สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ประเทศไทยกำลังพิจารณาเก็บภาษีขายหุ้นจากนักลงทุนรายย่อยในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติม ซึ่งแหล่งข่าว 3 แห่ง ให้ข้อมูลที่ตรงกัน
โดยเนื้อหาระบุว่ารัฐบาลกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการยุติการยกเว้นภาษีซื้อขายหุ้น ซึ่งมีแนวคิดมาตั้งแต่ปี 2534 โดยภาษีดังกล่าวจะเรียกเก็บที่ 0.11% สำหรับนักลงทุนที่มีปริมาณการซื้อขายมากกว่า 1 ล้านบาทต่อเดือน
"รัฐบาลต้องการหาวิธีสร้างรายได้มากขึ้น แต่แผนนี้อาจทำให้นักลงทุนกลัว" แหล่งข่าวกล่าว
แนวคิดนี้คล้ายกับภาษี Tobin ที่ใช้กับธุรกรรมทางการเงินที่คล้ายกับในอินเดียและไต้หวัน
แหล่งข่าวระบุว่า นี่เป็นส่วนหนึ่งของวาระการปฏิรูปภาษีของรัฐบาล ซึ่งอยู่ระหว่างตอนการศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้น
สำหรับแผนการเก็บภาษีของไทยคือ มีความพยายามที่จะเก็บภาษีจากคนรวยและอยู่ในขั้นตอนการศึกษาแนวคิด แต่ไม่มีกรอบเวลาดำเนินการที่แน่นอน
ปัจจุบันประเทศไทยเก็บภาษีกำไรจากการลงทุนจากสถาบันในประเทศและต่างประเทศ แต่นักลงทุนรายย่อยได้รับการยกเว้น โดยในปีนี้ดัชนีของ SET เพิ่มขึ้นถึง 9%
รัฐบาลได้ศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดเก็บภาษีกำไรจากการลงทุนของนักลงทุนรายย่อยในอดีต แต่อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่ได้รับการตอบสนองต่อข้อมูลดังกล่าวจากฝั่งของหน่วยงาน หลังจากที่ทางรอยเตอร์พยายามติดต่อเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ขอออกความคิดเห็นกรณีที่ภาครัฐอยู่ระหว่างศึกษาเก็บภาษีซื้อขายหุ้น อ้างอิงจากสื่อต่างประเทศรอยเตอร์และบลูมเบิร์ก เนื่องจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการตัดสินใจ และแนะนำสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
ด้าน นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) ระบุว่า สำนักข่าวรอยเตอร์และบลูมเบิร์ก รายงานปัจจัยที่อาจเป็นลบกดดันตลาดหุ้นไทย ประเด็นภาครัฐกำลังพิจารณาเรียกเก็บภาษีการขายหุ้นที่ 0.11% สำหรับนักลงทุนที่ซื้อขายเกิน 1 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งภาษีดังกล่าวได้ถูกผ่อนผันมาตั้งแต่ปี 2534 โดยทีมกลยุทธ์คาดว่าน่าจะเป็นแผนปฏิรูปภาษีที่กำลังพิจารณาในขั้นต้นเท่านั้น แต่ยังไม่มีรายละเอียดชัดเจน และแนะนำให้ติดตามข่าว
-----------------------------------------------------
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
สำนักข่าวรอยเตอร์