#ลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐาน

แนวทางการเลือกหุ้น บนดัชนี 1600+

โดย อธิป กีรติพิชญ์
เผยแพร่:
78 views

ปี 64 ที่ผ่านมา 9 เดือนนี้ ผลตอบแทนของ SET YTD(year to date) Return อยู่ที่ประมาณ 13.7% ( วันที่ 8 ..) ถ้าเทียบผลตอบแทนกับตลาดหุ้น Emerging Market ในภูมิภาคเอเชียด้วยกัน ตลาดหุ้นไทยเป็นรองเพียงตลาดหุ้นอินเดีย +24% และตลาดหุ้นเวียดนาม +21% เท่านั้น แต่การปรับตัวขึ้นสูงของ SET ในรอบนี้ เป็นการปรับตัวขึ้นภายในระยะเวลาเพียง 3 สัปดาห์ล่าสุดนี้เอง โดยนับจุดต่ำสุดเมื่อวันที่ 16 .. 64 ดัชนี SET 1512 จุด และปรับตัวขึ้นมาถึง 1650 จุดในช่วงต้นสัปดาห์ที่สองของเดือนกันยายน ส่งผลให้ ตลาดหุ้นไทยจากช่วงปลายเดือนสิงหาคมถึงต้นกันยายน ใช้เวลาเพียง 3 สัปดาห์ก็ปรับตัวขึ้นมากกว่า 130 จุด คิดเป็น +9% แน่นอนว่าหุ้นไทยหลายตัว ปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรง ระดับดัชนี SET เมื่อเทียบกับพื้นฐานปี 2564 ไม่จัดว่าอยู่ในโซนที่ถูกเลย 

 

อย่างไรก็ตาม หากเรามองย้อนอดีต ในปี 2563 หลังจากที่ดัชนีตกต่ำลงไปต่ำกว่าพันจุดในช่วงเดือนมีนาคม 2563 และเด้งฟื้นตัวขึ้นสู่ระดับประมาณ 1,400 จุด ในช่วงเดือนมิถุนายน 2563 แต่เชื่อหรือไม่ว่าหลังจากนั้น  SET ใช้เวลาอีก 14 เดือน ทยอยปรับตัวบวกขึ้นมาในภาพรวมถึงปัจจุบันที่ +17.85% เปรียบเสมือนฝนตกห่าใหญ่ แต่ไม่ได้ตกทั่วฟ้า ไม่ได้ลงไปที่หุ้นทุกกลุ่ม เพราะยังมีเพื่อนบางกลุ่มบางตัวที่ยังไม่ขึ้น หรือปรับตัวลดลงด้วยซ้ำ นี่คือหุ้นที่นักวิเคราะห์มักจะเรียกว่า Laggard หรือ ล้าหลัง นั่นเอง 

 

ในช่วงเวลาปีกว่า หุ้นที่ปรับตัวขึ้นเกินค่าเฉลี่ยของ SET ที่ 17.85% นั้นเราเรียกมันว่าหุ้น Outperform Market กล่าวคือราคาปรับตัวขึ้นมากกว่า SET โดยเฉพาะหุ้นที่มี free float ต่ำ และmarket cap ขนาดใหญ่ ยกตัวอย่างที่เห็นชัดเจนอย่าง 

  • DELTA ที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นกว่า 1,200% มี market cap มากกว่า 9 แสนล้านบาท 
  • INTUCH ราคาเพิ่มขึ้นถึง 51% 
  • MAKRO ราคาเพิ่มขึ้น 37% 

 

นอกจากนี้ยังมีหุ้นในกลุ่ม SET50 ตัวอื่นๆที่ปรับตัว Outperform Market เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ที่หุ้นเหล่านี้ ปรับตัวสูงขึ้นได้มากกว่า ที่ SET ปรับขึ้นมานั้น ไม่ได้หมายความว่าลงทุนไม่ได้เสมอไป การจะลงทุนได้หรือไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานและพัฒนาการสู่อนาคตของหุ้นเป็นสำคัญ หุ้นตัวนั้นอาจจะมีเรื่องราวของการเติบโตในอนาคตอีกมากก็ได้ หรืออาจจะเป็นหุ้นที่ไม่น่าลงทุนแล้วแต่ราคาหุ้นกลับถูกผลักดันขึ้นมาที่ระดับก่อนโควิด อย่างไม่สมศักดิ์ศรีก็ได้เช่นเดียวกัน

 

