ตราสารหนี้ ถือเป็นเครื่องมือทางการลงทุนอย่างหนึ่งที่ความเสี่ยงไม่มากจึงได้รับความนิยมมาทุกยุคทุกสมัยสำหรับนักลงทุนที่ไม่ชอบเสี่ยงสูง และนักลงทุนสถาบันที่เน้นลงทุนในกองทุนตราสารหนี้
ตราสารหนี้จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ
1. ตราสารหนี้ภาครัฐ หรือ Government Bond เรามักจะเรียกกันติดปากว่า "พันธบัตร" ซึ่งหน่วยงานที่สามารถออกพันธบัตรได้ ได้แก่ กระทรวงหรือหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น โดยมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น
>> พันธบัตรรัฐบาล กระทรวงการคลังเป็นผู้ออกเพื่อกู้ยืมเงินจากประชาชน นำมาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ชดเชยการขาดดุลงบประมาณ หรือปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะ เป็นต้น
>> พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจเป็นผู้ออก และมีการค้ำประกันโดยกระทรวงการคลังเพื่อนำมาลงทุนพัฒนาระบบสาธารณูปโภคต่างๆ
>>พันธบัตรออมทรัพย์ ออกโดยกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือหน่วยงานภาครัฐ เพื่อเป็นทางเลือกในการออมและการลงทุน
>>พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ธปท. ออกมาเพื่อนำเงินไปใช้ดูแลสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
>>ตั๋วเงินคลัง กระทรวงการคลังเป็นผู้ออก แต่จะเป็นตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี
2. ตราสารหนี้เอกชน หรือ Corporate Bond เรามักจะเรียกกันติดปากว่า "หุ้นกู้" ออกโดยบริษัทเอกชนต่างๆ เพื่อระดมทุนในการขยายกิจการ ซึ่งต้นทุนทางการเงินของผู้ออกตราสารหนี้ มักจะถูกกว่าการกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ และส่วนใหญ่จะมีการกำหนดระยะเวลาการออก เช่น 3 ปี 5 ปี 7 ปี 10 ปี 20 ปี เป็นต้น หรือหากไม่มีกำหนดระยะเวลาที่เรียกว่า "หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์" (Perpetual Bond) ที่ได้รับความนิยมอยู่ในปัจจุบัน
ผลตอบแทนและความเสี่ยงของหุ้นกู้ของแต่ละบริษัทจะแตกต่างกันออกไป โดยสามารถพิจารณาจากการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) กรณีบริษัทที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับสูง ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ แต่อัตราผลตอบแทนอาจจะน้อยกว่าบริษัทที่มีบริษัทที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับต่ำกว่า ซึ่งมักจะจูงใจนักลงทุนด้วยอัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้น แต่ความเสี่ยงก็สูงตามขึ้นมาเช่นกัน เช่น ถ้าหุ้นกู้ได้อันดับ AAA แสดงว่ามีความเสี่ยงต่ำ แต่ถ้าเจอหุ้นกู้อันดับ B นักลงทุนอาจต้องรับความเสี่ยงมากขึ้นว่ามีโอกาสผิดนัดชำระหนี้
แม้ว่าการลงทุนในตราสารหนี้ ความเสี่ยงจะต่ำกว่าการลงทุนในหุ้น แต่อย่าลืมว่าการลงทุนย่อมมีความเสี่ยง เราจึงควรพิจารณาและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานต่างๆ เกี่ยวกับตราสารหนี้ให้ดีก่อนเริ่มลงทุนทุกครั้งครับ