ดูเหมือนว่าเรื่องของการเก็บภาษีในตลาดหุ้นไทยจะกลับมาทำให้นักลงทุน "กังวลใจ" กันอีกแล้ว โดยตามแหล่งข่าวกว่าว่า กระทรวงการคลังอาจพิจารณากลับมาเก็บภาษีรายรับจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ อัตรา 0.1% สําหรับนักลงทุนที่มูลค่าการซื้อขายเกิน 1 ล้านบาทต่อเดือน
แต่เราต้องเข้าใจก่อนว่าปกติไทยมีการจัดเก็บภาษีรายรับจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ ในอัตรา 0.1% อยู่แล้วตามกฎหมาย แต่ภาษีดังกล่าวได้รับการยกเว้นมาตั้งแต่ปี 2534–ปัจจุบัน ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าภาครัฐจึงสามารถพิจารณากลับมาจัดเก็บภาษีได้ หากต้องการเก็บภาษีเพิ่มเติม
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีสรรพากรกล่าวว่า กระทรวงการคลังมีแผนเรียกเก็บภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ (Financial Transaction Tax) หรือ ภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นเรื่องจริง ซึ่งภาษีดังกล่าวได้รับการยกเว้นมากกว่า 30 ปีแล้ว
ขณะนี้กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างการพิจารณาการเรียกเก็บภาษีดังกล่าว โดยจะพิจารณาหลายปัจจัยประกอบ โดยเฉพาะเงื่อนไขเวลาที่เหมาะสม
... อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า การเรียกเก็บภาษีดังกล่าวนั้น ประชาชน 85% หรือ นักลงทุนรายย่อยจะไม่ได้รับผลกระทบแน่นอน
สำหรับการศึกษาการเรียกเก็บแบบ Financial Transaction Tax นั้น ประกอบด้วย 3 โมเดล
1.การขายหุ้นในตลาดฯ 1 ล้านบาทต่อเดือน
2.การขายหุ้นในตลาดฯ ตั้งแต่ 2 ล้านบาทต่อเดือน
3.การขายหุ้นในตลาดตั้งแต่ 2 ล้านบาทต่อเดือนขึ้นไป
... โดยในตรากฎหมายเดิมนั้นกำหนดไว้ว่าการขายหุ้นในตลาดฯ 1 ล้านบาทขึ้นไปจะต้องเสียภาษีในอัตรา 0.1% ของมูลค่าขาย แต่ปัจจุบันยังได้รับการยกเว้น
"ปัจจุบัน กรมสรรพากร ได้ศึกษาภาษีทั้ง 2 ส่วน คือ ภาษีกำไรจากการขายหลักทรัพย์ (capital gain) ซึ่งหากจะเรียกเก็บจากส่วนนี้จะต้องตรากฎหมายขึ้นมาใหม่ หรือแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติม
แต่สำหรับ Financial Transaction Tax นั้นมีประมวลรัษฎากรกฎหมายภาษีของกรมสรรพากรอยู่แล้ว แต่ได้รับการยกเว้นมาตั้งแต่ปี 34 ซึ่งการหยิบยกกฎหมายนี้ขึ้นมาก็เป็นไปตามแผนการปฏิรูปภาษี
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าจะทำเวลาที่เหมาะสม และให้กระทบกับนักลงทุนประชาชนน้อยที่สุด ซึ่งปัจุบันหลายประเทศมีการเรียกเก็บทั้ง 2 ส่วน หรือบางประเทศก็เรียกเก็บเพียงอย่างเดียว"นายเอกนิติ กล่าว
ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) แสดงความคิดเห็นว่า "ไม่เห็นด้วย" กับการเก็บภาษีธุรกรรมขายหุ้น เพราะตลาดหุ้นไทยยังต้องพัฒนาอีกมาก ทั้งเรื่องของการระดมทุน ต่อยอดของบริษัท การเรียกเก็บภาษีในจังหวะนี้ไม่ค่อยเหมาะสมนัก และจะทำให้การพัฒนาตลาดทุนไทยทำได้ลำบากขึ้น
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุน VI ชื่อดัง วิเคราะห์ว่า ตอนนี้ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมที่จะเรียกเก็บภาษีขายหุ้น เพราะสภาวการณ์ในปัจจุบันของตลาดหุ้นไทยค่อนข้างเปราะบาง และสภาพคล่องในตลาดต้องอาศัยนักลงทุนรายใหญ่และนักลงทุนต่างชาติ ถ้ามีการเรียกเก็บภาษีจริงจะกระทบกับสภาพคล่องในท้ายที่สุด
... รวมถึง ผู้ที่จะเข้ามาระดมทุนผ่านตลาดหุ้นไทยก็เสียโอกาสได้รับเงินระดมทุนตามไปด้วย
บทวิจัยเอเชียพลัส มองว่า ประเด็นนี้ยังเป็นแค่แนวคิด ต้องรอการประกาศใช้จริงอย่างเป็นทางการซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้
ทั้งนี้ ถ้าจะให้วิเคราะห์ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น จะเกิดขึ้น 4 ประเด็นด้วยกัน คือ
1. ด้วยวอลุ่มการซื้อขายหุ้นไทยในปัจจุบัน รายได้รัฐจะเพิ่มปีละประมาณ 1- 2 หมื่นล้านบาท
2. ขีดความสามารถในการแข่งขันตลาดหุ้นโลกลดลง เพราะต้นทุนการซื้อขายเพิ่มสูงขึ้น เม็ดเงินจากต่างชาติลดลงโดยเฉพาะนักลงทุน นักเก็งกำไรสถาบันขนาดใหญ่
3. กดดันให้มูลค่าซื้อขายลดน้อยลง เมื่อมูลค่าซื้อขายน้อยลง การเรียกเก็บภาษีก็จะลดน้อยลงไปด้วย
4. ถ้ากฏหมายมีการประกาศใช้จริง จะกระทบต่อตลาดหุ้นพอสมควร โดยถ้าดูจากข้อมูลย้อนหลังในวันที่ 7 กรกฏาคม 2564 ตลาดหุ้นไทยมีข่าวประเด็นนี้ส่งผลให้หุ้นไทย -50 จุด หรือกว่า 3% ภายในระยะเวลา 2 วัน
ถือเป็นประเด็นที่นักลงทุนมองข้ามไม่ได้เลย เพราะถ้ามีการบังคับใช้จริงอาจจะเกิดแรงขายขึ้นได้
--------------------
ขอบคุณแหล่งข้อมูล
บทวิเคราะห์หลักทรัพย์เอเชียพลัส
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
THE STANDARD WEALTH