เศรษฐกิจไทยไม่ดี ทำไมเราไม่ทำ QE ละ ?
คิดว่าแนวคิดนี้น่าจะอยู่ในความคิดใครหลายๆคน ...
เรามักจะได้ยินข่าวว่า ประเทศไทยการเติบโตต่ำ ฟื้นตัวได้ช้า การบริโภคมีแนวโน้มลดลง คนประหยัดมากขึ้นกำลังซื้อน้อยลง
แล้วทำไมเราไม่แก้ปัญหาแบบหลายๆประเทศ คือ "พิมพ์เงิน" แล้วอัดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ
QE หรือ Quantitative Easing คือนโยบายทางการเงินรูปแบบหนึ่งเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับระบบเศรษฐกิจ ก็คือการพิมพ์เงินนั่นเอง โดยส่วนใหญ่เวลาพิมพ์เงินออกมาเพื่อซื้อตราสารหนี้ภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้นี้คือหลักการ แต่ความเป็นจริงแล้วด้วยปริมาณเงินที่พิมพ์มหาศาลก็จะมุ่งสู้ตลาดหุ้นบ้าง สินค้าโภคภัณฑ์ ตราสารหนี้ แต่ไม่ใช่ว่าทุกประเทศจะทำได้เพราะการพิมพ์เงินมากๆจะเป็นการทำให้เงินเฟ้อ และสกุลนั้นๆในสายตาทั่วโลกด้อยค่าลง (เพราะปริมาณเงินมากขึ้น) ดังนั้นหลายๆประเทศพอพิมพ์เงินเสร็จก็ต้องหยุด เพื่อรักษาสภาพของค่าเงินเอาไว้
ข้อดีของการทำ QE คือ ต้นทุนทางการเงินลดลง ผู้คนมั่งคั่งมากขึ้น(เพราะเงินมากขึ้น) กระตุ้นเศรษฐกิจมหาศาล
... ดูตัวอย่างเช่นอเมริกาช่วงโควิด รัฐบาลพิมพ์เงินออกมาแจกประชาชน พอประชาชนได้เงินมากๆก็จ่ายมากขึ้น มีเงินเหลือเก็บก็เอามาเล่นหุ้น พอวิกฤตเริ่มเบาลง รัฐบาลแจกเงินน้อยลงคนเริ่มไม่พอใจ และไม่ยอมไปทำงานเพราะคิดว่าอยู่บ้านเฉยๆได้เงินมากกว่าออกไปทำงาน แต่อเมริกาก็ถือเป็นชาติแรกๆที่ฟื้นตัวได้เร็ว และหุ้นก็ขึ้นได้แรงมากด้วย
ข้อเสียของการทำ QE มีมากเหมือนกัน เช่น มูลค่าของเงินลดลง สินทรัพย์มีมูลค่าสูงขึ้นอาจจะไปแตะฟองสบู่ คนไม่ยอมออมเงินเพราะรัฐบาลพิมพ์เงินมาก เงินที่ออมก็ด้อยค่าลงทุกวัน เกิดเป็นปัญหาคนไม่ยอมออกไปทำงาน
นี้ก็เป็นข้อดี ข้อเสีย ถ้าประเทศไทยคิดจะทำ QE อาจจะต้องเจอกับปัญหาเหล่านี้
อย่างไรก็ตาม ทางแบงก์ชาติเคยแสดงความคิดเห็นว่า ประเทศไทยสามารถทำ QE ได้ แต่ไม่ตอบโจทย์และเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ด้วยเหตุผล 3 ข้อด้วยกัน คือ
1. ไทยเป็น bank-based economy คือ ภาคเอกชนเวลาลงทุนมักจะกู้แบงก์เป็นส่วนใหญ่ ทำให้ภาคเอกชนระดมทุนผ่านตลาดสารหนี้เพียง 10% เท่านั้น ถ้าแบงก์ชาติทำ QE ขึ้นมาเพื่อซื้อตราสารหนี้ก็จะได้ประโยชน์ในวงจำกัด
2. ต้นทุนการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ขณะนี้อยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว
3. โจทย์ปัจจุบันไม่ใช่สภาพคล่องโดยรวมไม่เพียงพอ แต่ปัญหาคือการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่หดตัวลงต่างหาก
ดังนั้นแบงก์ชาติมองว่า "มาตรการการเงินและสินเชื่อ" จะตอบโจทย์กับประเทศไทยมากกว่า ซึ่งต้องเร่งปรับปรุงมาตรการให้มีประสิทธิผลขึ้น โดยเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและลดภาระหนี้ เช่น มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ และมาตรการอื่น ๆ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เห็นผลในวงกว้างและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาว
สรุป ด้วยศักยภาพของไทยสามารถทำ QE ได้ แต่ถ้าทำแล้วอาจจะไม่ตอบโจทย์ของการแก้ปัญหา
เพราะปัญหาของประเทศไทย คือ ปัญหาการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนไม่เพียงพอ ทำให้เศรษฐกิจไม่หมุนเวียน
และถ้าประเทศมีการทำ QE จะยิ่งทำให้เกิดผลเสียมากกว่า เช่น มูลค่าของเงินลดลง เงินบาทไม่มีเสถียรภาพ มีการเก็งกำไรในสินทรัพย์ต่างๆสูงขึ้นจนทำให้เกิดฟองสบู่ได้
พูดง่ายๆคือ แก้ปัญหาไม่ตรงจุด นั่นเอง ...
-----------------------------
ขอบคุณแหล่งข้อมูล
https://www.prachachat.net/finance/news-731759
https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/articles/Pages/Article_27Jul2020.aspx
https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/articles/Pages/Article_27Oct2020.aspx
https://www.moneyandbanking.co.th/article/news/thailand-economic-qe-covid-040864
https://www.longtunman.com/31753
https://www.scbam.com/th/knowledge/fund-article/fund-article-21072016