#ลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐาน

จุดอ่อนการใช้ P/E

โดย เมธาวี หอมทวี
เผยแพร่:
241 views

 

เชื่อว่านักลงทุนหลายๆคนคงจะคุ้นเคยกับอัตราส่วนตัวนี้เป็นอย่างดี  P/E

 

P/E เป็นตัววัดว่าหุ้น ณ ขณะปัจจุบันถูกหรือแพง แต่เชื่อว่าหลายๆคนก็อาจจะติดกับดักของอัตราส่วนตัวนี้เหมือนกันค่ะ

 

P/E เป็นวิธีการวัดมูลค่าหุ้นอย่างหนึ่ง ซึ่งเราจะเรียกวิธีนี้ว่า price multiples valuation (อัตราส่วนราคา)  จริงๆแล้วการวัดมูลค่ามีหลากหลายวิธีด้วยกันค่ะ แต่ P/E เป็นวิธีที่นิยมกันมากที่สุด และเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการประเมินมูลค่า  เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจว่าจะซื้อหุ้นตัวนี้ดีหรือไม่

 

 

แต่ว่า P/E ก็ยังมีจุดอ่อนอยู่หลายข้อด้วยกัน ถ้าเราลองพิจารณาดูดีๆจะเห็นว่า อัตราส่วน P/E ที่รายงานในตลาดหลักทรัพย์เป็น P/E ปัจจุบัน โดยใช้ราคาปัจจุบัน (P= Price) หารด้วยกำไรต่อหุ้น (E=Earnings per share) แต่การเลือกซื้อหุ้นตามทฤษฏีมักจะอยู่บนพื้นฐานที่ว่า รายได้และกำไรในอนาคต ควรจะเติบโตมากกว่าปัจจุบัน และราคาหุ้น ณ ปัจจุบันยังถูกกว่ามูลค่าที่แท้จริง

 

จากทฤษฏีจริงๆแล้ว P/E มีอยู่สามแบบด้วยกันดังนี้ค่ะ

 

1.  Current P/E           ค่า E  ใช้ Earning ปัจจุบัน หารด้วยจำนวนหุ้นทั้งหมด

 

2. Trailing P/E           ค่า E  ใช้กำไรต่อหุ้น 12 เดือนบวกกัน และ หารด้วยจำนวนหุ้นทั้งหมด

 

3. Forward P/E          ค่า E  เป็นค่าที่คาดการณ์กำไรในอนาคต  หารด้วยจำนวนหุ้นทั้งหมด

 

แน่นอนค่ะว่ามีเพียง “กำไรต่อหุ้นเท่านั้น”  ที่สะท้อนออกมาจากงบการเงิน และเป็นเพียงแค่ข้อมูลจากงบกำไรขาดทุนเท่านั้น

 

ดังนั้น P/E จึงไม่ได้สะท้อนถึงเงินสด รวมถึงหนี้ของบริษัท ที่เป็นข้อมูลที่เราจะหาได้จากงบดุล

 

การที่ P/E ไม่ได้สะท้อนให้เราเห็นถึงงบดุลนั้น เราจึงไม่สามารถประเมินความสามารถในการสร้างเงินสดของบริษัทได้อย่างครบถ้วน

 

ยกตัวอย่างเช่น  หากในบางอุตสาหกรรมที่ใช้เงินลงทุนสูง บริษัทเหล่านั้นจะมีเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่สูง ส่งผลให้มีการตัดค่าเสื่อมเป็นจำนวนมาก และอาจจะแฝงการด้อยค่าอยู่ในสินทรัพย์ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า P/E ที่ตลาดให้ค่าของแต่ละอุตสาหกรรมจึงมีค่าไม่เท่ากัน

 

การประเมินมูลค่าจึงต้องดูหลายๆปัจจัย ไม่ใช่เพียงแค่อัตราส่วนตัวใดตัวหนึ่งเท่านั้นค่ะ เพื่อที่เราจะสามารถเห็นความสามารถและการดำเนินงานของบริษัทในทุกด้าน

 

การประเมินมูลค่าเป็นเพียงการ “คาดเดา” ทิศทางราคาเท่านั้น ดังนั้นสิ่งที่จะทำให้การคาดเดาของเราใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุดก็คือ เราต้องมีข้อมูลของหุ้นและเข้าใจบริษัทนั้นๆมากพอก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน 

 

.. และไม่สามารถหลีกเลี่ยงการดูงบการเงินได้ค่ะ เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายสำหรับมือใหม่ แต่ก็ไม่ยากเกินความสามารถของทุกคนนะคะ

 


จบการศึกษาด้าน International Business Finance จากประเทศอังกฤษ ก่อนจะมาทำงานด้านการเงินและ Corporate Finance ให้กับสถาบันการเงินระดับโลกแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ นอกจากนั้น ยังมีความสนใจด้านการลงทุนแนวพื้นฐาน (Fundamental Analysis) เป็นพิเศษ และมีผลงานแปลหนังสือให้กับสำนักพิมพ์ stock2morrow อีกด้วย

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง