เวลาเราอ่านหนังสือเกี่ยวกับแนวคิดทางด้านการเก็งกำไร กราฟหุ้นหรือเกี่ยวกับเทคนิเคิล มักจะมีคำพูดเสมอว่า อย่า "Over Trade"
คำว่า Over Trade หมายถึง อย่าซื้อขายมากเกินไป
จริงๆคำว่า Over Trade นอกจากจะแปลว่าซื้อขายมากเกินไปแล้ว ยังรวมถึงแนวคิดที่ว่า ใช้เงินจำนวนมากในการซื้อเพียงครั้งเดียว หรือที่บ้านเรามักจะเรียกว่า All In
ดังนั้นการ OverTrade จะแบ่งออกเป็น 2 ความหมายด้วยกันคือ
1. ซื้อๆขายๆ บ่อยมากเกินไป
2. เข้าซื้อหุ้น หรือเปิดสถานะด้วยเงินที่มากเกินไป "All In"
ในแง่จิตวิทยาแล้ว ทำไมเราถึงต้อง OverTrade ... ?
เพราะว่านักเก็งกำไรมี "ความรู้สึก" ที่อยากได้มากกว่านี้ อยากได้เร็วกว่านี้ ก็เลยเกิดความโลภ ซื้อตัวเดียวเต็มพอร์ต หรือใช้กราฟระยะสั้นจับจังหวะเข้าๆออกๆถี่จนเกินไป
เมื่อเราเข้าๆออกๆบ่อยครั้ง มันก็ทำให้เราผิดพลาดได้ เมื่อยิ่งพลาดเราก็ยิ่งขาดทุน พอเราขาดทุนก็อยากจะได้กลับมาเท่าเดิม ก็ยิ่ง Over Trade หนักเข้าไปอีก
... สุดท้ายก็พัง ขาดทุนและออกจากตลาดไปในที่สุด
คำถามต่อมา คือ ถ้าเรารู้ตัวและพยายามหลีกเลี่ยงการ Over Trade พอจะมีวิธีจัดการได้บ้างไหม ?
จริงๆการพูดเป็นเรื่องง่าย แต่การทำเป็นเรื่องยากมากกว่า แต่ก็พอมีคำแนะนำสั้นๆสำหรับผู้เริ่มต้น 2 ข้อแบบนี้ครับ
1. มองให้ยาวมากขึ้น ไม่เทรดบ่อยจนเกินไป
เราอาจจะใช้สัญญาณ Time Frame ให้ยาวขึ้น ใช้กราฟวันหรือสัปดาห์เพื่อดูแนวโน้ม มีแผนการเข้าออกที่ชัดเจน
ถ้าเรารู้สึกว่าเทรดแล้วขาดทุนบ่อยจนเกินไป ให้หยุดเทรด และหันไปทำกิจกรรมอย่างอื่น เมื่อเราจิตใจปลอดโปร่งแล้วค่อยมาวางแผนการใหม่ บางครั้งการที่เราอยู่เฉยๆเป็นกลยุทธ์ที่ดีอย่างหนึ่งเหมือนกันครับ
2. กระจายความเสี่ยง แบ่งสัดส่วนพอร์ตให้ถูกต้อง
ถ้ามองในภาพใหญ่ เราอาจจะเอาเงิน 80% มาลงทุนถือยาวรับเงินปันผล ส่วนอีก 20% มาเก็งกำไร
หรือบางคนอาจจะไม่ชอบการถือยาวรับปันผล ก็อาจจะมาบริหารเงินในการจัดการความเสี่ยงให้ถูกต้อง (Money Management ) เช่น การเทรดแต่ละครั้ง ขาดทุนไม่เกิน 5% ของพอร์ต หรือการเก็งกำไรแต่ะครั้งจะไม่ใช้เงินเกินกว่าครึ่งหนึ่งของพอร์ตทั้งหมดในการเก็งกำไร เป็นต้น
นี้ก็เป็นเรื่องของการ OverTrade ที่นักเก็งกำไรต้องเรียนรู้กันเอาไว้ครับ