
"รีบเข้า รีบออก ... ฉันทำได้"
"เราคงไม่เป็นคนสุดท้ายของวงหรอก"
... สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอารมณ์เข้าครอบงำ มาตัดสินใจครั้งนั้นๆ สามัญสำนึกก็มักจะเลือนหายไป กลายเป็นความโลภเข้ามาแทนที่
>>> ความโลภ อยากได้ผลตอบแทนดี ๆ ง่ายๆ
>>> ความกลัว กลัวตกขบวน กลัวไม่ได้เหมือนคนอื่น (FOMO)
>>> ความอยากได้ อยากมี อยากได้เร็วๆ
นักลงทุนต้องคิดอยู่เสมอว่า ถ้าอะไรที่ดูเกินจริง ไม่มีความเสี่ยง ลงทุนแบบสบายๆนอนรอรับปันผลอยู่ที่บ้าน ส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นการลงทุนที่เป็นไปไม่ได้ อย่าให้อารมณ์มาอยู่เหนือเหตุผลครับ