#ข่าวหุ้นธุรกิจการลงทุน

SCB กำลังจะเป็นมากกว่าธนาคารในชื่อ SCBX

โดย stock2morrow
เผยแพร่:
60 views

สาระสำคัญ

  • SCBX จะมาแทน SCB โดยเป็นการสวอปหุ้น 1 ต่อ 1
  • มีปันผลพิเศษ 70,000 ล้าน โดย 70% เป็นเงินทุนในการจัดตั้งธุรกิจใหม่ อีก 30% เป็นเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม
  • SCBX จะถือเป็นบริษัทแม่ของกลุ่ม โดยถือหุ้นในหลายธุรกิจ ได้แก่ บัตรเครดิต สินทรัพย์ดิจิทัล สินเชื่อ ลีซซิ่ง หลักทรัพย์ ฟู้ดเดลิเวอรี่ เป็นต้น โดยมีแผนว่าจะนำธุรกิจในเครือ SCBX จดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ในอนาคตอีกด้วย
  • SCBX จะกลายเป็นกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงิน โดยมีธุรกิจธนาคารที่แข็งแกร่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม

-------------------------------------------------------------------

ถือเป็นข่าวที่น่าสนใจมากสำหรับ SCB และกลุ่มธนาคารทั้งกลุ่มที่พยายามจะออกจากการเป็นธุรกิจเก่า มาสู่การเป็น Holding Company หรือบริษัทเพื่อการลงทุน
โดยทาง SCB ประกาศปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ ตั้ง "SCBX" เป็นโฮลดิ้งคอมพานี เตรียมโยกผู้ถือหุ้น SCB ไปถือหุ้น SCBX แทน พร้อมนำ SCBX เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น แต่ยังใช้ชื่อหุ้นเดิม SCB ด้าน"อาทิตย์" หวังยกระดับ SCBX เป็นบริษัทเทคโนโลยีการเงินระดับโลก ภายใต้วิสัยทัศน์"ยานแม่ฟินเทค" ลั่นภายใน 5 ปี SCBX กำไรโต 1.5-2 เท่า มาร์เก็ตแคป แตะ 1 ล้านล้านบาท

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารอนุมัติการปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจทางการเงิน และแผนปรับโครงสร้างการถือหุ้น โดยจัดตั้ง บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) (ปัจจุบันใช้ชื่อว่า บริษัท ไทยพาณิชย์ โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เพื่อประกอบธุรกิจเป็นบริษัทลงทุน (Holding Company)

ภายหลังแผนปรับโครงสร้างการถือหุ้นได้รับอนุญาตเบื้องต้นจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ SCBX จะทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของธนาคารจากผู้ถือหุ้นเดิม

โดยออกหุ้นเพิ่มทุนแลกเปลี่ยนกับหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิ์ ในอัตราแลก 1 หุ้นธนาคารต่อ 1 หุ้น SCBX และ 1 หุ้นบุริมสิทธิธนาคาร ต่อ 1 หุ้นสามัญ SCBX
ภายหลังการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของธนาคารเสร็จสิ้น หลักทรัพย์ของ SCBX จะเข้าเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แทนหลักทรัพย์ของธนาคารที่จะเพิกถอนจากตลาดฯในวันเดียวกัน โดยยังใช้ชื่อย่อเดิมคือ SCB และ SCBX จะมีสถานะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ SCB

นอกจากนี้จะมีการโอนย้ายบริษัทย่อย และการโอนธุรกิจบัตรเครดิตและธุริจสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน ตามแผนปรับโครงสร้างการถือหุ้น ธนาคารประเมินมูลค่าการโอนย้ายของบริษัทย่อยจะอยู่ที่ประมาณ 19,504 ล้านบาท


ไม่เพียงแค่นั้น ...
ทาง SCBX หลังปรับโครงสร้างแล้วคณะกรรมการอนุมัติให้มีการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากกำไรสุทธิและกำไรสะสมตามงบการเงินเฉพาะล่าสุดของธนาคารจำนวน 70,000 ล้านบาท ให้แก่ SCBX และผูู้ถือหุ้นอื่น โดยคาดว่าเงินปันผลส่วนใหญ่ที่จ่ายให้ SCBX จะถูกใช้เป็นค่าตอบแทนสำหรับการโอนบริษัทย่อยและธุรกิจบัตรเครดิตและธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน และเป็นเงินลงทุนสำหรับขยายธุรกิจในอนาคต

ทั้งนี้ได้แต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ แสดงความเห็นเกี่ยวกับแผนปรับโครงสร้างถือหุ้นและเพิกถอนจากตลาดฯ

โดยสาเหตุสำคัญของการปรับตัวนั้นมาจากการพยายามปรับตัวก่อนแบงก์ถูกดิสรัปนั้นเอง
... นายอาทิตย์ กล่าวว่า ธนาคารมองว่าปี 68 การมาถึงของ decentralized finance technology การขยายตัวและการบุกของแพลตฟอร์มระดับโลกเข้าสู่ธุรกิจการเงิน พฤติกรรมของผู้บริโภคหลังโควิด (post-covid) รวมถึงกฎระเบียบข้อบังคับที่เปลี่ยนไปอย่างมาก จะทำให้รูปแบบการทำธุรกิจ (business model) ในแบบ intermediaries หรือการเป็นตัวกลางเก็บค่าธรรมเนียมของธนาคารแบบดั้งเดิมจะลดบทบาทลง

เพราะจะไม่สามารถตอบสนองความต้องการและความคาดหวังใหม่ของผู้บริโภคได้ ความสำคัญของธนาคารต่อผู้บริโภคจะลดลงและจะส่งผลลบต่อการให้มูลค่าอนาคตของนักลงทุนต่อธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้นแนวโน้มของการถูก disrupt นั้นเริ่มมาเมื่อหกปีก่อนและชัดเจนมากในอีก 3 ข้างหน้า SCB ได้ตั้งโจทย์และเพิ่มศักยภาพตัวเองมาโดยตลอด และตอนนี้ก็ถึงเวลาที่สำคัญที่สุดในการตั้งคำถามแห่งอนาคตว่าในช่วงเวลาสามปีจากนี้ที่เข้มข้นที่สุด SCB จะต้องแปลงสภาพตัวเองอย่างไรจึงจะสามารถสร้างคุณค่าใหม่ให้กับผู้ถือหุ้นและผู้บริโภค รวมถึงสามารถเติบโตไปกับโลกใหม่ได้

SCB จึงจะต้องไม่จำกัดตัวเองอยู่ที่ธุรกิจธนาคารแบบดั้งเดิมอีกต่อไป หากแต่ต้องใช้ความเข้มแข็งทางการเงินของธุรกิจธนาคารปัจจุบันให้เป็นประโยชน์ เร่งขยายธุรกิจเชิงรุกเข้าสู่ธุรกิจการเงินประเภทอื่นที่ตลาดต้องการ และสร้างขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยี รวมถึงการบริหารจัดการแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยี (technology platform) ขนาดใหญ่ให้ทัดเทียมกับคู่แข่งระดับโลก เข้าสู่สนามการแข่งขันแบบใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นโดยเร็วเพื่อที่จะอยู่รอดปลอดภัย

โดยกลยุทธ์เสริมความแข็งแกร่งธนาคารควบคู่ไปกับการสร้างธุรกิจใหม่สำหรับอนาคตนั้น ในส่วนของธนาคารจะมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกับการปรับลดกระบวนการขั้นตอนต่างๆให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไปให้มากที่สุดในทุกช่องทาง ธนาคารจะเน้นความสำคัญกับการสร้างความพึงพอใจสูงสุดแก่ลูกค้าเป็นที่ตั้ง


นายอาทิตย์ กล่าวว่า สำหรับ SCBX จะถือเป็นบริษัทแม่ของกลุ่ม โดยถือหุ้นในหลายธุรกิจ เช่น Card X จะ Spin-Off ธุรกิจบัตรเครดิตออกจากบริษัท , Alpha X ร่วมมือกับ Millennium Group ทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อสำหรับรถหรู , Auto X ทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อ ลีซซิ่ง เน้นกลุ่มรากหญ้า , Tech X ร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก ทำธุรกิจเทคโนโลยี , AISCB ร่วมมือกับ AIS ทำสินเชื่อ Digital , Robinhood ธุรกิจส่งอาหาร , CPG-SCB VC Fund ร่วมมือกับเครือซีพีในการจัดตั้ง VC Fund

นอกจากนั้น ยังมีธุรกิจอื่น ๆ เช่น Data X , SCB Securities , TokenX , SCBABACUS , monix

“เบื้องต้นแยกออกมา 15-16 บริษัท แต่ก็ยังมีอยู่ในมืออีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งการที่ทำแบบนี้เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดกฎระเบียบแบบเดิมที่ธนาคารทำไม่ได้ อย่างไรก็ตาม SCBX ยังอยู่ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย และ ธนาคารไทยพาณิชย์ ยังให้บริการรับฝากเงิน ดูแลลูกค้าเหมือนเดิมทุกอย่าง ” นายอาทิตย์ กล่าว

SCBX จะไม่เท่ากับธนาคารในความหมายเดิมอีก แต่จะแปลงสภาพกลายเป็นกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงินที่มีธุรกิจธนาคารที่แข็งแรงขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม และจะขยายเข้าสู่ธุรกิจการเงินส่วนบุคคลที่มีการเติบโตสูงที่ธนาคารไม่สามารถตอบสนองได้ โดยแต่ละธุรกิจ SCB จะร่วมมือกับพันธมิตรระดับประเทศ และระดับภูมิภาคที่แข็งแกร่ง ที่จะเริ่มเปิดตัวในอนาคตอันใกล้นี้

นอกจากการขยายเข้าสู่ธุรกิจการเงินส่วนบุคคลแล้ว SCBX จะต้องยกระดับขีดความสามารถของกลุ่มในการสามารถสร้างและบริหารจัดการแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยีขนาดใหญ่ (technology platform) หลังจากนำร่องด้วย “โรบินฮู้ด ฟู้ดเดลิเวอรี” เป็นโครงการแรก เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันกับแพลตฟอร์มระดับโลก และได้สร้างขีดความสามารถของบุคลากรด้านเทคโนโลยี

โดยเริ่มจากการก่อตั้งบริษัท “SCB Tech X” และบริษัท “Data X” ร่วมกับพันธมิตรระดับโลก เพื่อสร้างขีดความสามารถพื้นฐานด้านเทคโนโลยีภายในที่จะสามารถสร้างและ scale platform ได้ภายในระยะเวลาอันสั้น

 นอกจากนั้น SCBX จะขยายเข้าสู่ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset business) ในระดับโลกเพื่อเข้าสู่โลกการเงินแห่งอนาคตผ่าน SCB 10X และบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) โดยการร่วมลงทุนและเป็นพันธมิตรกองทุนระดับโลก และการพัฒนาธุรกิจ digital asset ด้านต่างๆ ใน business model ใหม่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกลุ่มในระยะยาว


ก็ถือเป็นประเด็นที่น่าสนใจของ SCB และกลุ่มธนาคารครับ ดูเหมือนว่าภาพของกลุ่มแบงก์จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ต้องจับตาดูกันให้ดีๆครับ


ศูนย์รวมความรู้เรื่องหุ้น ศูนย์รวมนักลงทุนรายย่อย ที่อยากรู้วิธีการลงทุนในหุ้นอย่างถูกต้องและได้กำไรอย่างยั่งยืน ติดตามเราได้ที่

www.stock2morrow.com 

FB: stock2morrow 

LINE@stock2morrow

FacebookInstagramYoutubeLine

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง