การเพิ่มหนี้สาธารณะเป็น 70% ของ GDP ดูเหมือนว่าจะสร้างความกังวลให้กับประชาชนส่วนหนึ่ง
ประเด็นคือเราควรกังวลกับเรื่องนี้ไหม ลองมาดูมุมมองของบทวิจัยว่ามีความเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไรกันบ้าง
แหล่งข่าวกล่าวว่า ทางการปรับเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% ของ GDP เปิดทางกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม
... การประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 21 กันยายน เห็นชอบตามมติของคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐในการขยายเพดานหนี้สาธารณะต่อ GDP จากเดิมกำหนด 60% เพิ่มเป็น 70% เพื่อเพิ่มพื้นที่ทางการคลัง
เนื่องจากในปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลยังจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มเติมจากวงเงินที่เหลืออยู่จาก พ.ร.ก. เงินกู้ 5 แสนล้านบาท (ประมาณ 3.5 แสนล้านบาท) เพื่อเยียวยาและสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยสูงกว่า 60% ของ GDP เทียบกับ ณ สิ้นปีงบฯ 2564 (เดือนกันยายน) คาดว่าจะอยู่ที่ 58.96%
บทวิจัยกรุงศรีฯ วิเคราะห์ว่าการขยายเพดานหนี้สาธารณะไปที่ระดับ 70% ถือเป็นระดับที่โครงสร้างของประเทศยัง "รองรับได้"
และยังเป็นระดับที่ไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในอันดับความน่าเชื่อถือเดียวกัน เช่น อินเดีย และมาเลเซีย การขยายเพดานหนี้สาธารณะจะช่วยเพิ่มความคล่องตัวให้แก่การดำเนินมาตรการของภาครัฐซึ่งถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อเนื่องในการช่วยสร้างรายได้ที่ลดลงมากและเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นโดยเร็ว
หนี้สาธารณะต่อ GDP ของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา
Credit : www.krungsri.com/th/research
ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยกรุงศรีฯ เคยเสนอผลการศึกษาเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาผลกระทบจากการระบาดวงเงินราว 7 แสนล้านบาท ประกอบด้วย 6 มาตรการ ประกอบไปด้วย
1. การให้เงินสำหรับผู้ที่ติดเชื้อหรือผู้ที่ต้องกักตัว (1.6 หมื่นล้านบาท)
2. การรักษาระดับการจ้างงาน (285 พันล้านบาท)
3. การให้เงินช่วยเหลือโดยตรงสำหรับภาคธุรกิจ (2 หมื่นล้านบาท)
4. การลดค่าใช้จ่ายสำหรับภาคครัวเรือน (2 แสนล้านบาท)
5. การลดค่าใช้จ่ายสำหรับภาคธุรกิจ (4.3 หมื่นล้านบาท)
6. และการให้เงินช่วยเหลือโดยตรงสำหรับภาคครัวเรือน (1.32 แสนล้านบาท)
โดยคาดว่าการใช้มาตรการเหล่านี้จะช่วยให้ศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยประคองตัวอยู่ที่ 3.25%
... จากช่วงก่อนวิกฤต COVID-19 อยู่ที่ 3.5%
แบงก์ชาติวิเคราะห์ เห็นความจำเป็นในการปรับเพิ่มเพดานหนี้ เพิ่มความคล่องตัว-พยุงเศรษฐกิจ
นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 64 ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบการขยายเพดานหนี้สาธารณะ เป็นร้อยละ 70 ของ GDP (จากร้อยละ 60 ของ GDP) เพื่อเพิ่มพื้นที่ทางการคลัง
โดย ธปท. เข้าร่วมประชุมและเห็นความจำเป็นในการปรับเพิ่มเพดานหนี้ดังกล่าว เพื่อเพิ่มความคล่องตัวให้กับการดำเนินนโยบายเพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และพยุงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า
โดยประเมินว่าความเสี่ยงต่างๆ ยังต่ำ โดยการใช้จ่ายภาครัฐควรเน้นโครงการที่มีประสิทธิผลสูงและเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ และจะต้องเร่งลดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP กลับมาที่ร้อยละ 60 ให้ได้ในระยะต่อไป
ขณะเดียวกัน ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการคลังในการปรับเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นครั้งนี้อยู่ในระดับต่ำ เนื่องจาก
1. เพดานหนี้สาธารณะต่อ GDP ไปอยู่ที่ร้อยละ 70 ไม่ถือว่าสูงเกินไป ซึ่งปัจจุบัน สัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ร้อยละ 55.6 เทียบกับระดับปัจจุบันของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่ประมาณร้อยละ 120 และกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาในแถบเอเชียที่ประมาณร้อยละ 70
2. หนี้สาธารณะของไทยเกือบทั้งหมดเป็นหนี้ในประเทศ (ร้อยละ 98.2) และต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาลไทยอยู่ในระดับต่ำ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะ 10 ปีของไทย ณ วันที่ 20 ก.ย. 64 อยู่ต่ำกว่าร้อยละ 1.8 ซึ่งต่ำสุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในอาเซียน โดยส่วนใหญ่อยู่ที่ระดับเกินร้อยละ 3
3. ความเสี่ยงในการถูกปรับลด credit rating ของไทยอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากการประเมินความน่าเชื่อถือของแต่ละประเทศจะขึ้นกับประสิทธิผลของมาตรการในการพยุงและฟื้นฟูเศรษฐกิจ และความสามารถในการบริหารจัดการหนี้ในระยะข้างหน้าเป็นสำคัญ ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าประเทศที่กำลังพัฒนาในแถบเอเชียที่มี credit rating ระดับเดียวกับไทย มีหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่สูงกว่าไทยเป็นส่วนใหญ่ เช่น อินเดียที่ร้อยละ 87 และมาเลเซียที่ร้อยละ 67
ดังนั้นโดยภาพรวมแล้วการเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะต่อ GDP ไปอยู่ที่ร้อยละ 70 ไม่ได้เป็นเรื่องน่ากังวล
แต่ประเด็นสำคัญ คือ การเพิ่มหนี้สินต้องถูกนำไปใช้ให้คุ้มค่า โปร่งใส และเพิ่มศักยภาพให้กับเศรษฐกิจ เข้าถึงเป้าหมายให้ได้โดยเร็วเท่านั้นเองครับ
------------------------------------
ขอบคุณแหล่งข้อมูล
บทวิจัยกรุงศรี
https://www.krungsri.com/th/research/macroeconomic/weekly/weekly-210928