ถ้าพูดถึงเรื่องของวิกฤตเศรษฐกิจของไทยแล้ว คนก็มักจะพูดถึงวิกฤตต้มยำกุ้ง ที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของไทย
และในปัจจุบันที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือ วิกฤต COVID-19 ที่กำลังเป็นปัญหากันอยู่ตอนนี้ เพราถ้าเราสังเกตดีๆ มันไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว มันยังเป็นเรื่องของปากท้อง สาธารณสุข ความเหลื่อมล้ำ ปัญหาการคอรัปชั่น ปัญหาการเมือง และที่แรงที่สุดคือความเป็นความตายที่นับวันจะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นจนควบคุมไม่ได้
แต่ถ้าพูดถึงในมุมมองของเศรษฐกิจและอนาคตของประเทศจริงๆ เรามาดูกันว่าวิกฤตทั้ง 2 ครั้งแตกต่างกันอย่างไร เปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง และอนาคตของประเทศไทยอยู่ตรงไหน
... มาวิเคราะห์กันครับ
1. ความแตกต่างของทั้ง 2 วิกฤต
วิกฤตต้มยำกุ้ง กระทบกับคนชั้นบน กลุ่มคนรวย สถาบันการเงิน นี้ถือเป็นวิกฤตของคนที่มีเงิน แต่ก็เป็นโอกาสของกลุ่มส่งออก ท่องเที่ยว โรงแรง เพราะค่าเงินบาทของเราอ่อนไปถึง 50 กว่าบาท
คนชั้นกลางที่ตกงานจากสถาบันการเงิน ก็ใช้เวลาไม่นานในการหางานใหม่เป็นธุรกิจการท่องเที่ยวหรืออุตสาหกรรมเรื่องของการส่งออก
... แต่สำหรับโควิด ไม่ใช่แบบนั้น ธุรกิจที่กระทบมากสุด คือ SMEs นั้นส่งผลถึงคนระดับกลาง ถึงระดับล่าง จะหางานใหม่ก็ไม่ได้เพราะปิดกันหมด ในขณะที่คนรวยนั้นกระทบไม่เยอะ อาจจะกำไรน้อยลงแต่ก็ยังรวยอยู่ ยังสามารถใช้จ่ายได้
ว่ากันว่าในวิกฤตมีโอกาส อย่างต้มยำกุ้ง ก็เป็นโอกาสของการลงทุน ของคนที่มีเงินเก็บ
แต่สำหรับวิกฤตโควิดครั้งนี้ แทบจะไม่มีโอกาสเลยในการลงทุน มันลงเร็วและขึ้นเร็วอาจจะเพราะว่ามีนักลงทุนที่มีความรู้จำนวนมากเข้ามาลงทุนในตลาด อีกทั้งคนรุ่นใหม่ก็ได้ความมั่งคั่งมาจากคนรุ่นเก่าๆ ที่เคยสะสม เข้ามาลงทุนในตลาด
2. ความรุนแรงครั้งใหม่ที่ยังยืดเยื้อ และการแก้ไขปัญหาที่ล่าช้า
ในมุมของการลงทุนแล้ว วิกฤตครั้งไหนแรงกว่ากัน
ถ้าพูดในเชิงเศรษฐกิจ ก็ต้องบอกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งรุนแรงกว่า คนเป็นหนี้จำนวนมาก และดูเหมือนว่าช่วงแรกวิกฤตโควิดจะ "เบากว่า" ความหวังเรื่องของการ LockDown รอให้ประเทศต่างๆค้นหาวัคซีน เรื่องของโรคระบาดก็น่าจะผ่านพ้นไปได้
แต่ด้วยความล่าช้า การทำงานแบบ "รัฐราชการ" ปัญหาของวัคซีนที่สังคมตั้งคำถาม ทำให้โรคระบาดแรงเกินที่จะควบคุมทำให้วิกฤตโควิดครั้งนี้แรงกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง
สรุป วิกฤตโควิดรุนแรงกว่าเนื่องมาจากการแก้ปัญหาที่ล่าช้า ...
3. ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
ต้องยอมรับว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสถาบันการเงิน การควบคุมของแบงก์ชาติที่รัดกุมมากขึ้น การจัดระเบียบใหม่-กฏเกณฑ์ใหม่ นั้นทำให้สถาบันการเงินของเราแข็งแกร่งมาก มันเป็นวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤต
ในขณะที่วิกฤตโควิดของไทย ไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย อีกทั้งทำให้คนไทยได้มองเห็นว่าการทำงานของภาครัฐยังล่าช้า ระบบรัฐราชการไม่สามารถอยู่ได้ในปัจจุบัน
เรายังคงพึ่งอุตสาหกรรมเก่าๆ เน้นแรงงาน เน้นส่งออก ยังเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ไม่ได้มีนวัตกรรมอะไรมาก หรือแม้แต่การท่องเที่ยว ที่ภาครัฐบอกว่าจะสนับสนุน แต่ก็ยังไม่ได้เห็นผลงานอะไรแบบเป็นเรื่องเป็นราว ทำให้ดูเหมือนว่าประเทศไทยยัง "ตามหลัง" อยู่มาก
4. สุดท้ายประเทศไทยก็จะผ่านไปได้
วิกฤตครั้งนี้มันก็จะผ่านพ้นไป ประเทศไทยก็จะกลับมาได้ วิกฤตมันก็ต้องจบ แต่คำถามสำคัญคือ หลังจากนั้นละ ?
ในขณะที่ประเทศอื่นมีการพัฒนามากมาย เทคโนโลยี การศึกษา นวัตกรรม สตาร์ทอัพ ... แล้วประเทศไทยละ ?
ประเทศไทยจะเอาดีด้านอะไร ... การท่องเที่ยวใช่ไหม ? หรือจะเป็นส่งออก ?
หรืออะไรยังไง เหมือนกับว่าเราไม่ได้มีการพัฒนาอะไรใหม่ๆให้ชัดเจนขึ้น
ประเทศไทยจะกลับมาอยู่ที่เดิม คือก่อนช่วงปี 2562 ได้อย่างแน่นอน แต่หลังจากนี้ประเทศไทยอยู่ตรงไหนก็ยังไม่มีความชัดเจน
ปัจจุบันทั่วโลกสามารถเชื่อมต่อกันได้สะดวกมากขึ้น เป็นระดับ Global ไปแล้ว เมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้น ประเทศไทยก็จะฟื้นตาม แต่เป็นการฟื้นแบบ "มาทีหลัง" คือ มันต้องฟื้น แต่ไม่ได้ฟื้นจากตัวเอง แต่เป็นการฟื้นแบบคนอื่น "ฉุดกระฉากลากถู"
ตัวอย่างเช่น อย่างเรื่องของวัคซีน ถ้าประเทศอื่นเขาฉีดกันเกือบครบแล้ว มีภุมิคุ้มกันหมู่แล้ว แต่ของไทยยังฉีดกันน้อง ต่างประเทศก็อาจจะบริจาคส่วนที่เหลือๆมาให้
... ประเทศไทยจะเป็นลักษณะแบบนี้ คือ ฟื้นแต่เป็นการฟื้นทีหลัง เดินตามข้างหลังโดยตลอด
โดยสรุปแล้ววิกฤตโควิดรุนแรงกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งด้วยสาเหตุมาจาก "ความล่าช้า" ทำให้เกิดผลกระทบในหลายมิติ ไม่ใช่แค่เศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงเรื่องปากท้อง ชีวิตความเป็นอยู่ ระบบสาธารณสุข และที่สำคัญที่สุดคือ ความเป็นความตาย
... แต่ท้ายที่สุด วิกฤตครั้งนี้มันก็จะผ่านไปได้ในท้ายที่สุด เพียงแต่ประเทศไทยจะยังอยู่ที่เดิมท่ามกลางความไม่ชัดเจนของประเทศว่าจะไปทางไหน ในขณะที่ทั่วโลกต่างก็เดินหน้าสร้างอะไรใหม่ๆมากมาย สร้างนวัตกรรม สร้างเทคโนโลยีเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต
ประเทศไทยจะกลับมาได้เหมือนก่อนเหตุการณ์โควิด แต่หลังจากนั้นคือเราอาจจะกำลังหลงทางอยู่