ถ้านึกถึงร้านขายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ทุกคนน่าจะรู้จักร้านไอที ซิตี้ กันเป็นอย่างดี เพราะร้านนี้อยู่คู่กับคนไทยมานานถึง 24 ปีแล้ว
ด้วยจำนวนสาขาที่มีมากถึง 350 สาขา ครอบคลุมทั่วประเทศ เรียกได้ว่าไปที่ไหนก็เจอ ยิ่งใครที่ชอบไปห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ ต้องเคยเห็นร้านคอมพิวเตอร์ใหญ่ๆที่ติดป้าย IT City กันบ้าง
หากมองในมุมของลูกค้า ร้านไอที ซิตี้ ก็ได้ไม่แตกต่างจากร้านขายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ทั่วๆไป เพราะขายสินค้าไอทีเหมือนกัน การบริการก็น่าจะคล้ายๆกัน
แต่ถ้ามองในแง่ของนักลงทุนแล้ว IT หรือ บริษัท ไอที ซิตี้ จำกัด (มหาชน) ถูกเรียกได้ว่าเป็น “หุ้นเทิร์นอะราวด์” อย่างแท้จริง และที่สำคัญ บริษัทนี้ยังเติบโตยุคโควิดได้อีกด้วย
จากหุ้นที่แกว่งตัวอยู่ในกรอบมาประมาณเกือบ 8 ปี ไม่มีอะไรโดดเด่นเหนือไปกว่าหุ้นตัวอื่นๆ ที่ประกอบธุรกิจการค้าปลีกอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ด้วยกัน
แล้ว IT เจอจุดเปลี่ยนได้อย่างไร ?
อธิบายกันก่อนว่า “หุ้นเทิร์นอะราวด์” คืออะไร และต้องมีลักษณะแบบไหนถึงจะเรืยกว่า เทิร์นอะราวด์ ได้อย่างเต็มปาก
หลายคนบอกว่า หุ้นวัฎจักรเป็นหุ้นที่เล่นง่าย แค่รอให้ถึงรอบของมันแล้วซื้อ
แต่ตลาดหุ้นไม่แจกเงินใครง่ายๆขนาดนั้น เราไม่มีทางรู้เลยว่ารอบของมันจะมาเมื่อไหร่
หุ้นเทิร์นอะราวด์ นั้นถือว่าเป็นหุ้นที่เล่นยากพอสมควร บริษัทต้องเจอกับช่วงที่ยากลำบาก ทั้งปัจจัยพื้นฐาน และราคาหุ้นที่ลงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี
ในแง่ของพื้นฐานนั้น บริษัทต้องเจอปัญหากับผลประกอบการไม่เป็นใจ เจอผลขาดทุนแทบจะทุกไตรมาส บริษัทไม่มีสตอรี่ หรือเรื่องราวที่น่าสนใจให้เข้าไปลงทุนเท่าไหร่นัก
ส่วนเรื่องราคาหุ้น ก็มีแต่จะดิ่งลงเรื่อยๆ ปริมาณการซื้อขายน้อยมาก ไม่มีคนสนใจมาซื้อ ส่วนคนที่ถือหุ้นอยู่ก็อยากขายใจจะขาด เพราะราคาไม่ยอมไปไหนสักที ชอบ Sideway อยู่ในกรอบแคบๆ พอขึ้นได้หน่อยก็ถูกตบลงมาอีก
หากใครที่อยู่ในตลาดหุ้นมานาน จะรู้ว่า หุ้น IT นั้นซึมลงต่อเนื่องมาตลอดต้ังแต่ปี 2556 เป็นต้นมา
คงไม่มีใครคาดคิดว่า หุ้นที่แทบจะไม่มีการเคลื่อนไหวมาเป็นเวลานานอย่าง IT จะสามารถกลับมาเทิร์นอะราวด์ได้สำเร็จ ในยุคที่เราต้องเจอไวรัสโควิด-19 ถึง 2 สายพันธุ์ในปีเดียว
อะไรคือจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ?
