ท่ามกลางกระแสที่มาแรงของ คริปโตเคอร์เรนซี (cryptocurrency) หรือที่รู้จักในชื่อว่าสกุลเงินดิจิทัล ที่เชื่อกันว่าจะมาแทนเงิน อิเล็กทรอนิกส์ (e-money) ที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันได้หรือไม่ และด้วยศักยภาพของเทคโนโลยีการประมวลผลแบบกระจายศูนย์ที่อยู่เบื้องหลังอย่างบล็อกเชน (blockchain) ที่มีความปลอดภัยและสามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ใช้งาน ขณะที่เทคโนโลยีดังกล่าวช่วยลดบทบาทตัวกลางอย่างสถาบันการเงิน ที่มีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ ส่งผลให้ธนาคารกลางทั่วโลกและภาคเอกชนจึงหันมาศึกษาความเป็นไปได้ในการนำบล็อกเชนมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพของระบบการชำระเงิน และการออกใช้ Central Bank Digital Currency (CBDC) หรือสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนมูลค่าที่จะเป็นตัวแทนของเงินได้จริงๆ
... อย่างที่เราเห็นตัวอย่างในประเทศจีนที่พยายามพัฒนา "หยวนดิจิทัล" ให้เกิดการใช้ในวงกว้าง ไม่เพียงแค่จีนอย่างเดียว ประเทศสวีเดนได้ทดสอบการใช้สกุลเงิน e-krona รัฐบาลยูเครนออกสกุลเงินเป็นของตัวเองในชื่อ e-hryvnia หรือแม้แต่ประเทศไทยเองก็มี "โครงการอินทนนท์" ตั้งแต่ปี 2560
อะไรคือ CBDC ?
แล้ว CBDC แตกต่างกัน cryptocurrency ตรงไหน ?
แล้ว CBDC ของไทยพัฒนาไปถึงไหนแล้ว ?
มาทำความเข้าใจเกาะกระแสเรื่องนี้กันไปสักหน่อยครับ ...
1. CBDC คืออะไร ?
CBDC เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยภาครัฐ ธนาคารกลางของประเทศนั้นๆ มีคุณสมบัติเป็นสื่อกลางเพื่อใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ สามารถรักษามูลค่า เป็นหน่วยวัดทางบัญชี คล้ายกับสเตเบิลคอย์นที่จะถูกยึดโยงไว้กับสินทรัพย์ ทำให้ไม่มีความผันผวนมาก
2. CBDC แตกต่างจาก cryptocurrency ที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ตรงไหน ?
จุดแตกต่างที่เห็นได้ชัด คือ "มูลค่าความผันผวน" เนื่องจากว่า CBDC ที่ออกโดยธนาคารกลางจะถูกยึดโยงกับสินทรัพย์ทำให้ราคาไม่ผันผวนขึ้นลงมาก แตกต่างจากสกุลเงินดิจิทัลที่ถูกใช้เก็งกำไร ทางธนาคารจึงเห็นว่าไม่เหมาะใช้นำมาเป็นสื่อกลางในการชำระสินค้าและบริการ นั้นเอง
พูดง่ายๆ คือ cryptocurrency ออกโดยเอกชน ถูกรันอยู่บนบล็อคเชน ไม่มีอำนาจจากส่วนกลางหรือใครสามารถควบคุมได้ แต่สำหรับ CBDC นั้นถูกควบคุมดูแลโดยธนาคารกลางประเทศนั้นๆ นั้นเอง
3. CBDC ของไทยพัฒนาไปถึงไหนแล้ว ?
ของประเทศไทย CBDC จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ชนิดด้วยกัน คือ ธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงิน (wholesale CBDC)
และสำหรับธุรกรรมรายย่อยของภาคธุรกิจและประชาชน (retail CBDC)
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เริ่มศึกษาและพัฒนา CBDC โดยเริ่มต้นทดสอบระบบการชำระเงินต้นแบบในระดับสถาบันการเงิน (wholesale CBDC) ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ 8 แห่งมาตั้งแต่ปี 2561 ภายใต้ชื่อโครงการ "อินทนนท์" มีการทดสอบโอนเงินข้ามประเทศระหว่างฮ่องกง และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งการทดสอบกับธนาคารในฮ่องกง โครงการระยะที่ 2) เรียบร้อยดี ผลออกมาเป็นไปอย่างน่าประทับใจ และจะเริ่มต่อยอดพัฒนาโครงการในระยะที่ 3 กับประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมถึงการพัฒนาต่อยอดกับธนาคารกลางของจีนในชื่อ Multiple Central Bank Digital Currency Bridge Project หรือ mBridge
ผลการศึกษาในระยะที่ 2 หรือในชื่อโครงการ Inthanon-LionRock ระยะที่ 2 การพัฒนาระบบต้นแบบ Wholesale CBDC สำหรับการโอนเงินระหว่างประเทศ โดยการใช้เทคโนโลยีการประมวลผลแบบกระจายศูนย์ (Distributed Ledger Technology: DLT) การเพิ่มประเทศและสกุลเงินตราต่างประเทศ การแลกเปลี่ยนเงินตรา สามารถลดระยะเวลาการโอนได้เหลือเพียงหลัก "วินาที" เมื่อเทียบกับการโอนเงินในปัจจุบันที่ต้องใช้เวลานานถึง 3-5 วันทำการ
โครงการระยะที่ 3 คือการทดสอบร่วมกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไปจนถึงการพัฒนาความร่วมมือกับธนาคารกลาง 4 แห่ง คือ ประเทศไทย ฮ่องกง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และประเทศจีน ภายใต้โครงการ mBridge โดยใช้ Wholesale CBDC สำหรับการโอนเงินระหว่างประเทศในลักษณะหลายสกุลเงิน (multi-currency) ภายในกลุ่มธนาคารกลางที่เข้าร่วม
หลังจากนั้นจะเป็นการพัฒนาในเรื่องของความมีเสถียรภาพ พัฒนาประสิทธิภาพ เช่น การบริหารจัดการสภาพคล่อง การรักษาความเป็นส่วนตัวของธุรกรรมทางการเงิน และความสามารถในการใช้ระบบ DLT สำหรับรองรับปริมาณธุรกรรมจำนวนมาก
สำหรับ retail CBDC หรือของภาคประชาชน อยู่ในขั้นตอนของการทดสอบ ยังมีเรื่องของการศึกษารายละเอียดต่างๆ ข้อบังคับ กฏระเบียนของประเทศ ความปลอดภัยทางเทคโนโลยีที่นำมาใช้ ความมีเสถียรภาพ โดยจะเริ่มทดสอบอีกครั้งในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2565
ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากสำหรับโครงการ CBDC ที่จะถูกนำมาใช้ได้จริงในประเทศไทยภายใต้ชื่อ "อินทนนท์"
-------------------------------
ขอบคุณแหล่งข้อมูล
https://www.bot.or.th/Thai/BOTMagazine/Pages/256304_TheKnowledge_CBDC.aspx
https://www.efinancethai.com/LastestNews/LatestNewsMain.aspx?release=y&ref=M&id=M1NTQnRuWDh6cG89