กำไรบริษัทจดทะเบียนกับตลาดหุ้น - การลงทุนในบริษัทที่มีลูกค้าหลายประเทศ หากดูประเทศอเมริกาเป็นตัวอย่างจะเห็นว่า ในระยะยาวแล้ว กำไรของบริษัทจดทะเบียนกับตลาดหุ้น จะไปด้วยกันเสมอ
การรู้จักปัจจัยพื้นฐานต่างๆที่มีผลต่อการเติบโตของกำไรของบริษัทจดทะเบียนโดยรวม ไม่ว่าจะลงทุนในตลาดหุ้นไทย หรือ ตลาดหุ้นต่างประเทศ น่าจะทำนายได้ดีระดับนึงว่าสมควรจะถือหุ้นในประเทศนั้นๆไปยาวแค่ไหน และน่าจะกำหนดสัดส่วนของพอร์ทการลงทุนไปตามตลาดที่มีโอกาสในการเติบโตระยะยาวที่ดี
ในขณะนี้ที่ประเทศเกิดใหม่รอบๆบ้านเราหลายประเทศ
- มีอายุเฉลี่ยของคนวัยทำงานที่ถือว่าต่ำ
- มีการไหลของเม็ดเงินจากต่างชาติเข้าไปลงทุน
- มีการย้ายฐานการผลิตไปยังแหล่งที่แรงงานถูกกว่า
- มีการค่อยๆเรียนรู้และเข้าไปถึงของเทคโนโลยีอย่างไม่ยากเย็นและรวดเร็ว
- มีบทเรียนของการยกระดับความเจริญก้าวหน้าจากประเทศที่ทำได้ก่อนแล้ว (เช่น จีนใช้เวลายกระดับขึ้นมาเป็นเศรษฐกิจอันดับสองของโลกภายใน 30 ปีเท่านั้น)
ปัจจัยเหล่านี้ถือว่าเป็นปัจจัยบวกต่อกำไรบริษัทจดทะเบียนของประเทศเหล่านั้นทั้งสิ้น หากกำไรบริษัทจดทะเบียนเติบโตต่ำ ในระยะยาวแล้ว ตลาดหุ้นของประเทศนั้นๆก็คงจะ sideway เป็นเวลานาน
แต่ที่น่าสนใจดูจะเป็นตลาดหุ้นญี่ปุ่น หลังจากเกิดฟองสบู่ที่ญี่ปุ่นแตกตั้งแต่ปี 1990 แล้ว กำไรของบริษัทจดทะเบียนปัจจุบันได้เพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับก่อนฟองสบู่แตกเป็นที่เรียบร้อย แต่ก็ดัชนี Nikkei ก็ยังต้องเจอกับ lost decades ต่อไป
น่าสนใจว่าทำไมตลาดหุ้นจึงไม่ตอบสนองต่อกำไรบริษัทจดทะเบียนเหมือนที่ควรจะเป็น บางทีอาจจะเป็นเรื่องของ sentiment โดยรวมของคนญี่ปุ่นต่อตลาดหุ้นมากกว่า
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าจะหาบริษัทดีๆลงทุนไม่ได้ เพราะมีหลายบริษัทมากมายที่สามารถ outperform ตลาดหุ้นญี่ปุ่นในช่วง 2 lost decades ที่ผ่านมาได้เช่นกัน
...แต่หลายๆบริษัทเหล่านั้น "มีตลาดอยู่ทั่วโลก" กำไรของบริษัทเหล่านี้น่าจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้กำไรโดยรวมของบริษัทจดทะเบียนดีขึ้น แม้ว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นก็ยังอ่อนแอ
ดังนั้นสำหรับตลาดหุ้นไทยเอง การหาบริษัทลงทุนที่เริ่มออกไปโตจากตลาดที่มีศักยภาพนอกประเทศได้ น่าจะสร้างผลตอบแทนได้ดีเมื่อเทียบกับบริษัทที่เพิ่งพาการเติบโตในประเทศเพียงอย่างเดียว
ขอบคุณข้อมูลจาก Tradingeconomics และ Federal Reserve Bank of St. Louis
บทความโดย: บูม MoneyCrown / FB: MoneyCrown