#แนวคิดด้านการลงทุน

Ethereum กับเส้นทางสู่ Productive Store of Value

โดย Coinman
เผยแพร่:
299 views

Ethereum คืออะไร?

 

หาก Bitcoin คือ Internet of Money ที่มอบอธิปไตยให้กับทุกคน ในรูปแบบเงินดิจิทัล มีการออกแบบให้เก็บมูลค่าได้ในระยะยาว คงทนต่อกาลเวลา ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลง การแทรกแทรงและการควบคุมใดๆ จนได้ชื่อว่าเป็นทองดิจิทัล

 

Ethereum ก็คือ Internet of Value ที่สร้างโดยคอนเซปของการเป็นระบบกระจายศูนย์เช่นกัน แต่มันไม่ได้ออกแบบมาเป็นสกุลเงินสำหรับเก็บมูลค่าเหมือน Bitcoin กลับกัน Vitalik Buterin ผู้ก่อตั้ง Ethereum นั้นมองว่า ในโลกเรามี application ด้านการเงินอีกมากมายที่สามารถทำได้มากกว่า Use case สกุลเงิน จึงได้สร้าง Ethereum เป็น Smart Contract Platform ที่เปิดให้นักพัฒนาสามารถสร้าง application ที่ไร้ตัวกลางและให้ทุกคนสามารถใช้อย่างอิสระไร้พรมแดน จน Ethereum ได้ชื่อว่าเป็น คอมพิวเตอร์ของโลก

 

Ethereum เดินทางมาถึงไหนแล้ว?

ความล้มเหลวในอดีตของ Ethereum

 

ถ้าเล่าย้อนความถึงจุดเริ่มของกระแสนิยมของ Ethereum  เกิดจากกระแสของการระดมทุน ICO ในปี 2017 ที่มีการเขียน smart contract สัญญาในการระดมทุน เมื่อโอนเงินเข้าระเงินตามจำนวนที่กำหนดก็จะได้เหรียญกลับมา ทำให้คนเริ่มมองว่า Ethereum สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงๆ นำไปใช้ระดมทุนรวมได้มากกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์

 

แต่ก็เกิดจุดเปลี่ยนของปี 2017-2018 คือไม่สามารถสร้างโปรเจคที่สำเร็จได้เลย กว่า 90% ล่มสลายไป ทำให้ราคาร่วงเข้าสู่จุดต่ำสุดที่ 70 ดอลลาร์ และสาเหตุที่ล่มสลายคือการที่นวัตกรรมมาเร็วกว่าความต้องการ และความเข้าใจของผู้ใช้งาน

 

ในเมื่อมูลค่าของ Ethereum นั้นสะท้อนจาก product ที่ถูกพัฒนาบนเครือข่ายและการใช้งานแลกเปลี่ยนมูลค่าบนนั้น ดังนั้น Ethereum ต้องหวังพึ่ง dApp ที่มีการใช้งานได้จริง เพื่อที่จะตอบในสิ่งที่นักลงทุนหวัง

 

แน่นอนว่าการล่มสลายของยุค ICO ทำให้ภาพของ Ethereum นั้นเละไม่เหลือชิ้นดี และมาพร้อมกับคำสบประมาทมากมายที่ dApp บน Ethereum นั้นไม่มีอะไรใช้งานได้จริง

 

การมาของ Decentralized Application


ในยุคแรกคนจะมองที่สกุลเงินดิจิทัลเป็นเพียงแค่การรูปแบบของการเปลี่ยนวิธีการชำระเงินเท่านั้น แต่พอมาถึงในยุคหลังที่มีนักพัฒนา dApp มากขึ้นแพลตฟอร์มที่คนมองแรกๆก็เป็น Ethereum จากที่ออกแบบมาเพื่อให้นักพัฒนาสร้าง dApp ต่างๆอยู่แล้ว และมีความ decentralized สูงในอันดับต้นๆ และใน dApp ก็แบ่งเป็น 2 ประเภทหลักๆคือ

 

1. Decentralized Financial (DeFi) 

ระบบการเงินไร้ตัวกลางหรือ DeFi เช่น Uniswap หรือ Compound นั้นจริงๆถูกสร้างมานานแล้ว แต่มาถูกเรียกว่า DeFi เมื่อคนยอมรับและเข้าใจมันมากขึ้น 


DeFi บูมครั้งใหญ่มาจาก platform ที่ชื่อ Compound ที่มีการแจก gov token เป็น reward สำหรับคนที่มาใช้ หรือที่เรียกกันว่า Yield Farming ซึ่งต่อมาก็มี platform อื่นๆนำโมเดลนี้ไปใช้กันมากขึ้น จนเงินในระบบ DeFi ได้โตจาก

  • ต้นปี 2018 มีเงินอยู่ในระบบ DeFi เพียง 50 ล้านดอลลาร์ 
  • สิ้นปี 2019 มีเงินในระบบ 700 ล้านดอลลาร์ (ในช่วงที่คอยน์แมนได้เขียนบทความ The Rise of Ethereum) 
  • สิ้นปี 2020 มีเงินในระบบ 20,000 ล้านดอลลาร์
  • ปัจจุบัน (กรกฎาคม 2021) มีเงินอยู่ในระบบ DeFi มากกว่า 80,000 ล้านดอลลาร์ (จุดสูงสุดทะลุ 1.2 แสนล้านดอลลาร์)

 

2. Non Fungible Token (NFT) & Gaming 

มี Application ต่างๆเกิดขึ้นมากมายทั้งในรูปแบบ Gaming Collectible และ Marketplace เช่น CryptoPunks, Axie Infinity, Decentraland และ Rarible นอกจากนี้เริ่มมีหลายแพลตฟอร์มที่จะนำโมเดลของ DeFi มาผสมกับ NFT อีกด้วย

 

อ้างอิงจาก dappradar ปัจจุบันมี dApp ที่สร้างบน Ethereum มากกว่า 2,000 platform และการที่จะรัน dApp ได้ผู้ใช้งานก็ต้องจ่ายสิ่งที่เรียกว่า Ether(Ethereum) เพื่อนำไปจ่ายเป็นค่าตอบแทนให้คอมพิวเตอร์ทั่วโลกที่ช่วยรันแอพพลิเคชันให้เรา และเมื่อมีผู้ใช้งานเยอะมากขึ้น ความต้องการ Ethereum ย่อมมากขึ้นทำให้ราคา Ethereum ถูกผลักให้สูงขึ้นเรื่อยๆ

 

การเติบโตของค่าธรรมเนียม Ethereum 


การเติบโตของ DeFi ทำให้รายได้หรือค่า Fees ของ Ethereum เติบโตอย่างก้าวกระโดด Q1 2020 เก็บ Fee ได้เพียงแค่ 8 ล้านดอลลาร์ จนมาถึงใน Q1 2021 เก็บ Fees ได้กว่า 1 พันล้านดอลลาร์ กลายเป็นเหมือนธุรกิจหนึ่งที่มีรายได้เติบโตอย่างมหาศาล (ซึ่งตอนนี้ Q1 + Q2 รวมกว่า 3.5 พันล้านดอลลาร์) 

 

และในตอนนี้ Ethereum มีการเก็บ Fee เฉลี่ยรายวันมากถึง 5 ล้านดอลลาร์ในช่วงเดือนนี้อีกด้วย 

 

อย่างไรก็ตามค่าธรรมเนียนที่ว่านี้ไม่ได้เป็นผลประโยชน์โดยตรงกับผู้ถือเหรียญในขณะนี้ เนื่องจาก Proof of Work นั้นไม่ได้ให้ค่า Fee เหล่านี้กับผู้ถือเหรียญ แต่กลับให้กับนักขุดนั่นเอง หมายความว่าตัวเลขนี้คือ P/S (Price to Sales Ratio) ไม่ใช่ P/E (Price to Earning) นั่นหมายความว่า มันเป็นเพียง indicator ให้เห็นถึงศักยภาพ P/E ของ Ethereum ในอนาคตเฉยๆนั่นเอง 

Note:

P/S Ratio เป็นสัดส่วนการเปรียบเทียบมูลค่าตลาดของแพลตฟอร์มกับรายได้

P/E Ratio เป็นสัดส่วนการเปรียบเทียบมูลค่าตลาดของแพลตฟอร์มกับรายได้ที่จ่ายให้กับ Token Holder จริงเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันรายได้ทั้งหมดของ Ethereum จะถูกแจกจ่ายไปยัง Miners อย่างเดียวเท่านั้น Ethereum จึงยังไม่มี P/E มีแต่ P/S

 

เปรียบเทียบระหว่างราคาและรายได้ต่อสัดส่วนราคาของ BTC และ ETH


มาเริ่มที่ Bitcoin กันก่อนในช่วงปี 2018 จะเห็นได้ว่าค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้นใน network หรือรายได้เปรียบเทียบกับราคายังมีสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงอยู่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปจนถึงปีปัจจุบันนี้สิ่งที่เพิ่มขึ้นอย่างเดียวเลยคือราคา แต่สิ่งที่แทบไม่เปลี่ยนแปลงเลย และมีแนวโน้มจะลดลงด้วยคือค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้นใน network แต่ก็อาจจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงภาพของ Bitcoin ที่ดูจะใกล้เคียงความเป็น Store of Value มากกว่าสกุลเงินที่ใช้ในการซื้อสินค้าหรือบริการต่างๆ


ตรงกันข้ามกับ Ethereum ในช่วงปี 2018 ที่มีรายได้ต่อสัดส่วนราคาต่ำในช่วงแรก แต่ค่อยๆเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป จนถึงจุดพีคในช่วงต้นปีนี้เอง จาก product ที่ถูกพัฒนาบน Ethereum จำนวนมากนี้เองที่ทำให้เกิด network effect มีผู้ใช้งานจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จนอาจเปรียบได้ว่าปัจจุบัน Ethereum เป็นเหมือนบริษัทหนึ่งที่ทำรายได้มากถึงวันละ 5 ล้านดอลลาร์

 

อัพเดทที่กำลังจะมาถึงของ Ethereum 

การมาของ EIP 1559 และกลไก “Deflationary” 

การอัพเกรด Ethereum จะเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2021 ที่จะถึงนี้ซึ่งจะเป็นการนำค่าธรรมเนียมบางส่วนไปเผาเหรียญที่มีอยู่ในระบบทำให้เหรียญมีจำนวน supply ที่ลดลงซึ่งก็จะเป็นการส่งผลดีราคาของเหรียญ การอัพเกรดระบบดังกล่าวยังส่งผลให้ค่าธรรมเนียมถูกลงด้วยซึ่งจะส่งผลให้เกิดการใช้งานบนแพลตฟอร์มมากขึ้นอย่างแน่นอน

 

หมายความว่า เป็นครั้งแรกที่ Ethereum จะมีกลไกที่เรียกว่า Deflationary หรือการที่ทำให้จำนวน Supply นั้นลดลงได้ แปลว่า ETH นั้นไม่มี Supply Floor หรือพื้นขึ้นต่ำของจำนวนเหรียญนั้นเอง เพราะมันลดต่ำลงจากพื้นเดิมได้ถ้าเหรียญถูกเผาเยอะ

 

*โมเดลของ Bitcoin นั้นเรียกว่า Disinflationary ที่หมายความว่ามันถูกโปรแกรมที่จำนวนเหรียญที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีนั้นลดลงจนสุดท้ายจะมีจำนวนที่จำกัด ไม่ใช่ Deflationary อย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะ Deflationary คือต้องมีกลไกในการลดจำนวนของเหรียญ 

 

จาก Proof of Work สู่ Proof of Stake

จากเดิมที่ใช้การ์ดจอในการคำนวณ hash เพื่อตรวจสอบการทำธุรกรรมหรือที่เรียกว่าระบบ PoW Ethereum จะเปลี่ยนมาใช้ PoS ซึ่งทำให้ผู้ใช้งานสามารถนำ ETH มาเป็นหลักประกันในการตรวจสอบธุรกรรมได้โดยต้องนำไป stake ในระบบ และก็จะได้ค่าตอบแทนตามสัดส่วนที่นำ ETH ไป stake เปรียบเสมือนการได้ดอกเบี้ยหรือเงินปันผล

 

ซึ่งข้อดีอย่างแรกเลยคืออาจจะทำให้คนต้องการเก็บ ETH เพื่อไว้ในการ stake รับเงินปันผลมากกว่ารูปแบบเดิมที่ขุด ETH ออกมาขายในตลาด และอาจจะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนสถาบันมากขึ้น เพราะกลายเป็นการถือครองเหรียญที่ได้รับเงินปันผลด้วย และก็มีรายได้เติบโตตามการพัฒนาของ dApp ที่มากขึ้นอย่างในปัจจุบัน

 

กำเนิด Productive Store of Value !?

ปัญหาด้าน Economic ของ Ethereum

 

แน่นอนว่าเราเคยได้ยิน 2 ข้อกังขาของ Ethereum ที่คนโจมตีว่ามันเป็น Store of Value ที่ดีไม่ได้

  1. ถือ ETH ไม่ได้อะไร
  2. Supply ไม่มีจำกัด
  3. กลไล Economic สามารถถูกเปลี่ยนแปลงได้เสมอ

ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ต้องแปลกใจ เนื่องจากมันคงไม่มีอะไรแย่ไปกว่าสินทรัพย์ที่คนถือนั้นไม่ได้ส่วนแบ่งรายได้อะไร แถมดันมีจำนวนเหรียญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆแล้วไปอยู่ในมือคนขุดที่ไม่ได้ถือเหรียญอีกด้วย

 

แต่ก็ไม่ต้องแปลกใจครับ เนื่องจากกลไกนี้เป็นความตั้งใจของ Vitalik คือต้องการสร้างระบบที่ดีไม่ใช้เงินที่ดี การมี Inflation ในระดับที่เหมาะสมเป็นสิ่งที่ดีเพื่อจ่ายค่าธรรมเนียมแก่ผู้ที่มาช่วยตรวจสอบการทำธุรกรรม โดยปัจจุบันเฟ้อประมาณปีละ 4% ซึ่ง ETH นั้นไม่ได้ถูกออกแบบในเชิง Economic มาให้สำหรับเก็บมูลค่าเหมือนกับ BTC ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้กำลังจะถูกแก้ในไม่ช้า อย่างที่กล่าวไป ETH จะถูกเผาด้วยโมเดล deflationary ที่ทำให้ไม่มี Supply Floor อีกต่อไป


อีกทั้งการถือ ETH ยังสามารถนำไป Stake ใน ETH 2.0 เพื่อเป็นส่วนนึงของระบบและรับ reward และส่วนแบ่งค่าธรรมเนียมได้อีกด้วย

 

ส่วนในด้านข้อเสียที่ว่า Economic มันอาจถูกเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลานั้น อาจดูไม่ดีในมุม Hard Money แต่ในมุมกลับ ถ้าเราต้องการแพลตฟอร์มที่เติบโตอย่างรวดเร็วด้วย Innovation ใหม่ๆ และผู้ถือเหรียญได้รับประโยชน์โดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงนั้น เราอาจมองเป็นเรื่องดีก็ได้ครับ นึกภาพ Ethereum เป็นบริษัทที่รันด้วย Community และมี Stakeholders ต่างๆที่ต้องพยายามเสนออะไรที่เป็นผลประโยชน์สูงสุดแก่ Ethereum ในระยะยาว ร่วมกันผลักดันปรับปรุงแพลตฟอร์มนั้นให้ดียิ่งขึ้นตลอดเวลา 

 

ซึ่งผลลัพทธ์น่าจะเห็นกันอยู่แล้วว่า Ethereum มีผลผลิตแอปพลิเคชั่นมากมายให้เราใช้กัน ซึ่งต่างจาก Bitcoin เอง หรือเราจะพูดก็ได้ว่าถ้า Ethereum มี Economic แบบนั้น เราอาจจะยังไม่มีแอปพลิเคชั่น DeFi ที่เปิดโลกการเงินใหม่ๆ ที่มีมูลค่ามหาศาลอย่างทุกวันนี้ก็เป็นได้ 

 

*ไม่ใช่ว่า Bitcoin Economic มันไม่ดี แต่มันอาจเพียงไม่เหมาะต่อ Innovation ก็เป็นได้ และในความเห็นส่วนตัว เราก็คงไม่อยากให้ Bitcoin เป็นเหมือน Ethereum หรือมีการเปลี่ยนแปลงง่ายๆแบบนี้ เพราะเรามองมันเป็น Hard Money ที่มั่นคงและทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงจนทุกคนเชื่อใจได้เหมือนทองคำนั่นเอง

 

คุณสมบัติของ ETH ในอนาคต

 

ETH นั้นพิเศษกว่าสินทรัพย์ด้าน Traditional และได้ควบทั้ง 3 คุณสมบัติของสินทรัพย์ด้วยกัน คือ 

 

1. Consumable Asset คือ การที่สามารถใช้งานมันได้ เช่นการใช้งาน ETH ให้เป็นค่าแก๊สในการทำธุรกรรม 

 

2. Capital Asset คือ การที่สามารถสร้างรายได้จากสินทรัพย์นั้นได้ เมื่อ Ethereum ใช้ระบบ PoS ก็จะเป็นการเปิดให้ผู้ที่ถือ ETH นำไป staking และรับส่วนแบ่งรายได้ที่เกิดขึ้นใน network ได้

 

3. Store of Value คือ สินทรัพย์ที่เก็บรักษามูลค่าได้ ซึ่งนอกจาก ETH ได้รับคุณสมบัติที่ 1 และ 2 จะทำให้คนรู้สึกเหมือนมันเก็บมูลค่าได้แล้ว ตัวมันเองก็ยังสามารถนำไปค้ำวางในระบบ DeFi ต่างๆซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการที่คนเก็บมูลค่าในตัวมันในระยะยาวอีกด้วย 

 

ด้วยคุณสมบัติทั้งหมดนี้ ส่งผลให้การที่จะอธิบายให้คนเข้าใจว่า Bitcoin ควรมีมูลค่าเพราะอะไร นั้นยากมากกว่า ETH อย่างแน่นอน เพราะเนื่องจาก ETH มี utility อย่างชัดเจน ที่มองเห็นได้ง่าย มีรายได้เกิดขึ้น และได้รับปันผลเป็นส่วนแบ่งซึ่งใกล้เคียงกับหุ้น ซึ่งนักลงทุนมักจะเข้าใจและชื่นชอบ Productive Store of Value หรือสินทรัพย์ที่เก็บรักษามูลค่าได้ แถมนำไปใช้งานได้อย่างชัดเจนมากกว่า

 

ลองมาดูผลลัพธ์จากการเติบโตของแอปพลิเคชั่นบน Ethereum กันดีกว่า

  • ค่าธรรมเนียมที่เก็บได้จริงมากกว่า 3.5 พันล้านดอลลาร์ในครึ่งปี 2021 ที่ผ่านมา
  • เหรียญที่ออกบน Ethereum ที่มีมูลค่ากว่า 1.1 แสนล้านดอลลาร์
  • เหรียญ Stablecoin บน Ethereum ที่มีมูลค่ามากกว่า 9.6 หมื่นล้านดอลลาร์
  • ETH ที่ถูกล็อคอยู่ในระบบมากกว่า 8.9 ล้าน ETH