ในขณะที่ยังมีหุ้น underperform อีกกลุ่มใหญ่ที่ปรับตัวขึ้นแพ้ SET อย่างหลุดลุ่ย กล่าวคือในขณะที่ SET เพิ่มขึ้นจาก 1400 จุด ในเดือนมิถุนายน 2563 ขึ้นมาที่ 1650 จุดในเดือนกันยายน 2564 คิดเป็นการปรับตัวขึ้น +17.85% นั้น ยังมีหุ้นอีกกลุ่มหนึ่งที่ปรับตัวติดลบในช่วงเวลาเดียวกัน นี่คือกลุ่ม Underperform Market ยกตัวอย่างเช่น หุ้นโรงไฟฟ้าอย่าง EGCO RATCH กลุ่มรถไฟฟ้า BTS BEM ห้างสรรพสินค้า CPN สนามบิน AOT ค้าปลีก HMPRO CPALL รวมไปถึงกลุ่มสื่อสาร  หุ้นเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ปรับตัวติดลบในช่วงเวลาดังกล่าวทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถฟันธงลงไปได้ว่า underperform market แล้วลงทุนได้ทุกตัว หุ้นบางตัวอาจปรับตัวลงเพราะมีประเด็นการเพิ่มทุนรออยู่ข้างหน้า บางตัวปรับตัวลงเพราะมีประเด็นค้างคา (Overhang) และบางตัวปรับตัวลงเพราะถูกผลกระทบจากโควิดอย่างรุนแรง สุดท้ายการดูปัจจัยพื้นฐานของหุ้นยังเป็นสิ่งสำคัญ

 

อย่างไรก็ตามในขณะนี้มีการประเมินว่าในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี 2564 เริ่มมีสัญญาณเม็ดเงินลงทุนต่างชาติที่มีโอกาสจะไหลกลับเข้ามาสู่ตลาดหุ้นไทย โดยเฉพาะหุ้นกลุ่ม SET50 และ SET100 ซึ่งเป็นกลุ่มประจำของนักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มหุ้น Big Cap อันได้แก่ พลังงาน สื่อสาร ธนาคาร ค้าปลีกและ ขนส่ง จะเห็นได้ว่าในปัจจุบัน เริ่มมีความเห็นเชิงบวกในหุ้นที่เป็น Big Cap(หุ้นใหญ่) และยัง Laggard(ราคาล้าหลัง) เหล่านี้มากขึ้นโ ดยเฉพาะหุ้นที่เข้าธีม Reopening เปิดเมือง 

 

สำหรับนักลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐานที่ยังคงอยู่นอกตลาดและมีความสนใจในการลงทุนในตลาดหุ้นไทยอยู่นั้น แน่นอนที่สุดว่าเราไม่สามารถลงทุนหว่านไปที่หุ้นทุกตัวได้ เราจำเป็นต้องใช้วิชาคัดสรร Stock Selection นักลงทุนอาจจะวิเคราะห์แบบ top down analysis โดยจะดูภาพใหญ่ลงมาที่ภาพเล็ก มีอยู่ 5 ขั้นตอนคือ 1) วิเคราะห์ mega trend 2) วิเคราะห์อุตสาหกรรม 3) วิเคราะห์ตัวหุ้นด้วยปัจจัยเชิงคุณภาพ 4) ติดตามดูงบการเงินและ 5) วัดมูลค่าหุ้นดูความถูกแพง ในขณะที่วิธี bottom up คือการเริ่มจากตัวหุ้นที่มีความคุ้มค่าเชิง Valuation ก่อน เป็นการเริ่มจากขั้นที่ 5 ก่อน แล้วจึงทำย้อนขั้นตอนจาก 4) ขึ้นไปไปหา 1)เพื่อตัดสินใจในการลงทุน การวิเคราะห์แบบ bottom up จากล่างขึ้นบนเป็นแนวทางการลงทุนที่เน้นการวิเคราะห์หุ้นแต่ละตัวเป็นหลัก มุ่งความสนใจไปที่ตัวกิจการ ความคุ้มค่าของมูลค่ากิจการ และปัจจัยพื้นฐาน ก่อนที่จะมองภาพใหญ่ในระดับอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจมหภาคประกอบ ในขณะที่การลงทุนแบบ top down มองจากบนลงล่างที่พิจารณาจากประเทศ กลุ่มอุตสาหกรรมหรือเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าก่อน แล้วจึงลงมาที่ตัวกิจการ 

 

ทั้งสองวิธีที่กล่าวมา คือวิธีวิเคราะห์แบบปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า หุ้นดี(Good Stock) เมื่อเมฆฝนผ่านพ้นไป หุ้นเหล่านี้จะมีโอกาสสูง ที่จะกลับมาฟื้นตัวดีได้เหมือนเดิมในโลกหลังโควิต ผลประกอบการผ่านจุดต่ำสุด เริ่มพลิกกลับมาเป็นบวก ไปสู่จุดเดิมที่เคยอยู่ก่อนช่วงโควิด และแน่นอนที่สุดว่า พื้นฐานที่พัฒนาการดีขึ้นเรื่อยๆจะสะท้อนเข้าสู่ราคาหุ้นในที่สุด


เจ้าของหนังสือ Best Seller “ติวหุ้น รวยด้วยวีไอ” และยังเป็นวิทยากรคอร์ส “ลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐานแบบ Value/Growth Investor” ด้วยประสบการณ์ในตลาดทุนกว่า 17 ปี และประสบการณ์ในการเป็นติวเตอร์ บวกกับความเป็นคนอารมณ์ขัน  ทำให้คุณนิ้วโป้งสามารถถ่ายทอดเรื่องยาก อย่างการลงทุน ให้เข้าใจได้ง่าย และยังใช้ภาษา ลีลาที่มีเอกลักษณ์น่าสนใจอย่างยิ่ง จึงทำให้ได้รับเชิญไปบรรยายในงานต่างๆ มากมาย

Facebook

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง