นอกเหนือจากเหตุผลดังกล่าวจะเป็นการเข้าเทคโอเวอร์ในแง่ของพื้นฐานกิจการเป็นหลัก ถ้าเป็นแบบนี้ผมมองว่านี่คือการ “ปั้นหุ้น” เช่น เทคโอเวอร์เพื่อที่จะได้ธุรกิจที่สามารถเกื้อหนุนกันได้ ทั้งแนวนอนและแนวดิ่ง
โดยหากเป็นการเทคโอเวอร์แบบแนวนอน ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีกิจการแบบเดียวกัน เช่น ทำโรงภาพยนตร์ การเข้าเทคโอเวอร์หรือรวมกิจการก็จะทำให้ครอบครองตลาดร่วมกันมากขึ้น จนกลายเป็นผู้เล่นรายใหญ่
ส่วนการเทคโอเวอร์แบบแนวดิ่ง ทั้งสองฝ่ายอาจจะมีธุรกิจที่ใกล้เคียงกัน เช่น เป็นผู้ผลิตสินค้า การที่อีกฝ่ายเข้ามาซื้อกิจการ อาจจะสามารถผลิตสินค้าหรือบริการใหม่โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนเพิ่มอีกก็เป็นได้ กล่าวคือเป็นการผนึกรวมจุดแข็งของทั้งสองฝ่ายให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น และปิดจุดอ่อนที่มีอยู่นั่นเอง
นอกจากนี้ หุ้นที่มีโอกาสถูกเทคโอเวอร์อาจจะมีสินค้าหรือแบรนด์ที่เข้มแข็ง ซึ่งสามารถตีมูลค่า Goodwill ได้สูงหากเข้าครอบครองกิจการ
เห็นได้ว่า แม้จะเป็นการเทคโอเวอร์เหมือนกัน แต่ก็อาจจะมีจุดประสงค์และผลลัพธ์ที่ต่างกัน แม้ว่าราคาหุ้นจะตอบสนองเชิงบวกเหมือนกัน วิธีแรก ผู้เทคโอเวอร์อาจไม่หวังที่จะเข้ามาสร้างให้กิจการเติบโตขึ้น เป็นเพียงแค่เกมของการสร้างราคาเท่านั้น ขอให้นักลงทุนตรวจสอบพฤติกรรมของผู้ถือหุ้นว่ามีความตั้งใจที่จะบริหารกิจการอย่างแท้จริงหรือไม่ หากเป็นเพียงแค่ Money Game ก็ควรที่จะถอยห่างออกมาดีกว่าครับ
มีคนถามผมว่า การลงทุนเพื่อครอบงำกิจการ (Take Over) สไตล์ “วิชัย ทองแตง” นั้นเป็นอย่างไร? ผมต้องขอบอกนะครับว่า ผมไม่ชอบคำว่าเทคโอเวอร์ (Take Over) เลย มันให้ความรู้สึกที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะส่วนใหญ่ผมจะมีความมุ่งหมายชัดเจนว่าจะเข้าไป “ปั้น” จริง ๆ พูดอีกนัยหนึ่งก็คือการเข้าไป Turn Around ดังที่เขียนไว้ในหนังสือเล่มแรกนั่นเอง
ท่านผู้อ่านที่เป็นนักลงทุนอาจพบเห็นบ่อย ๆ ว่าบางบริษัทนั้น มีผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวนมาก ไม่มีใครเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ชัดเจน เรียกว่าไม่มีเจ้าภาพนั่นเอง บริษัทแบบนี้จะถูกเทคโอเวอร์ได้ง่าย บริษัทที่มีเจ้าของชัดเจน ผมจะไม่เข้า การที่เราเข้าไปกว้านซื้อหุ้นเพื่อสถาปนาความเป็นเจ้าของคนใหม่ วิธีนี้ผมไม่ทำแน่นอน แบบนั้นมันเหมือนกับการปฏิบัติการฝ่ายเดียวโดยที่อีกฝ่ายไม่เต็มใจ การที่ไปแย่งชิงของรักของหวงของเขามา มีแต่จะสร้างศัตรู วิธีการนี้ผมไม่แนะนำ แม้ว่าจะทำกำไรได้ดีแค่ไหนก็ตาม
อุดมการณ์ของผมก็คือ หากธุรกิจน่าสนใจ วิเคราะห์แล้วมองเห็นทิศทางเติบโต สามารถสร้างมูลค่า (Value) ได้ชัดเจน ผมจะเข้าไปนั่งคุยแลกเปลี่ยนกันว่า เราร่วมงานกันได้นะ ผมมีสูตรผสมที่ลงตัวให้ แต่ส่วนใหญ่เวลานี้จะมีแต่คนเดินเข้ามาหาผมเองเกือบทั้งหมด โดยที่ผมไม่ต้องออกไปหาเลย
เขียนแบบนี้ดูเหมือนเป็นคนหยิ่งผยองนะครับ ความจริงไม่ใช่เลย สาเหตุก็เพราะผมรู้ตัวดีว่าหากผมเป็นฝ่ายเดินเข้าไปในบริษัทนั้น ๆ ก็จะมีโอกาสสูงอย่างมากที่จะเกิดอาการ “ข่าวรั่ว” เสมอ ผมเคยเจอแล้วหลายครั้ง จึงต้องระวังตัวเป็นพิเศษ
อีกอย่างหนึ่ง ถ้าร่วมธุรกิจกันแล้ว สูตรที่ได้ไม่สวยงามพอ ผมก็จะไม่ทำ สูตรที่ผมตั้งเป้าไว้ต้องเป็น 1+1 เป็นมากกว่า 2 หรืออาจจะมากกว่านั้นคือ จะเป็น 4 5 6 ก็เป็นได้
การนำสองธุรกิจที่มีจุดอ่อนจุดแข็งแตกต่างกันมาสร้างกระบวนการที่เรียกว่า Synergy หลอมรวมกันให้เกิดเป็นแนวทางใหม่ขึ้น จึงถือว่าเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ดังที่ผมได้กล่าวมาแล้ว
มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งของการควบรวมกิจการ ก็คือ ถ้าทั้งสองบริษัทต่างแข็งแรงด้วยกันเกินความคาดหมาย แต่แรงความคิดที่จะจูงเข้าหาจุดบรรจบจนสามารถรวมตัวกันทั้งคู่อาจจะยังหาไม่เจอ เนื่องจากอาจมองเห็นผลตอบแทนที่ไม่สอดคล้องกับที่ต่างคนต่างคาดหมายไว้ เพราะต่างคนต่างมั่นใจในสูตรของตัวเอง ก็เลยไม่จบ เก่งกับเก่งมาเจอกันได้นั้นเป็นโอกาสที่ดีครับ แต่ว่าส่วนใหญ่แล้วเขาจะไม่ค่อยยอมเจอกัน ต้องมีคนที่มีบารมีพอที่จะชักจูง ชี้แนวทางได้ ผมเคยลองพยายามแล้ว ก็มีทั้งสำเร็จและไม่สำเร็จครับ
เรื่องยากอีกเรื่องของการรวมธุรกิจก็คือ การช่วงชิงตำแหน่งระหว่างสองฝ่าย จะทำอย่างไรให้ต่างฝ่ายต่างยอมรับซึ่งกันและกัน? รวมกันแล้วจะทำงานร่วมกันอย่างไร? ผมมั่นใจว่าถ้าเราทำตัวเป็นมืออาชีพ ก็จะสามารถทำงานได้ทุกที่แน่นอน อย่ามัวแต่ไปถกเถียงเน้นแต่เรื่องหน้าตาและผลตอบแทนที่จะได้เลยครับ น่าจะมองไปถึงอนาคตมากกว่า มูลค่าของกิจการมันได้จะเพิ่มขึ้นเยอะ ๆ แต่คนส่วนใหญ่มักจะยึดติดกับตำแหน่ง กลัวคนอื่นจะมาแย่งชิงเอาไป
ถ้าหากคุณวางตัวให้เป็นนักลงทุน (Investor) คุณจะเป็นฝ่ายยอม แต่ถ้ายังยึดติดกับความเป็นเจ้าของคุณจะไม่ยอม นี่คือตรรกะง่าย ๆ แม้ว่าฝั่งใดฝั่งหนึ่งจะยอม แต่ยังยึดติดกับตำแหน่งและผลตอบแทนที่ต้องได้ ยึดติดว่ามีทายาทธุรกิจจะต้องให้บริหารต่อ แบบนี้ส่วนใหญ่จะไปกันไม่รอดครับ
สำหรับผม แม้ว่าจะมีการเสนอราคาซื้อขายมาอย่างถูกต้องตามหลักการคำนวณสูตรราคา แต่ท้ายที่สุดก็ยังคงหนีไม่พ้นการเจรจาต่อรอง ทั้งราคาและเงื่อนไขอื่น ๆ ที่ต้องคำนึงถึงทุกองค์ประกอบของการ Turn Around ครับ ปมที่ค้างคาต้องขจัดออกไปจนหมดสิ้น มันคือหลักการสำคัญของนักลงทุน การเจรจาต่อรองเป็นงานสำคัญ ปกติแล้วผมจะให้ทีมงานเป็นฝ่ายไปจัดการ แล้วผมจะเป็นคนตัดสินใจสุดท้ายว่าจะไปต่อหรือไม่
ปิดดีลให้เร็วที่สุด
การเจรจาเทคโอเวอร์หรือเข้าถือหุ้นเพื่อฟื้นฟูกิจการทุกครั้งผมจะต้องปิดดีลให้เร็วที่สุด เพราะถ้าปล่อยให้ล่าช้าออกไป จะทำให้การทำงานยากขึ้น
ประสบการณ์เข้าไปช่วยฟื้นกิจการที่ผ่านมาหลายครั้งของผม เจอมาหลายรูปแบบ โดยเฉพาะเรื่องของ “ราคาซื้อขาย” มีทั้งที่พอใจกับราคาที่เสนอซื้อหุ้น กับที่ยังไม่พอใจนัก แต่ส่วนมากคนที่เดินเข้ามาเสนอขาย เขาจะให้เกียรติผมด้วยการให้โอกาสซื้อในราคาประมาณพาร์หรือบุ๊ค หรือต่ำกว่าราคาในกระดาน
ระยะเวลาในการดีลที่สั้นที่สุดของผม เคยใช้เวลาแค่ 50 วัน ที่นานที่สุดก็ใช้เวลาเป็นปี ที่ว่านานนี่คือมันเหมือนไม่พอใจซึ่งกันและกัน เลยหันหลังให้กันไปพักหนึ่ง แล้วกลับมาคุยกันใหม่ เรียกได้ว่าไม่ต่อเนื่อง เพราะมีบุคคลที่สามเข้ามาแทรกด้วย บางทีผมก็จะเจอเหตุการณ์ประมาณว่า วิชัย ทองแตง เขาเป็นนักเทคโอเวอร์ ให้ตั้งราคาสูง ๆ หน่อย ระวังเดี๋ยวจะมาเทคโอเวอร์กิจการไปหมดอะไรทำนองนี้ ทำให้ดีลต้องล่าช้าออกไป
ความพยายามจบดีลให้เร็วที่สุดคือหลักการที่ผมต้องเตือนตัวเองไว้เสมอ นั่นคือต้องตั้งเป้าจบให้ได้ภายในระยะเวลาหนึ่ง โดยทั่วไปแล้วผมจะพยายามให้จบใน 3 เดือน โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่ตกลงหลักการกันได้ และผมส่งทีมงานเข้าตรวจสอบดูกิจการ (Due Diligence) เวลาทำอะไรจะต้องมีเป้าหมายครับ ไม่เช่นนั้นจะถูกมองว่าทำงานแบบไร้ทิศทาง บางครั้งเป้าหมายก็เสร็จเร็ว บางครั้งก็เสร็จช้า การที่ต้องเสร็จช้า หลาย ๆ ครั้งก็มักจะมีเหตุจากบุคคลที่สามเข้ามานี่แหละ ทำให้เกิดปัจจัยที่เราคาดไม่ถึง
เวลาที่จะตัดสินใจเรื่องราคา จำไว้เลยนะครับว่าจะต้องให้นักการเงินเป็นคนวิเคราะห์เสมอ โดยจะดูที่ตัวเลขเป็นหลักเบื้องต้น ยังไม่ต้องสนใจเรื่องอื่น อย่างเช่น พวกแบรนด์ดิ้งที่เราจะได้มา หรืออะไรก็ตามที่ไม่ใช่ตัวเลข เวลาที่ทีมงานมาพรีเซนต์ให้ฟังว่า พวกเขาให้น้ำหนักกับคุณค่าขององค์กรในมุมที่ไม่ใช่ตัวเลขอย่างไร? จะมีกลยุทธอะไรทำให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้บ้าง? ต้องใช้ความเป็นมืออาชีพของพวกเขากรองข้อมูลมาให้ครับ
ทีมงานของผมจะมีทั้งทีมส่วนตัวและว่าจ้างจากภายนอก ซึ่งจะต้องมีประสบการณ์สูง ทั้งนี้แม้ว่าจะเป็นทีมภายนอก แต่ส่วนมากก็จะสนิทกันทั้งนั้นครับ
*******
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ "ปั้นหุ้น" ของคุณวิชัย ทองแตง เล่มล่าสุด (พฤศจิกายน 2558)