สาระสำคัญ
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เทศกาลปีใหม่ 2565 จะกลับมาคึกคักกว่าปี 2564 จากฐานต่ำง
- คาดว่าเงินสะพัดมากถึง 3.05 หมื่นล้านบาท (เพิ่มขึ้น 7% YoY) ในช่วงปิดปีใหม่ ซึ่งโตได้น้อยกว่าความเป็นจริงเนื่องจากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ค่าครองชีพสูงขึ้น คนประหยัดมากขึ้น
- ภาครัฐเปิดประเทศมากขึ้น ทำให้การท่องเที่ยวของไทยเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ดีทั้งปี 2565
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เทศกาลปีใหม่ 2565 น่าจะให้ภาพบรรยากาศที่กลับมาคึกคักมากขึ้นกว่าปีก่อน จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และการเข้าถึงวัคซีนที่ดีขึ้น ประกอบกับมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อของภาครัฐ และการเร่งจัดแคมเปญส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการในช่วงเทศกาล อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ Omicron ที่อาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการใช้จ่ายช่วงปีใหม่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงยังมีมุมมองที่ระมัดระวังว่าเม็ดเงินการใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ปี ’65 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 30,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.0% (YoY) จากฐานที่ต่ำในช่วงปีใหม่ปีที่แล้ว
ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาวะเงินเฟ้อที่ส่งผลให้ราคาสินค้าและค่าครองชีพสูงขึ้นด้วย (กรณีไม่มีการระบาดรุนแรงเพิ่มเติม) โดยเฉพาะการเลี้ยงสังสรรค์และช้อปปิ้งซื้อสินค้าที่น่าจะกลับมาขยายตัวได้จากการใช้จ่ายที่ซบเซาในปีก่อน
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยท้าทายที่สำคัญซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเพิ่มยอดขายของธุรกิจในช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยเฉพาะกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ท่ามกลางภาวะค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับการแข่งขันของธุรกิจที่เข้มข้นขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวเพื่อกระตุ้นยอดขายในช่วงเทศกาล โดยเฉพาะการเร่งจัดแคมเปญโปรโมชั่นด้านราคา รวมไปถึงการวางแผนบริหารต้นทุนและเพิ่มสภาพคล่อง เพื่อให้ธุรกิจยังสามารถดำเนินต่อไปได้ในระยะนี้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า หลังจากภาครัฐมีมาตรการผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ตามสัญญาณบวกจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และการเข้าถึงวัคซีนได้มากขึ้น รวมถึงนโยบายเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยและการออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านของคนกรุงเทพฯ ให้กลับมาคึกคักมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่ซึ่งคาดว่าการใช้จ่ายของคนกรุงเทพช่วงปลายปี 2564 ต่อเนื่องถึงปีใหม่ 2565 จะดีขึ้นกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าที่เกิดการระบาดหนักในจังหวัดสมุทรสาครและกระจายไปสู่พื้นที่อื่นๆ ทำให้มีการยกระดับมาตรการป้องกันที่เข้มงวด งดจัดกิจกรรมเฉลิมฉลอง ดังนั้นภาพรวมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 จึงซบเซากว่าปกติ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เม็ดเงินใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 รวมน่าจะอยู่ที่ประมาณ 30,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.0% (YoY) (กรณีไม่มีการระบาดรุนแรงเพิ่มเติม) จากปีก่อนหน้าที่ภาพรวมการใช้จ่ายช่วงปีใหม่ที่หดตัวประมาณ 4.4% (YoY) ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาวะเงินเฟ้อที่ส่งผลให้ราคาสินค้าและค่าครองชีพสูงขึ้นด้วย โดยในช่วงปีใหม่ปี ’65 นี้ คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เลือกออกไปใช้จ่ายนอกบ้านมากขึ้นตามการผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
ประกอบกับมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐและการเร่งทำแคมเปญกระตุ้นยอดขาย ลดราคาสินค้าในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีอย่างต่อเนื่อง แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังระมัดระวังการใช้จ่าย เนื่องจากยังมีความกังวลเรื่องความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่อย่าง Omicron ซึ่งจะส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภค
อย่างไรก็ตามคนกรุงเทพฯ มีแนวโน้มจะใช้จ่ายช่วงปีใหม่ปี ’65 และออกไปเลี้ยงสังสรรค์นอกบ้านมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ส่วนการช้อปปิ้ง ซื้อสินค้าส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มสินค้าจำเป็น
การผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีผลให้ประชาชนเลือกไปสังสรรค์ ทานอาหารนอกบ้าน เนื่องจากมีความสะดวกในการเดินทางมากขึ้น โดยผู้ตอบแบบสำรวจกว่าร้อยละ 60 ของกลุ่มตัวอย่าง มีแผนจะสังสรรค์ที่ร้านอาหารในช่วงปลายปี ซึ่งมาตรการดูแลความสะอาดของร้านและการเข้ารับวัคซีนของพนักงานที่ให้บริการเป็นปัจจัยหลักในการเลือกใช้บริการ ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสำหรับการเลี้ยงสังสรรค์ ค่าอาหารและเครื่องดื่มปรับเพิ่มขึ้นจาก 2,000 บาทต่อคนในปีที่แล้ว เป็น 3,000 บาทต่อคน ซึ่งสอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากปีที่แล้วที่ส่วนใหญ่จะเลือกซื้อวัตถุดิบมาปรุงเองหรือสั่งซื้ออาหารมารับประทานที่บ้าน ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายเลี้ยงสังสรรค์ รับประทานอาหารโดยรวมขยายตัวได้จากฐานที่ต่ำในปีก่อน
สำหรับการใช้จ่ายซื้อสินค้าและของขวัญในช่วงส่งท้ายปี 2564 น่าจะฟื้นตัวจากภาวะหดตัวในปีก่อนที่ประชาชนปรับลดงบประมาณการช้อปปิ้ง โดยค่าใช้จ่ายช้อปปิ้งซื้อสินค้าภาพรวมในปีนี้ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลหลักจากการขยายเวลาเปิดร้านค้าและห้างสรรพสินค้า ประกอบกับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการเร่งจัดแคมเปญการตลาด โปรโมชั่นลดราคาอย่างต่อเนื่องของภาคธุรกิจ
ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจที่ผู้ตอบแบบสำรวจร้อยละ 70 ของกลุ่มตัวอย่าง มีแผนจะซื้อสินค้าด้วยงบประมาณเท่าเดิมหรือมากกว่าปีก่อน และมากกว่าร้อยละ 20 คิดว่าจะใช้จ่ายมากขึ้น หากภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายเพิ่มเติมอีกในช่วงที่เหลือของปีจนถึงต้นปี 2565 แต่ประชาชนยังระมัดระวังการใช้จ่ายส่งผลให้สัดส่วนค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มสินค้าจำเป็น อาทิ สินค้าอุปโภคบริโภค ของใช้จำเป็น และอาหารเครื่องดื่ม รองลงมาเป็น
กลุ่มสินค้าเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายใหม่สำหรับเทศกาลปีใหม่ ในขณะที่กลุ่มกระเช้าของขวัญก็มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากแคมเปญส่งเสริมการขาย เช่น การจัดผ่อนชำระดอกเบี้ย 0% รวมไปถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่ดีขึ้นทำให้มีการเดินทางไปเยี่ยมครอบครัวหรือจัดงานเลี้ยงปีใหม่มากขึ้น ในส่วนของช่องทางการซื้อสินค้า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้ง E-marketplace Social Commerce และ Brand Website เนื่องจากมีโปรโมชั่นส่วนลดบ่อยครั้งและมีความสะดวกในการจัดส่งถึงบ้าน แต่ผู้ตอบแบบสำรวจมากกว่า 1 ใน 3 มีแผนที่จะไปเลือกซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าและ Hypermarket เพื่อทำกิจกรรมนอกบ้านด้วยในคราวเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์โควิด-19 ที่ดีขึ้นจะหนุนการใช้จ่ายเทศกาลปีใหม่ 2565 แต่ธุรกิจยังมีความท้าทายด้านกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ท่ามกลางภาวะค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น และการแข่งขันที่เข้มข้นของธุรกิจ ดังนั้นผู้ประกอบการยังต้องเน้นการจัดแคมเปญส่งเสริมการขายและโปรโมชั่นลดราคาเพื่อกระตุ้นยอดขาย ควบคู่ไปกับการวางแผนชะลอค่าใช้จ่ายและการลงทุนออกไปก่อน และเน้นเพิ่มสภาพคล่อง เช่น การขายวอยเชอร์ล่วงหน้า การจัดชุดสินค้าราคาพิเศษ เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินการต่อไปได้ในระยะนี้
อ่านรายงานฉบับเต็มพร้อมภาพประกอบได้ที่นี้ : https://portal.settrade.com/brokerpage/IPO/Research/upload/2000000427046/3291%20-%20p.pdf