#แนวคิดด้านการลงทุน

ข้อควรระวังในการดู Gross Margin

โดย stock2morrow
เผยแพร่:
690 views

ในบทความตอนที่แล้ว เราเข้าใจแล้วว่า Gross Margin คือ อัตรากำไรขั้่นต้น ... ตัวเลขนี้เราสามารถหาได้จาก


ยอดขาย - ต้นทุนขาย = กำไรขั้นต้น


ถ้าเราเอากำไรขั้นต้นมาเทียบสัดส่วนต่อ 100 จะอยู่ที่เท่าไร เราเรียกว่ากำไรขั้นต้น
หรือเราอาจจะตีความหมายง่ายๆว่า ถ้าเราขายของ 100 บาท เมื่อหักต้นทุนของสินค้าแล้วจะเหลือกำไรกี่บาท

 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม : ความสำคัญของ Gross Margin
 

นอกจากเราจะเข้าใจความหมายของ Gross Margin แล้ว เราจำเป็นจะต้องมี "ศิลปะ" ในการหยิบมาใช้ด้วยเหมือนกันครับ
นี้เป็น 3 ข้อต้องระวังในการดู Gross Margin มีอะไรบ้าง อยากจะแนะนำแบบนี้ครับ

1. การเทียบ Gross Margin ต้องเทียบในธุรกิจเดียวกัน หรือใกล้เคียงกัน
ข้อนี้สำคัญมาก เช่น ในธุรกิจค้าปลีก เราอาจะเทียบ TNP - บริษัท ธนพิริยะ จำกัด (มหาชน) กับ KK - บริษัท เคแอนด์เค ซุปเปอร์สโตร์ เซาท์เทิร์น จำกัด (มหาชน)
TNP มี Gross Margin ราวๆ 16-17%
ในขณะที่ KK มี Gross Margin ราวๆ 12-13% ... แบบนี้เราก็จะสรุปได้ว่า TNP ทำธุรกิจแล้วกำไรขั้นต้นสูงกว่า KK มีแนวโน้มที่น่าสนใจมากกว่า KK ... ถ้าธุรกิจในกลุ่มเดียวกันมี Gross Margin ที่ดีกว่าแสดงว่าบริษัทนั้นอาจจะควบคุมต้นทุนได้ดีกว่า มี Economy of Scale ที่ดีกว่า

หรืออย่างธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เทียบระหว่าง SPALI และ LH
SPALI มี Gross Margin ราวๆ 40%
LH มี Gross Margin ราวๆ 31%

จะเห็นได้ว่าธุรกิจค้าปลีกมี Gross Margin ต่ำกว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากว่าธรรมชาติของค้าปลีก คือ ซื้อมาขายไป มีสภาพคล่องสูงกว่า ในขณะที่อสังหาริมทรัพย์ต้องมีการลงทุน ใส่เงินเข้าไปจำนวนหนึ่ง และใช้เวลานานกว่าในการขายสินค้าออก จึงมี Gross Margin ที่สูงกว่านั้นเอง


2. บริษัทที่มี Gross Margin มากกว่า ไม่ได้หมายความว่าในบรรทัดสุดท้ายจะดีกว่าเสมอไป
บริษัทที่มี Gross Margin มากกว่าไม่ได้หมายความว่าจะได้กำไรเยอะ เพราะ Gross Margin ยังไม่ได้รวมค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ ดอกเบี้ยจ่าย และภาษี ก่อนจะมาเป็น "กำไรสุทธิ" เพื่อส่งต่อให้กับผู้ถือหุ้น

บางครั้งบริษัททีมี Gross Margin สูงๆ แต่พอหักมาเป็นกำไรสุทธิแล้วลดต่ำลงอย่างมาก อาจจะมีสาเหตุมาจากบริษัทไม่สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายของคน ต้นทุนการดำเนินงาน หรือมีหนี้สินที่มากเกินไปทำให้ดอกเบี้ยจ่ายแล้วแทบไม่เหลือให้ผู้ถือหุ้นเลย


3. ดู Gross Margin แล้ว อย่าลืมดู Asset Turnover ด้วย
Asset Turnover คือ อัตราหมุนเวียนสินทรัพย์รวม เป็นการเทียบระหว่างรายได้ (Sale) เทียบกับ สินทรัพย์ของบริษัท (Total Asset) สูตรในการคำนวน คือ
Asset Turnover  = Sale / Total Asset

** นักลงทุนอาจจะใช้ Average Total Asset หรือ สินทรัพย์เฉลี่ยของบริษัท ก็ได้ โดยเอาสินทรัพย์ตอนต้นปี ลบ สินทรัพย์ตอนปลายปี ได้เท่าไรแล้วเอามาหาร 2 ก็ไม่ผิดเหมือนกันครับ

โดย Asset Turnover บ่งบอกถึงประสิทธิภาพในการใช้สินทรัพย์ของบริษัทว่าสามารถนำไปสร้างรายได้ให้กับบริษัทได้ดีมากน้อยแค่ไหน
โดยทั่วไปยิ่งค่านี้สูงมากเท่าไร แสดงว่าบริษัทนำสินทรัพย์ไปสร้างรายได้ ได้ดีมากเท่านั้นครับ

 

ถ้าสมมุติว่าบริษัทค้าปลีก X มี Gross Margin ประมาณ 15% ใกล้เคียงกับบริษัท Y เราจะสรุปว่าทั้ง 2 บริษัทมีความสามารถใกล้เคียงกันก็อาจจะไม่ถูกซะทีเดียว เราจำเป็นจะต้องดู Asset Turnover เช่น ... บริษัท X มียอดขาย 1 ล้านบาท สินทรัพย์ 1 ล้านบาท เท่ากับว่ามี Asset Turnover เท่ากับ 1
... บริษัท Y มียอดขาย 1.2 ล้านบาท สินทรัพย์ 1 ล้านบาท เท่ากับว่ามี Asset Turnover เท่ากับ 1.2

บริษัท Y มี Asset Turnover สูงกว่าบริษัท X แสดงว่าบริษัท Y มีความสามารถในการนำสินทรัพย์ไปสร้างรายได้มากกว่า


การที่เราจะดูงบการเงินนั้น บางทีเป็นเรื่องของศิลปะในการตีความมากกว่าที่จะตีความแบบตรงไปตรงมาว่า บริษัทที่มี Gross Margin สูงๆเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งในความเป็นจริง บริษัทอาจจะมีเรื่องของดอกเบี้ยจ่าย ต้นทุนการดำเนินงานไม่ได้รวมมาด้วย พอคิดออกมาเป็นกำไรสุทธิแทบจะไม่ได้กำไรเลยก็มีให้เห็น หรือการเทียบแต่บริษัทที่มี Gross Margin สูงๆต้องไปธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เลย แต่เนื่องจากว่า Gross Margin ของบ้านสูงก็จริง แต่ Asset Turnover ต่ำ และมีความ "เซนซิทีฟ" ต่อภาพของเศรษฐกิจในประเทศมากกว่า ทำให้นักลงทุนมักให้มูลค่าไม่สูงมาก

ดังนั้น นอกจากจะดูงบการเงินแล้ว อย่าลืมเข้าใจ "ธรรมชาติ" ของธุรกิจนั้นๆด้วย ครับ


ศูนย์รวมความรู้เรื่องหุ้น ศูนย์รวมนักลงทุนรายย่อย ที่อยากรู้วิธีการลงทุนในหุ้นอย่างถูกต้องและได้กำไรอย่างยั่งยืน ติดตามเราได้ที่

www.stock2morrow.com 

FB: stock2morrow 

LINE@stock2morrow

FacebookInstagramYoutubeLine

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง