ดูเหมือนว่าสิ่งที่โลกเรากำลังเจออยู่นั้น คือ การกังวลทางด้าน "เงินเฟ้อ" อย่างรุนแรง หรือที่เราเรียกกันว่า HyperInflation ส่วนหนึ่งของเงินเฟ้อมาจาก 2 ส่วนด้วยกันหลักๆ คือ การพิมพ์เงินของ FED และราคาน้ำมันของโลกที่พุ่งสูงขึ้นส่งผลให้ค่าครองชีพ ต้นทุนทางพลังงานสูงขึ้นตามไปด้วยนั้นเอง
ในัวันที่ 2 - 3 พฤศจิกายนนี้ นักลงทุนทั่วโลกจับตามองกันว่าการประชุม FED ที่กำลังจะเกิดขึ้นจะมีการส่งสัญญาณปรับลด QE ด้วยหรือไม่
โดย วอลสตรีทคาดว่า FED น่าจะยังคงดำเนินนโยบายการเงินตามแผนที่ได้ส่งสัญญาณไว้ก่อนหน้าว่าเฟดจะเริ่มลดวงเงิน QE ภายในสิ้นปีนี้ และคาดว่าจะสิ้นสุดการลดวงเงิน QE ภายในกลางปี 2565
.... ซึ่งแปลว่าเฟดอาจทยอยลดวงเงิน QE เดือนละ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แบ่งออกเป็น
>> ลดการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเดือนละ 1.0 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากวงเงินปัจจุบันที่ 8.0 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน
>> ลดการเข้าซื้อหลักทรัพย์ mortgage-backed securities เดือนละ 0.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากวงเงินปัจจุบันที่ 4.0 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน
นั้นหมายความว่าจะส่งผลให้วงเงิน QE ทั้งหมดที่ 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือนในปัจจุบันหมดลงในช่วงกลางปีหน้าตามที่เฟดได้ส่งสัญญาณไว้
โดยสาเหตุหลักที่ FED พยายามปรับลด QE ประเด็นอยู่ที่ความกังวลทางด้านเงินเฟ้อที่รุนแรงและปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก และอาจจะลากยาวกกว่าที่เคย อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีปัจจัยทางด้านราคาน้ำมันและพลังงานที่เร่งตัวสูงขึ้นอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์คาดว่าการปรับลดวงเงิน QE ลง อาจจะเป็นการแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่ไม่ตรงจุด เนื่องจากแรงกดดันเงินเฟ้อส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยทางฝั่งอุปทานที่ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตนั้นสูงขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกร มองว่า การถอนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายผ่านการลดวงเงิน QE จะช่วยลดอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ (inflation expectation) และแรงกดดันเงินเฟ้อจากฝั่งอุปสงค์ ซึ่งจะช่วยหยุดยั้งวงจรเงินเฟ้อได้ในระดับหนึ่ง
... และยังส่งผลให้การขยายตัวเศรษฐกิจในอเมริกามีแนวโน้ม "ชะลอตัว" ลง
สิ่งที่เป็นปัญหาของ FED คือ การชั่งน้ำหนักความเสี่ยงทางด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจและด้านเงินเฟ้อในการพิจารณาจังหวะที่เหมาะสมในการปรับขึ้นดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า
โดยหากเฟดต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่ควรนอกจากจะสร้างความผันผวนมากขึ้นในตลาดเงินตลาดทุนแล้ว ยังอาจยิ่งบั่นทอนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในภาวะที่ยังมีความไม่แน่นอนเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่ได้หมดไป อีกทั้งยังไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาขีดจำกัดในฝั่งอุปทานซึ่งเป็นปัจจัยผลักดันเงินเฟ้อให้สูงขึ้น เนื่องจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้นและส่งผลให้ผู้ผลิตอาจเพิ่มกำลังการผลิตต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
ทั้งนี้ นักลงทุนยังคงต้องติดตามผลการประชุมว่าเฟดจะส่งสัญญาณอะไรเพิ่มเติมซึ่งหากเฟดส่งสัญญาณมุมมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ เผชิญความเสี่ยงเชิงลบสูงขึ้น อาจส่งผลให้ตลาดคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยชะลอออกไปจากที่เคยคาด ซึ่งจะส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ เผชิญแรงกดดันและมีแนวโน้มอ่อนค่าได้
ขณะที่หากเฟดส่งสัญญาณแสดงความกังวลต่อประเด็นเงินเฟ้อมากกว่าความเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อาจส่งผลให้ตลาดคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่เคยคาดซึ่งจะส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นได้ ซึ่งแนวโน้มค่าเงินบาทในระยะข้างหน้าคงผันผวนไปตามทิศทางค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และปัจจัยในประเทศ ซึ่งคงต้องติดตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังจากมีการเปิดประเทศ ท่ามกลางความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดที่ยังอยู่ในระดับสูง
โดยภาพรวมแล้ว นักลงทุนมองว่าการปรับลด QE ของ FED อาจจะส่งผลต่อความผันผวนต่อราคาสินทรัพย์ทั่วโลกระยะสั้น แต่ไม่อาจแก้ปัญหาเรื่องเงินเฟ้อที่รุนแรงได้อย่างแท้จริง เพราะปัญหาหลักคือ ต้นทุนราคาพลังงานที่จะทำให้สินค้าโภคภัณฑ์ หรือสินค้าอุปโภค บริโภค ปรับตัวสูงขึ้น ค่าครองชีพสูงขึ้นจนคนทั่วไปอาจจะแบกรับไม่ไหว
ยังต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดครับ ...
----------------------------------
ขอบคุณแหล่งข้อมูล