ย้อนกลับไปปี 2559 ต้องยอมรับว่าช่วงเวลานั้น เป็นช่วงเวลาที่ตลาดสมาร์ทโฟนเติบโตเอามากๆ
เมื่ออุปกรณ์พวกสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ตนั้น สามารถทำอะไรได้หลายๆอย่างเหมือนคอมพิวเตอร์ แถมยังสามารถพกพาไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวก นี่จึงเป็นแต้มต่อที่ทำให้คนหันมาเลือกใช้สมาร์ทโฟนกันมากขึ้น
รายได้หลักของ IT ส่วนใหญ่ คือ สินค้าคอมพิวเตอร์ แต่เมื่อความต้องการสินค้าจำพวก PC หรือ Notebook น้อยลง ส่งผลให้รายได้จากการขายของบริษัทลดลงตามไปด้วย
ปี 2560
บริษัทจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ธุรกิจใหม่ ด้วยการเน้นการขายสินค้าของตลาดสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตมากขึ้น
รวมไปถึงสินค้าที่เกี่ยวข้องทางด้านไอที และโทรศัพท์มือถือแบบครบวงจร ทำให้ IT กลายเป็นบริษัทค้าปลีกที่ไม่ได้แต่อุปกรณ์เฉพาะคอมพิวเตอร์อย่างเดียวอีกต่อไป
ปี 2561
เริ่มมีการแปลงในทางที่ดีขึ้น ผลประกอบการเติบโตขึ้นทั้งรายได้ และผลกำไรจากสินค้าที่หลากหลาย ทั้งคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ รวมไปถึงอุปกรณ์เสริมต่างๆ
บวกกับการมาของกระแส E-sports เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น การเล่นเกมกลายเป็นหนึ่งในเส้นทางสร้างอาชีพให้แก่คนรุ่นใหม่ IT เลยได้ประโยชน์จากกระแสตรงนี้ไปเต็มๆ
ปี 2562 - 2563
บริษัทเริ่มเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจที่เริ่มฝืดเคือง ส่งผลให้ยอดขายกลุ่มสินค้าไอที โดยเฉพาะกลุ่มอุปกรณ์ต่อพ่วงมีสัดส่วนที่ลดลง
อีกทั้งยังมีการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ IT City จำเป็นต้องปิดสาขาชั่วคราวไปหลายแห่ง แถมยังเจอพนักงานบริษัททุจริตผ่านระบบการรับชําาระเงินจากช่องทางการขายสินค้าออนไลน์ จึงทำให้ผลการดำเนินงานเมื่อปีที่แล้ว กลับมาขาดทุนอีกครั้ง
หากดูงบการเงินย้อนหลังจะออกมาเป็นแบบนี้
ปี 60 รายได้ 5,002 ล้านบาท กำไร 63.3 ล้านบาท
ปี 61 รายได้ 5,104 ล้านบาท กำไร 13.9 ล้านบาท
ปี 62 รายได้ 5,354 ล้านบาท กำไร 24.4 ล้านบาท
ปี 63 รายได้ 7,007 ล้านบาท ขาดทุน 41.1 ล้านบาท
จะเห็นว่าผลกำไรสุทธินั้นอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงตามปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาพเศรษฐกิจ หรือการแข่งขันในอุตสาหกรรมสินค้าไอทีที่มีความรุนแรง แต่หากเราดูที่รายได้ของ IT นั้น จะเห็นว่าเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ปี 64 จุดเทิร์นอะราวด์
ปีนี้ ถือเป็นปีที่ผลประกอบการของ IT ก้าวกระโดดอย่างแท้จริง ผลการดำเนินงานรวม 9 เดือนแรกของปี 64 บริษัทมีกำไรสุทธิ 136.73 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 871.09% จากปีก่อน
โดยเฉพาะงบ Q3/64 ออกมาเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยมีกำไรสุทธิ 47.51 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 306.42% จากงวดเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นผลจากกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น ขณะที่ค่าใช้จ่ายนั้นลดลง
นอกจากนี้ IT มีการมองหาโอกาสการลงทุนอื่นๆ เพิ่มเติมอีกด้วย ในขณะเดียวกัน ด้วยพฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทำให้บริษัทให้ความสนใจในการขยายช่องทางการขายผ่านออนไลน์เพิ่มมากขึ้น
เราจึงได้เห็นร้านไอที ซิตี้ มีหน้าร้านตั้งอยู่บนแพลตฟอร์มซื้อสินค้าออนไลน์ดังๆ อย่าง Lazada , Shopee รวมไปถึง JD central ด้วยนั่นเอง
เมื่อพื้นฐานการเงินออกมาดี ราคาหุ้นก็สะท้อนตามมา จากเดิมที่ราคาหุ้น IT แกว่งตัวในอยู่ในกรอบแคบๆมาตลอด ก็ค่อยๆเริ่มทะยานขึ้นไป จนสามารถทำราคาสูงสุดเป็นประวัติกาล หรือ All Time High ได้สำเร็จ ในราคา 18.3 บาท
ซึ่งราคา ATH ของเก่าที่ทำไว้คือ 12.6 บาท ซึ่งต้องย้อนกลับไปปี 2011 หรือเมื่อ 10 ปีที่แล้วโน่นเลย
เมื่อบริษัทมีผลประกอบการที่ดี ราคาหุ้นก็โดดเด่น มี Story รองรับ เป้าหมายในปีหน้าก็มีความชัดเจน
โดยในปี 2565 บริษัทตั้งเป้าการขยายสาขาเพิ่มอีก 43 สาขา รวมถึงวางแผนเพิ่มจำนวนสาขาที่เป็นแบบ Pop-up หรือ Booth ที่ตั้งอยู่นอกศูนย์การค้าอีกราว 30 สาขาอีกด้วย เพราะมองว่าจะ รูปแบบสาขาดังกล่าวจะเข้ามาช่วยกระจายความเสี่ยงจากการปิดสาขาในศูนย์การค้า แบบช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 ระบาดรุนแรงที่ผ่านมา
เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในหุ้นที่นักลงทุน สามารถเรียกว่าเป็น “หุ้นเทิร์นอะราวด์” ได้อย่างเต็มปาก เพราะมีปัจจัยตามที่บอกไว้ข้างต้นครบหมด
ซึ่งในอนาคตราคาหุ้น IT จะบินสูงได้อีกไกลเท่าไหร่ เป็นเรื่องน่าสนใจที่เราจะต้องตามกันต่อไปครับ...
.
.
แหล่งอ้างอิง
รายงานประจำปี 2559
รายงานประจำปี 2560
รายงานประจำปี 2561
รายงานประจำปี 2562
รายงานประจำปี 2563
SET.or.th
RYT9
ข่าวหุ้น