นี่คือความสำเร็จ ความน่าเชื่อถือที่จับต้องได้ และพิสูจน์ต่อนักลงทุนว่า ETH ที่เราเห็นนั้นจะเป็นทั้ง หุ้นของระบบ น้ำมันของระบบ และที่เก็บมูลค่าของระบบ (ที่สามารถนำไปใช้วางค้ำในแพลตฟอร์มต่างๆได้) 

 

ขอย้ำนะครับว่า ไม่ได้แปลว่าอย่างใดอย่างหนึ่งต้องมีมูลค่ามากกว่า หรือใครถูกหรือผิด ประเด็นนี้อยู่ที่ อะไรคนส่วนใหญ่เข้าใจง่ายกว่า คลิ๊กกว่า ซึ่งสำหรับการลงทุนแล้ว สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ถ้าคนเข้าถึงหลักคิดมันง่ายกว่า การจะเกิด Network effect ในด้านการลงทุนก็ง่ายกว่าเช่นกัน 

 

Narrative กับเรื่องราวที่น่าสนใจนับจากนี้

 

Su zhu และ Kyle Davis ที่เป็นผู้ก่อตั้ง Three Arrows Capital ได้มาพูดถึงโอกาสที่ ETH flip BTC ไว้อย่างน่าสนใจ

 

นักลงทุนกำลังดูการต่อสู้กันระหว่าง ฝั่ง ETH ที่ดูมูลค่าของการเติบโตของเครือข่ายและการเกิด Uitility VS ฝั่ง BTC ที่ดูมูลค่าจากความเชื่อที่ว่า BTC จะกลายมาเป็นสกุลเงินหลักของโลก
ตัวชี้วัดหลายอย่างของ ETH เริ่มดีกว่า BTC ไม่ว่าจะเป็นจำนวนการทำธุรกรรม หรือรายได้
ผู้คนรวมถึงนักลงทุนสถาบันจะชื่นชอบการถือ Asset ที่สร้าง yield ให้ได้มากกว่าการ (Productive Store of Value) มากกว่า Asset ที่จะเพิ่มความมั่งคั่งจากราคาที่เพิ่มขึ้นเพียงอย่างเดียว (Non-Productive Store of Value)


คาดการณ์ว่า ETH ควรจะมีมูลค่า 0.1 – 0.15 ต่อ Bitcoin  และจะมีโอกาสที่มีมูลค่าตลาดแซง Bitcoin 


ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการพูดถึง Monetary Value ซึ่งรวมไปถึงประวัติศาสตร์ของเงินตรา, Fiat money vs. Hard money และน้าวโน้มให้อินกับ Bitcoin นั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก

 

ในทางกลับกันถ้าเรามอง ETH เป็น Productive Store of Value ที่นอกจากจะเป็นทั้งน้ำมันและที่ค้ำมูลค่าของระบบที่ขับเคลื่อนโลกการเงินยุคใหม่ มันยังเป็นเสมือนหุ้นของบริษัท Start-up ยักษ์ใหญ่บริษัทหนึ่ง ที่สามารถปันผลหรือให้ผลประโยชน์แก่ผู้ถือครอง จากรายได้ที่เกิดขึ้นจริง ก็จะทำให้นักลงทุนโดยเฉพาะฝั่ง Traditional ให้ความสนใจที่จะมาลงทุนในบริษัทที่ชื่อว่า Ethereum อย่างมหาศาลแน่นอน 

 

ที่สำคัญ ภาพพจน์ของ Ethereum จะเป็นมิตรต่อภาครัฐ เนื่องจากภาพของมันไม่ได้มาทำให้รัฐสั่นคลอนเหมือนกับ Bitcoin ที่เกิดขึ้นมาเพื่อชนกับเงินของรัฐโดยตรง (ไม่ได้แปลว่าอันไหนดีกว่าอีกอันนะครับ มันแค่เป็น perception ที่ทำให้รัฐกล้าเปิดทางให้นักลงทุนและคนใช้งานมากกว่าเท่านั้น) 

 

ปิดท้าย

สำหรับนักลงทุน เราต้องมองหา Narrative ใหม่ๆอยู่เสมอ และด้วยแนวคิด Productive Store of Value ของ Ethereum นี่เองที่อาจจะเป็นสิ่งที่น่าเผยแพร่สู่สาธารณะชน มากกว่าแค่เรื่องราวของ Bitcoin และสงครามเงินตราเพียงเท่านั้น

 

Ethereum นั้นมาเปิดมุมมองใหม่ๆ ว่าโลกของสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ได้มีแค่แนวคิดของสกุลเงิน ไม่ใช่ทุกเหรียญจะต้องการเป็นเงินในอุดมคติเหมือน Bitcoin หรือเป็น Digital Gold 

 

กลับกัน Ethereum คือแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้คนสามารถสร้างสรรค์แอปพลิเคชั่นไร้ตัวกลางและสิ่งใหม่ๆให้กับโลกนี้อยู่เสมอ ระบบที่ ever-changing และมีการพัฒนาอย่างสม่ำเสมอโดย Dev Community ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และ ETH นี้เองคือทรัพยากรดิจิทัลที่เป็นส่วนสำคัญของระบบและที่ได้รับผลจากมูลค่าที่เติบโตขึ้นของระบบ และมีคุณสมบัติที่ดึงดูดให้คนสนใจเก็บมูลค่าในแบบฉบับของมัน

 

ถ้าเราเชื่อในคอมพิวเตอร์ของโลกนี้ ว่ามันจะปรับตัวได้อย่างยั่งยืน ว่ามันจะมีแอปพลิเคชั่นที่มีประโยชน์ยิ่งขึ้น หรือคาดว่าในอนาคตโลกการเงินทั้งใบอาจจะไปวิ่งอยู่บนนั้น เราก็สามารถเริ่มมีส่วนร่วมง่ายๆด้วยการที่เรามี ETH ในมือครับ 

 

“คำเตือนความเสี่ยง: การซื้อขายหรือลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล มีระดับความเสี่ยงที่สูง ผู้ลงทุนมีโอกาสที่จะสูญเสียเงินลงทุนทั้งหมด จึงไม่ควรซื้อขายหรือลงทุน เว้นแต่ว่าผู้ลงทุนจะได้ทำเข้าใจอย่างถ่องแท้เรื่องความเสี่ยงเกี่ยวกับการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล และเมื่อทำการซื้อขายหรือลงทุน ผู้ลงทุนควรพิจารณาระดับประสบการณ์ ศึกษารายละเอียดและติดตามข้อมูลข่าวสารของสินทรัพย์ดิจิทัลจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ก่อนการตัดสินใจลงทุน”

 

หลักสูตร :: Cryptocurrency & Digital Asset  101::

เชื่อว่าหลายคนเข้ามาสู่โลกของเงินดิจิทัลได้ เพราะ Bitcoin

ซึ่งพอได้ลองเทรดบิตคอยน์แล้ว ก็น่าจะเห็นว่าจริงๆแล้ว มีเหรียญหรือสกุลเงินดิจิทัล นอกจากบิตคอยด์ อีกหลายพันสกุล

ในหลักสูตรนี้ เราจึงจะพาผู้เรียนทุกคนมา

เข้าใจเหรียญให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสทำเงินให้มากขึ้น

เรียนสดออนไลน์ ผ่านโปรแกรม Zoom 

ในวันที่ 31 ก.ค. - 1 ส.ค. 64  ( 2 วัน )

#สะดวก #คุ้มค่า #สามารถดูย้อนหลังได้ 

ดูรายละเอียด..สมัครได้เลยที่ >> https://bit.ly/3ziYIoP


ประธานกรรมการบริษัท Cryptomind
ผู้ก่อตั้งเพจ Coinman และ CEO Merkle Capital กองทุนสินทรัพย์ดิจิทัล 

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง