DCA หรือ Dollar Cost Average คือ กลยุทธ์การลงทุนแบบไม่จับหวะ ซื้อหุ้นด้วยจำนวนเงินที่เท่ากันทุกเดือน หุ้นลงก็ซื้อ หุ้นขึ้นก็ซื้อ คือซื้อไปเรื่อยๆ เหมือนออมหุ้นแบบสม่ำเสมอ
บางคนกำไร บางคนขาดทุน บางคนลังเลไม่แน่ใจว่าที่ DCA มานานหลายปีนั้นใช่จริงหรือเปล่า
วันนี้วิตามินหุ้นเลยอยากเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการ DCA ให้ฟังกัน เพื่อที่ว่าเราจะได้ถามตัวเองว่าเราลงทุนถูกต้องหรือเปล่า และจริงๆ แล้วเราเหมาะกับการลงทุนแนวนี้มั้ย การ DCA ที่ถูกที่ควรเป็นแบบไหน มาเริ่มกันเลยครับ
1. DCA ในหุ้นที่มี DCA
เริ่มข้อแรกก็งงแล้ว DCA ในความหมายแรก คือ ซื้อถัวเฉลี่ย แต่ DCA ในความหมายหลัง คือ Durable Competitive Advantage คือ เราจะมา DCA หุ้นอะไรก็ได้ ไม่ได้นะ เราต้องเลือกหุ้นที่มีความแข็งแกร่ง มีความได้เปรียบในการแข่งขัน เพราะว่าเราต้องซื้อไปเรื่อยๆ นานหลายปี ถ้าหุ้นไม่แข็งแกร่งหรือไม่เติบโต โอกาสที่ราคาหุ้นจะลงก็มีมาก แปลว่า เรายิ่งซื้อ เรายิ่งถัวขาลง ยิ่งนานวันยิ่งขาดทุน
เพราะฉะนั้น DCA ในหุ้นดีที่เติบโต ไม่ใช่หุ้นที่อิ่มตัว และเป็นขาลง ไม่จำกัดว่าต้องเป็นหุ้นใหญ่หรือหุ้นเล็ก ให้มองที่คุณภาพและความแข็งแกร่งเป็นที่ตั้ง
2. DCA ในหุ้นที่เป็นเพื่อนกับเวลา
เพราะ DCA คือ ความตั้งใจลงทุนในระยะเวลานานพอสมควร ให้นึกภาพว่า ถ้าเราหลับไปแล้วตื่นมาอีก 5 ปี 10 ปี ข้างหน้า หุ้นตัวไหน บริษัทไหนที่จะยังอยู่ มีคนใช้เต็มบ้านเต็มเมือง ไม่ใช่แค่ไม่ล้ม แต่ต้องเป็นที่นิยมและเติบโตด้วย
วิธีคิดง่ายๆ คือ ให้เรามองหา Mega Trend ในอนาคต อุตสาหกรรมไหนจะเติบโต หุ้นตัวไหนเป็นผู้นำ หรือดาวรุ่งที่จะได้ประโยชน์ ก็ควรลงทุน และในทางตรงกันข้าม ถ้าอุตสาหกรรมไหนที่เป็น Sunset หรือหุ้นตัวไหน เราจินตนาการได้ว่า ไม่น่ารอดแน่ๆ ในอีก 5-10 ปี ข้างหน้า มีโอกาสที่เราจะไม่ได้เห็นเขาอีก หุ้นแบบนี้ เราก็ไม่ควร DCA
3. DCA แบบกระจายความเสี่ยง 2 ระดับ
ถ้าเรามองว่า Aging Society คือ เทรนด์ที่จะเกิดในอนาคต เพราะผู้สูงอายุมากขึ้น ทำให้เราไปซื้อหุ้นโรงพยาบาล 5 ตัว ทั้งพอร์ต แบบนี้ก็ไม่ควรเพราะว่า ถ้ามีเหตุการณ์อะไรไม่คาดฝันขึ้นมาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมนี้ พอร์ตของเราก็อาจจะเสียหายได้ วิธีการกระจายความเสี่ยงที่แนะนำคือ
- เลือกอุตสาหกรรมที่เติบโตมาซัก 2-3 อย่าง เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงในภาพใหญ่ เช่น เราอาจจะมองว่า Heath Care, Technology, Non-Bank น่าจะเป็นธุรกิจที่เติบโต ก็คัดเลือกมาว่าจะลงทุน
- เลือกหุ้นผู้นำ เบอร์ 1 ของอุตสาหกรรม เพราะมีความแข็งแกร่ง และเลือกหุ้นดาวรุ่ง อีก 1-2 ตัว เพราะคือผู้ท้าชิงที่มาด้วยแนวคิดใหม่ที่อาจจะเป็นที่ชื่นชอบ มา disrupt และอาจกลายมาเป็นเจ้าตลาดในอนาคตได้
วิธีนี้คือ การกระจายความเสี่ยงโดยการลงทุนในหุ้นผู้นำและดาวรุ่ง ในหลากหลายอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตนั่นเอง
4. DCA ผิด ก็แค่เริ่ม DCA ใหม่
หลายคนติดกับดักเรื่องวินัยการ DCA คือ ทนซื้อทุกเดือนทั้งๆ ที่ก็เห็นอยู่ว่า หุ้นที่เราซื้ออนาคตนั้นไม่ดี ยิ่งซื้อหุ้นยิ่งลง แต่เราก็ไม่กล้าที่จะขายหุ้นทิ้ง เพราะไม่กล้ารับขาดทุนที่เห็นและไม่รู้ว่าขายแล้วจะทำยังไงต่อ แล้วก็ยึดมั่นว่าก็เรา DCA มาตลอดต้องทำต่อไป
สิ่งที่เราควรทำคือ ถ้าหุ้นตัวไหนไม่ดี อุตสาหกรรมไหนไม่โต หุ้นดาวรุ่งที่เลือกมากลายเป็นดาวร่วง ก็ตัดใจจบขายหุ้นตัวนั้นทิ้งเลย ตัวไหนดีให้เก็บไว้ แล้วมองหาหุ้นตัวใหม่ใส่เข้าพอร์ตแทน เริ่มทำ DCA กับหุ้นตัวใหม่แทน ไม่จำเป็นที่ว่า เราต้องซื้อหุ้นทุกตัวเท่ากัน พร้อมกัน ในเวลาเดียวกัน ถ้าผิดก็แค่เริ่มต้นใหม่ ไม่ใช่เสียดายเวลา
5. DCA วันไหนดี
จริงอยู่ที่เขาบอกว่า DCA วันไหนก็ได้ ขอแค่มีวินัยซื้อทุกเดือนอย่าได้ขาด ไม่ใช่เห็นหุ้นขึ้นไม่กล้าซื้อ รอให้ลงก่อนจะได้ราคาถูกหน่อย สุดท้ายจับจังหวะไปมา เลยไม่ได้ซื้อ เพราะฉะนั้นควรระบุวันซื้อให้แน่นอนในแต่ละเดือนจะได้ไม่ต้องเอาอารมณ์ หรือภาวะตลาดเข้ามาเกี่ยวข้อง ตั้งตัดเงินอัตโนมัติเลยก็ยิ่งดี แต่ถ้าจะให้แนะนำมี 4 วันที่ควรซื้อ คือ
- หลังวันเงินเดือนออก 1 วัน คือ พอได้เงินปุ๊บให้ซื้อหุ้นเลย จะได้ไม่เอาเงินไปใช้ซื้อของอย่างอื่น ทำให้เหมือนกับว่าเป็นค่าใช้จ่ายประจำอย่างหนึ่ง เป็นการออมก่อนใช้นั่นเอง
- วันเกิดเรา ถือว่าเป็นวันมงคล ยังไงเราก็จำได้ ซื้อวันนี้แหละดี
- วันศุกร์ เพราะโวลุ่มตลาดเบาบางกว่าวันอื่น สายเทรดบางคนไม่ห่อหุ้นข้ามวันหยุดกัน ราคาหุ้นอาจจะถูกกว่า ก็ซื้อวันนี้เลย
- วันหวยออก ถ้าเราซื้อล็อตเตอรี่อยู่แล้วก็แบ่งเงินมา DCA หุ้นวันเดียวกันเลย ประหยัดเงินไปในตัว เผลอๆ มีโชคลาภอีก
ถ้าใครกำลังลงทุนแบบ DCA อยู่ อยากให้ลองพิจารณากันดูครับว่า เรา DCA ผิดวิธีอยู่หรือเปล่า
อย่ามีวินัยแบบผิดๆ ในการซื้อหุ้นที่ไม่ดีไปเรื่อยๆ
แต่ต้องมีหลักการแบบถูกๆ และซื้อหุ้นที่เติบโตดีแบบสม่ำเสมอ
เพื่อที่จะทำให้พอร์ตของเราเติบโตแบบยั่งยืน