พอเขียนถึง 2 ตัวอย่างในเรื่องวิศวกรรมทางการเงิน (บทที่ 21) ซึ่งเป็นเครื่องมืออันวิเศษสุดแล้ว ผมก็อดไม่ได้ที่จะต้องเขียนเรื่องการควบรวมกิจการเสียหน่อย ทั้ง ๆ ที่เดิมตั้งใจอยากจะเขียนเป็นอีกเล่มนึงต่างหาก เพราะเรื่องแบบนี้มีมุมมองให้ศึกษาเยอะมากครับ
เอาเป็นว่าผมขอเขียนย่อส่วนมาเป็นสังเขป เพื่อความเข้าใจของนักลงทุนทั่วไป แต่ทั้งนี้อาจมีบางรายละเอียดไปซ้ำกับเรื่องวิศวกรรมทางการเงิน ก็อย่าถือสากันครับ เป็นความตั้งใจส่วนตัวที่อยากจะถ่ายทอดให้เห็นกรรมวิธีต่าง ๆ ที่เขาใช้ทำธุรกรรมกันในตลาด
อีกคติหนึ่งของผมที่ยึดถือมาตลอดก็คือ จะไม่ไปครอบงำ (Take over) กิจการใดโดยเจ้าของไม่เต็มใจ คือ จะไม่เทคโอเวอร์อย่างไม่เป็นมิตร (Hostile Takeover) นั่นเอง เพราะวิธีการดังกล่าวมักจะก่อให้เกิดปัญหาระหว่างทางขึ้นได้ง่าย เนื่องจากมนุษย์ทุกคนล้วนมีศักดิ์ศรี ยิ่งเป็นนักธุรกิจ ยิ่งมีศักดิ์ศรีมากไปกว่าปกติ อาจเนื่องเพราะเขารักและหวงแหนธุรกิจที่เขาก่อร่างสร้างมากับมือ หรืออาจเป็นธุรกิจหรือกิจการที่บรรพบุรุษเป็นผู้เริ่มต้นไว้และส่งไม้ต่อมายัง Generation ถัดไป จึงอาจมีคุณค่าทางจิตใจมากกว่าคุณค่าของกิจการ หรืออาจจะเป็นด้วยความเป็นผู้มีชื่อเสียงในสังคม จึงอยากจะรักษาหน้าตัวเองไว้
คำว่า “ไม่เป็นมิตร” นั้น เป็นคำพูดที่ยังฟังดูดี แต่อีกนัยหนึ่งอาจมีความหมายถึงการ “การเป็นศัตรู” เลยก็เป็นไปได้ ขึ้นอยู่กับว่าผู้ถูกกระทำจะคิดอย่างไร
ในฐานะที่เวียนว่ายอยู่ในตลาดทุนมายาวนาน ผมอยากให้นักลงทุนทำความเข้าใจ แยกแยะให้ออก ระหว่างการครอบงำกิจการ (Take over) ปกติ กับการครอบงำกิจการอย่างไม่เป็นมิตร (Hostile Takeover) ให้ดี เพราะมีมิติที่เหลื่อมล้ำกันอยู่ ระหว่างการ “ปั้นหุ้น” กับการ “ปั่นหุ้น” ซึ่งผมได้เขียนถึงไว้ตอนต้นแล้วส่วนหนึ่ง
หุ้นที่มักเป็นเป้าหมายถูกเทคโอเวอร์
ข่าวหรือสตอรี่ที่ถูกนำมาใช้ในการปั่นหุ้นมากที่สุดก็คือ การเข้าครอบงำกิจการหรือเทคโอเวอร์ (Take Over) เหตุผลก็คือ การที่กิจการถูกเทคโอเวอร์ มักจะนำไปสู่ความคาดหวังว่าจะเกิดผลกระทบแง่บวกกับหุ้นตัวนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคาหุ้นที่จะปรับตัวสูงขึ้น เพราะตามกฎหมายจะต้องทำ Tender Offer หรือเสนอราคาซื้อหุ้นกับกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม ซึ่งอาจจะสูงกว่าราคาในกระดาน หรือความคาดหวังว่าการมีผู้ถือหุ้นใหม่จะทำให้พื้นฐานกิจการดีขึ้น
ประสบการณ์ในตลาดทุนของผม พอจะอธิบายได้ว่า หุ้นแบบไหนที่มักจะเป็นเป้าหมายของการถูกเทคโอเวอร์ คำตอบก็คือหุ้นที่มีอัตราส่วนมูลค่าทางบัญชี หรือ Book Vale ที่ต่ำมาก ๆ หรือราคาในกระดานอยู่ต่ำกว่า 1 เท่าของ Book Value เนื่องจากผู้เทคโอเวอร์มีโอกาสที่จะได้กำไรส่วนต่าง (Capital Gain) จากการเข้าซื้อหุ้นในราคาที่ต่ำ ส่วนมากหุ้นกลุ่มนี้มักจะมีพื้นฐานไม่ค่อยดีนัก แต่ก็ไม่ถึงกับแย่มากจนไม่สามารถนำมาปั้นต่อได้ การที่ได้หุ้นมาในราคาต่ำ คือความได้เปรียบของผู้เทคโอเวอร์ เพราะเพียงแค่ขายออกไปในราคาพื้นฐานกิจการก็ได้กำไรแล้ว
นอกจากนี้ หุ้นที่มักเป็นเป้าหมายการเทคโอเวอร์ มักจะมีมูลค่ากิจการที่ยังไม่สะท้อนมูลค่าสินทรัพย์ที่แท้จริง กล่าวคือ บริษัทที่มี Asset ดี ๆ อย่างเช่น ที่ดิน อาคารสำนักงาน โรงงาน ฯลฯ บางครั้งยังไม่ได้ตีค่าสินทรัพย์ใหม่ ซึ่งอาจจะมีมูลค่าสูงขึ้นก็เป็นได้ ส่วนมากแล้วมักจะเป็นที่ดิน เพราะราคาที่ดินมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยเฉพาะทำเลที่ไม่เคยมีคนสนใจมาก่อน แต่กำลังได้รับความนิยมและมีโครงสร้างพื้นฐานเริ่มไปตั้งอยู่ หากเข้าไปเทคโอวเวอร์แล้ว ผู้ซื้อก็มีโอกาสที่จะได้มูลค่าหุ้นที่สูงขึ้นเมื่อมีการตีมูลค่าทรัพย์สิน
หุ้นที่มีกลุ่มผู้ถือหุ้นกระจายตัวจำนวนมาก หรือไม่มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นหลักเพียงรายเดียว ก็อาจเป็นเป้าหมายของการถูกเทคโอเวอร์ได้เช่นกัน เพราะการที่ไม่มีกลุ่มผู้ถือหุ้นถือครองหุ้นมากกว่า 50% ก็จะทำให้ผู้ที่ต้องการเทคโอเวอร์เข้ามาไล่เก็บหุ้นในกระดานจากนักลงทุนทั่วไปได้ง่าย ในตลาดหุ้นไทยเองก็เคยเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวมาแล้ว จนทำให้กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมถึงกับหมดอำนาจในการบริหารไปเลย
จุดประสงค์ของการเทคโอเวอร์ทั้งสามข้อดังกล่าว อาจเข้าข่ายของการ “ปั่นหุ้น” โดยยกเคสการเทคโอเวอร์ขึ้นมาเป็นสตอรี่ เนื่องจากเหตุผลดังกล่าว อาจไม่มีเรื่องของพื้นฐานกิจการมาเกี่ยวข้อง เป็นเพียงการเข้าซื้อหุ้นเพื่อเก็งกำไรและสร้างสตอรี่ต่อก็เป็นได้ครับ ผู้เทคโอเวอร์อาจไม่มีความตี้งใจที่จะพลิกฟื้นกิจการอย่างแท้จริง
(อ่านต่อตอนต่อไป)
*******
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ "ปั้นหุ้น" ของคุณวิชัย ทองแตง เล่มล่าสุด (พฤศจิกายน 2558)