#แนวคิดด้านการลงทุน

ผู้บริหารแบบไหนที่ต้องระวัง

โดย Stock Vitamins - วิตามินหุ้น
เผยแพร่:
98 views

การวิเคราะห์ผู้บริหารเป็นเรื่องสำคัญมากที่นักลงทุนควรดูเป็นอันดับแรกๆ 

 

เพราะต่อให้บริษัทที่เราสนใจลงทุนนั้นจะแข็งแกร่ง ใหญ่โต หรือมีแบรนด์ที่ดีขนาดไหนก็ตาม ถ้าได้ผู้บริหารที่ไม่ดีไม่มีความสามารถ ก็เปรียบเสมือนเราได้กัปตันเรือที่ไม่เก่ง อาจจะไม่สามารถฝ่าพายุไปถึงเป้าหมายปลายทางได้ หรือบางทีเขาอาจจะจอดทิ้งให้เราลอยคออยู่กลางทะเลก็เป็นได้

 

แล้วผู้บริหารแบบไหนที่เราต้องระวัง มาดูกันครับ

 

  1. เป็นคนไม่ซื่อสัตย์ มีประวัติไม่ดี

วิธีที่ผมทำบ่อย คือ เอาชื่อผู้บริหาร กรรมการบริษัท พิมพ์ใน google เว้นวรรค พิมพ์ปั่นหุ้นหรือคดีความก็จะมีรายการขึ้นมา ถ้าให้ดีอย่ามีขึ้นมาจะดีกว่า ทีนี้เราก็จะพอรู้แล้วว่า ในอดีตเขาเคยทำอะไรไม่ดีมาบ้างหรือเปล่า เราจะได้คอยระวังตัว หรือถ้าประวัติไม่โปร่งใสมากๆ เราก็อาจเลือกไม่ยุ่งไปเลยแม้ว่าบริษัทจะดูดีใหญ่โตแค่ไหนก็ตาม

 

  1. เป็นคนไม่มีวิสัยทัศน์ มองแค่ผลงานระยะสั้น

ผู้บริหารที่ดีต้องวาดภาพให้คนเห็นได้ชัดทั้งคนในองค์กร และคนที่อยู่ข้างนอกแบบเรา ต้องเห็นว่าปีนี้จะทำอะไร 3 ปี 5 ปี ข้างหน้า ภาพจะเป็นประมาณไหน เราจะได้รู้ว่าที่ปลายทางนั้นสวยงามหรือขุ่นมัว 

 

แต่ก็จะมีผู้บริหารบางคนที่เน้นผลงานระยะสั้น ทำตัวเลขรายไตรมาส รายปีให้ดี ไม่ได้มองไกลไปในอนาคต บางคนมองว่ามีวาระ 3 ปี ก็เลยรีบสร้างผลงานเผื่อว่าจะได้อยู่ในตำแหน่งต่อ หรือว่าจะได้ย้ายไปคุมส่วนอื่น ประเทศอื่นที่ใหญ่ขึ้น ถ้าเป็นแบบนี้ ระยะสั้นอาจดี แต่ระยะยาวอาจพังก็ได้ เพราะเป้าหมายไม่ชัดเจน และนักลงทุนที่เข้าไปลงทุนเพราะเห็นงบดีไตรมาสนี้ สุดท้ายก็อาจจะขาดทุนในระยะยาวได้

 

  1. กลยุทธ์ดี แต่ปฎิบัติไม่ได้ ใช้คนไม่เป็น

นอกจากวิสัยทัศน์ที่สำคัญแล้ว ผู้บริหารที่ดีต้องเป็นคนวางแผนงานเป็น เลือกลูกน้องที่จะมาปฏิบัติตามแผนงานได้ เพราะกลยุทธ์ที่ดี แต่ถ้าปฏิบัติออกมาไม่ได้ ก็ไม่เกิดผลลัพธ์อะไร เหมือนที่บอกกันว่า A great strategy implemented badly is no strategy at all, because you haven't executed.

 

นอกจาก CEO แล้วผมมักจะชอบดูว่าใครเป็นผู้จัดการ ใครเป็นหัวหน้าทีมทำงานแผนกต่างๆ เพราะเราจะได้เห็นว่า คนกลุ่มนี้เก่งแค่ไหน มีความคิดความอ่านเป็นอย่างไร จะนำสิ่งที่ CEO พูดหรือวาดภาพไว้แล้วทำออกมาให้สำเร็จได้หรือไม่  

 

  1. ทำงานเกินหน้าที่ ไม่เหมาะสมตามเป้าหมาย

เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า หุ้นที่เราลงทุนเป็นแบบไหน เราต้องการอะไรจากบริษัท และผู้บริหารก็ควรทำผลงานให้สอดคล้องกัน ถ้าเราต้องการบริษัทนิ่งๆ โตไปได้เรื่อยๆ แต่ไม่ต้องโตเยอะ ไม่ต้องลงทุนเยอะ เก็บเงินไว้จ่ายปันผลให้เราสูงๆ แต่ถ้าเราเจอผู้บริหารที่กล้าเสี่ยง กล้าลุย ลงทุนหนักเพื่อหา S-Curve ให้บริษัท แบบนี้อาจดีถ้าทำสำเร็จ แต่คำถามคือ เราเลือกบริษัทนี้เพราะต้องการความนิ่งและปันผลสูง ก็จะไม่ตรงสเป็คเรา

 

ในทางกลับกัน เราลงทุนหุ้น Growth ต้องการผลตอบแทน Double Digit อยากให้บริษัทลุย สร้างผลงานใหม่ๆ ลงทุนเยอะๆ แต่ถ้าผู้บริหารเป็นประเภททำงานเรื่อยๆ ไม่กล้าเสี่ยง ไม่ใช้เงิน ไม่ลองอะไรใหม่ แบบนี้ก็ไม่ตรงสเป็คเช่นกัน 

 

 

  1. ทำไม่ได้จริงอย่างที่พูด

ผู้บริหารบางคนพูดว่า ปีนี้จะทำยอดขาย 10,000 ล้านบาท เป็นสถิติใหม่ของบริษัท เราฟังแบบนี้ตาลุกวาว แต่ถ้าเราลองไปดู Oppday ย้อนหลัง หรือดูสัมภาษณ์ปีก่อนๆ เราอาจจะตกใจว่า พี่พูดเป้าหมื่นล้านบาทมาทุกปีเลย แบบนี้แปลว่าไม่เคยทำได้เลย ก็อาจจะไม่ดี หรือมีอุปสรรคอะไรบางอย่างที่ทำให้ไม่ถึงเป้าหรือเปล่า

 

  1. คำพูดสวนทางกับการกระทำ

เราต้องเข้าใจว่าผู้บริหารอาจจะไม่ได้ตั้งใจหลอกเรา แต่จะให้เขาออกมาพูดไม่ดีกับบริษัทก็ไม่ใช่เรื่อง บางทีเราโชคดีเจอคนตรงๆ ถ้างบดีก็บอกว่าดี ถ้ามีตรงไหนไม่ดีก็บอกว่ามีตรงนี้ไม่ดี แต่บางทีเราเจอแบบที่บอกว่า ผลงานดีตามแผน แต่เจ้าตัวขายหุ้นทุกวัน บางทีบอกว่าไม่มีแผนการทำ M&A แต่อาทิตย์ต่อมามีรายงานการซื้อกิจการ บางทีบอกว่างบปกติไม่มีรายการพิเศษอะไร แต่พอประกาศงบ มีรายการ one time ที่คาดไม่ถึงมากมาย

 

  1. มองคนละมุมกับนักลงทุน

ผู้บริหารบางคนทำงานอย่างเดียว ไม่ได้ลงทุนในหุ้นเลย ทำงานดี รับเงินเดือน รับโบนัสตามผลงานไป ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่ว่าก็อาจจะทำให้เขาไม่เข้าใจความต้องการของนักลงทุนได้ ถ้าหุ้นตกติดฟลอร์ 2- 3 วัน หรือหุ้นลิ่งติดกัน เขาอาจจะไม่ได้เสียใจหรือดีใจเหมือนคนที่ถือหุ้นอยู่ แต่ถ้าเขาทำยอดขายทะลุเป้า หรือได้ market share เป็นเบอร์ 1 เขาจะดีใจมากกว่า 

 

ถ้าเราได้ผู้บริหารที่ถือหุ้นบริษัทด้วย ยิ่งดีถ้าภรรยา และลูกถือหุ้นด้วย ก็จะทำให้เขาเข้าใจนักลงทุนมากขึ้น และการที่หุ้นขึ้น ปันผลเพิ่ม เขาก็จะได้ประโยชน์มากขึ้นทั้งครอบครัว ถ้าหุ้นตก กลับบ้านอาจจะเจอภรรยาทัก แบบนี้ก็จะเหมือนทั้งเราและเขาทำงานไปด้วยกัน นักลงทุนจะชอบแบบนี้มากกว่า

 

  1. ผลตอบแทนสูงเกินความจริง

บางครั้ง ผู้บริหารได้เงินเดือน โบนัส เบี้ยประชุม ที่เยอะมาก เมื่อเทียบกับรายได้ กำไรของบริษัท หรือว่าเทียบกับบริษัทคู่แข่ง แบบนี้ก็ไม่ดี เพราะเป็นการจ่ายเงินเกินความสามารถที่บริษัทจะทำได้ หรือบางทีเราไม่รู้ว่าคนที่อนุมัติเงินเดือนคือเจ้าตัวเองหรือเปล่า หรือว่ามีเรื่องอะไรไม่ชอบมาพากลมั้ย ก็มองเป็นความเสี่ยงได้เช่นกัน

 

ต่อให้บริษัทดี แบรนด์แข็งแกร่ง งบการเงินดีแค่ไหนก็ตาม 

ถ้าได้คนไม่ดี ไม่มีความสามารถ หรือไม่เข้ากับบริษัท 

ก็อาจจะไม่คุ้มค่ากับการลงทุนระยะยาวสำหรับเรา


ผู้ชนะแข่งขันโครงการ Stock Writer ของ stock2morrow

https://www.facebook.com/pg/stock.vitamins

Facebook

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง