#ข่าวหุ้นธุรกิจการลงทุน

ไทยเราอาจจะเจอกับสภาวะ Stagflation

โดย stock2morrow
เผยแพร่:
177 views

จริงหรือไม่ที่ประเทศไทยอาจจะเจอกับ "ฝันร้าย" หลังวิกฤตโควิด คือ สภาวะ Stagflation  ...
อะไรคือ Stagflation

สภาวะ Stagflation คือ อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูง + คนว่างงานจำนวนมาก ภายใต้ที่การเติบโตของประเทศยังเติบโตช้า
... แต่ถ้าเอาตามคำนิยามจริงๆ จะหมายถึงภาวะเศรษฐกิจชะงักงันและเงินเฟ้อ เป็นคำที่เกิดจากการรวมตัวกันของคำว่า Stagnant ซึ่งหมายถึงเศรษฐกิจชะงักงัน และ Inflation ซึ่งหมายถึงเงินเฟ้อ หรือก็คือแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่เงินเฟ้อและการว่างงานเพิ่มขึ้นในขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจโดยทั่วไปช้านั้นเอง


ในอดีตโลกของเราเคยเกิด Stagflation มาก่อนในช่วงปี 2554-2555 การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มแผ่วลงจากที่เติบโต 2.7% ในปี 2553 เหลือเพียง 1.5% ในปี 2554 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นไปแตะ 4% ตามราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นสูงถึง 120 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ท่ามกลางการประท้วงโค่นล้มรัฐบาลหลายประเทศในตะวันออกกลาง ที่เรามักจะเรียกเหตุการณ์นั้นว่า Arab Spring
... ช่วงดังกล่าว ธนาคารกลางหลายประเทศเริ่มใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นเพื่อสกัดเงินเฟ้อ เช่น ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งขึ้นดอกเบี้ยถึง 2 ครั้งในปี 2554 ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจยุโรปในตอนนั้นจะชะลอตัวอย่างหนัก และมีความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ภาครัฐ ของประเทศในกลุ่ม PIIGS (โปรตุเกส อิตาลี ไอร์แลนด์ กรีซ สเปน) ร่วมด้วย

ในขณะที่ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) แม้จะยังคงนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย แต่ก็เริ่มมีการหารือถึงแผนการถอนมาตรการกระตุ้น (Exit Strategy) ในช่วงนั้นเช่นกัน
... จากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ท่ามกลางแรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น กดดันให้ธนาคารกลางจำต้องถอนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ นับเป็นส่วนผสมที่เลวร้ายสำหรับตลาดหุ้น และส่งผลให้ดัชนี S&P 500 ปรับฐานลงแรงถึงราว 20% ในช่วงครึ่งหลังของปี 2554
ในขณะที่ Earning Yield Gap (EYG) ได้พุ่งสูงขึ้นไปอยู่ระดับ 5 - 6% เพื่อสะท้อนความเสี่ยงจากทั้งเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นไปพร้อมๆ กัน


แล้วประเทศไทยหลังวิกฤตโควิดจะเกิดสภาวะ Stagflation ได้อย่างไร
ถ้าใครติดตามตัวเลขเศรษฐกิจจะเริ่มเห็นได้ว่าช่วงเดือนเมษายนปีนี้ เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นสูงถึง 3.41% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 8 ปี 4 เดือน สาเหตุหลักๆมาจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก อีกทั้งเป็นผลมาจากฐานที่ต่ำไปในปีก่อน
ด้วยเหตุการณ์นี้เองจะทำให้ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ สินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวสูงขึ้น เงินเฟ้อสูงขึ้น ค่าครองชีพสูงขึ้น ในขณะที่ประเทศไทยเจอกับการเติบโตที่ช้า การบริโภคลดลง และการเปิดประเทศที่ล่าช้าเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศอื่นๆ สถานการณ์ทั้งหมดจึงบ่งชี้ว่า ภาคอุตสาหกรรมของไทยบางกลุ่มกำลังเผชิญกับภาวะ Stagflation อยู่ในปัจจุบัน

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เกียรตินาคินภัทร แสดงความเห็นว่า
"น่าเป็นห่วงตรงที่ภาคอุตสาหกรรมของเราจะสามารถส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้บริโภคได้หรือไม่ เพราะตอนนี้ผู้ประกอบการหลายๆ รายเริ่มมีปัญหา โดยเฉพาะกลุ่มค้าเหล็กและทองแดง ซึ่งกลุ่มเหล่านี้กำลังเผชิญกับภาวะ Stangflation แต่ยังไม่ถึงขั้นทำให้เศรษฐกิจไทยโดยรวมๆ เผชิญภาวะดังกล่าว เพราะทั้งเหล็กและทองแดงมีน้ำหนักในตะกร้าเงินเฟ้อน้อยมาก"

พิพัฒน์กล่าวยอมรับว่า ในเชิงการทำนโยบาย ภาวะดังกล่าวถือเป็นโจทย์ยากต่อการแก้ไขปัญหา เพราะนโยบายการเงินคงไม่สามารถปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ เนื่องจากจะเป็นการซ้ำเติมความยากลำบากของผู้คนในยามที่เศรษฐกิจยังอ่อนแอ สิ่งที่ทำได้คือ ต้องเร่งให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก ดังนั้นทางเดียวที่ต้องทำคือ การเร่งเปิดประเทศให้เร็วที่สุด
... "ภาวะแบบนี้ถือเป็นโจทย์ที่แก้ยากสุดในเชิงนโยบาย วิธีแก้เดียวคือ ต้องทำให้เศรษฐกิจเราโตตามชาวบ้าน เพราะนี่คืออาการของเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวแต่เราไม่ฟื้น ก็เหมือนกับว่า คนอื่นเขาไปปาร์ตี้กันหมดแล้ว เหลือแต่เรายังนั่งเหงาอยู่กับบ้านคนเดียว"

สอดคล้องกับความเห็นของ นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต ซึ่งแสดงความเห็นว่า
... "มีความเป็นไปได้เช่นกันที่จะเกิดภาวะ Stagflation ในประเทศไทย"
โดยตัวเพิ่มเงินเฟ้อ คือ ราคาพลังงานและอาหารสด แต่ถ้าเป็นพวกค่าเช่าบ้าน ค่าเดินทาง พวกนี้ปรับตัวลดลงและดึงเงินเฟ้อไม่ให้พุ่งขึ้นแรงมาก ผลกระทบต่อตลาดเงินจึงเชื่อว่า ตลาดน่าจะแยกแยะออกได้ และทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรของไทยไม่ได้เร่งตัวเร็วเกินไป


ในอีกด้านหนึ่งเรื่องของเงินเฟ้อพุ่งแรงอาจจะเป็นเรื่อง "ชั่วคราว" ก็เป็นไปได้ ...
อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า แม้เงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นค่อนข้างมาก แต่เบื้องต้นมองว่าอาจจะเป็นเพียงภาวะชั่วคราว และระดับของเงินเฟ้อในปัจจุบันก็ยังไม่สูงจนทำให้ไทยเข้าสู่ภาวะ Stagflation

สอดคล้องกับความเห็นของคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ มองว่า โอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะ Stagflation นั้นยังค่อนข้างน้อย และมองว่าเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้นเป็นเรื่องชั่วคราว และจะทยอยลดลงในช่วงปลายปีนี้
อีกทั้ง เมื่อพิจารณาในรายละเอียดแต่ละสินค้า พบว่าในช่วงต้นปีอัตราเงินเฟ้อถูกผลักดันให้เพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการเปิดเศรษฐกิจเป็นหลัก ได้แก่ ราคารถมือสอง ค่าเช่ารถ ค่าโดยสารเครื่องบิน และค่าที่พักโรงแรม ซึ่งราคาในกลุ่มดังกล่าวเริ่มปรับลดลงในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา
... ขณะที่ปัจจัยที่ผลักดันให้เงินเฟ้อสูงเกิดจากราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นหลัก


กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ยังประเมินว่า เศรษฐกิจโลกจะยังขยายตัวในอัตราที่สูงต่อเนื่องในปี 2565 โดยคาดว่า เศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 4.9% ส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) สหรัฐฯ คาดว่าจะโตถึง 5.2% สูงกว่าอัตราปกติในช่วงก่อนการระบาดที่ขยายตัวราว 2-3% ต่อปี

ถึงแม้ IMF จะประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ จะยังอยู่ในระดับสูง แต่เศรษฐกิจก็จะขยายตัวในอัตราที่สูงต่อเนื่อง ทำให้ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะ Stagflation มีจำกัด


โดยสรุปแล้ว โอกาสเกิด Stagflation มีจำกัด แต่พัฒนาการเศรษฐกิจในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูง หากเงินเฟ้อยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเริ่มมีสัญญาณการส่งผ่านของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ไปยังสินค้าอื่นๆ และราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นเริ่มกดดันการบริโภค จนทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ Stagflation ก็อาจมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นความเสี่ยงสำคัญที่นักลงทุนควรจับตามองต่อไป
และถ้าเกิดขึ้นจริงๆ มีโอกาสที่ดัชนีหุ้น S&P 500 จะร่วงได้แรงถึง 30% โดยการประเมินดังกล่าวมาจากการสมมติให้ส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนของตลาดหุ้นกับผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล หรือ Earning Yield Gap (EYG) เพิ่มขึ้นไปอยู่ 5 - 6% เช่นเดียวกับไปช่วงปี 2554 - 2555
... นั้นหมายความว่า ดัชนี S&P 500 จะลงไปเทรดที่อัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E) ประมาณ 13 - 14 เท่า หรือต่ำกว่าระดับปัจจุบันที่ 19 - 20 เท่า ทำให้มีโอกาสที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และทั่วโลกมีโอกาสปรับตัวลงถึง 30%

นี้ถือเป็นประเด็นที่นักลงทุนต้องติดตามอย่างใกล้ชิดครับ

-------------------------

ขอบคุณแหล่งข้อมูล
https://www.moneyandbanking.co.th/article/news/tisco-esu-stagflation-26102021

https://www.krungsri.com/th/personal/mutual-fund/knowledge/glossary/s/stagflation

https://thestandard.co/slow-economy-thai-risk-on-stagflation/

https://themomentum.co/economiccrunch-stagflation/


ศูนย์รวมความรู้เรื่องหุ้น ศูนย์รวมนักลงทุนรายย่อย ที่อยากรู้วิธีการลงทุนในหุ้นอย่างถูกต้องและได้กำไรอย่างยั่งยืน ติดตามเราได้ที่

www.stock2morrow.com 

FB: stock2morrow 

LINE@stock2morrow

FacebookInstagramYoutubeLine

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง