หนังสือ The Intelligent Investor เขียนโดย เบนจามิน เกรแฮม ผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็น “บิดาแห่งการลงทุนแบบเน้นคุณค่า”
นักลงทุนระดับโลกอย่างวอเรน บัฟเฟตต์ ยังยกย่องว่า เล่มนี้เป็นหนังสือการลงทุนที่ดีสุดในโลก
และนี่คือ 7 ข้อคิดหลักการลงทุนจากปลายปากกาของเกรแฮม ที่ไม่ว่าตลาดหุ้นจะเปลี่ยนไปกี่ยุคสมัย แต่ยังคงใช้ได้เสมอ
1. ถามตัวเองก่อนว่าเป็นนักลงทุน หรือนักเก็งกำไร
บางครั้งคนที่เล่นหุ้น ก็ไม่จำเป็นต้องได้ชื่อว่า ‘นักลงทุน' เสมอไป บางคนหวังจะมาเอาเงินจากตลาดหุ้นโดยใช้ระยะเวลาอันสั้น กะจะรวยข้ามคืน
แต่ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะความต้องการของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน เพียงแต่ต้องแยกให้ออกระหว่างการลงทุน กับการเก็งกำไร และต้องรู้จักตัวเองว่าเราเป็นสายการลงทุนแบบไหน
โดยเกรแฮมได้นิยามให้เข้าใจแบบนี้ครับ การลงทุนนั้นเป็นการกระทำที่วิเคราะห์อย่างละเอียด จะมีองค์ประกอบ 3 อย่างด้วยกัน คือ
- วิเคราะห์บริษัท และรู้พื้นฐานบริษัทก่อนซื้อหุ้น
- ป้องกันตัวเองจาการขาดทุนอย่างหนัก
- มุ่งหวังผลตอบแทนที่พอเพียง ไม่ใช่ผลตอบแทนสูงเวอร์
หากใครที่ไม่ได้คิดบนหลักการ 3 ข้อนี่ แสดงว่าคุณเป็นนักเก็งกำไรเท่านั้น เพราะนักลงทุนจะคำนวณหามูลค่าที่แท้จริงของธุรกิจ แต่นักเก็งกำไรจะให้มูลค่าหุ้นตามราคาตลาดในแต่ละวัน
“อย่าหลอกตัวเองว่าลงทุน ทั้งๆที่คุณกำลังเก็งกำไรอยู่”
2. ยิ่งหวังผลตอบแทนสูงเท่าไหร่ ตลาดจะมอบความผิดหวังให้สูงเท่านั้น
เป็นเรื่องปกติที่นักลงทุนทุกๆคน มักจะคาดหวังกับหุ้นที่เราซื้อไปจะให้ผลตอบแทนออกมาสูง แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เรามักคาดหวังผลตอบแทนในอนาคตของหุ้น เรามักจะถูกตลาดมอบความผิดหวังให้เสมอ เช่น ผลตอบแทนออกมาน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้
เพราะฉะนั้น เราควรลดความคาดหวังจากผลตอบแทนที่คิดไปเอง เพราะผลตอบแทนที่แท้จริงของหุ้นจะมาจากการเติบโตของบริษัทต่างหาก (เพิ่มขึ้นทั้งผลกำไร และเงินปันผล)
ความอ่อนน้อมถ่อมตนจะช่วยปกป้องความเสี่ยง กับมุมมองในอนาคตที่ไม่มีใครรู้
3. ใช้การมีวินัยแทนการคาดเดา
นักลงทุนผู้ชาญฉลาด ในความของแกรแฮมคืออะไร เขาได้ให้คำนิยามแบบนี้ครับว่า ความชาญฉลาดของนักลงทุนนั้นไม่ได้เกี่ยวอะไรกับ IQ หรือ วุฒิการศึกษาเลย
ความหมายที่แท้จริงของมันก็คือ ความอดทน ความมีวินัย มองบริษัทให้ออกมากกว่าคาดเดา เกรแฮมอธิบายไว้ว่า ความชาญฉลาดเรื่องลงทุนนั้นเป็นไปในเชิงคุณลักษณะมากกว่าสมอง
4. การลงทุน คือการแข่งกับตัวเอง
หลายๆครั้งเรามักจะได้ยินคำนิยามจากนักลงทุนด้วยกันเองว่า ตลาดเป็นเรื่องของ Money Game เป็นสงครามระหว่างรายย่อยและรายใหญ่ การเทรดเพื่อความอยู่รอด ซึ่งมันก็ถูกต้อง
แต่มุมมองของเกรแฮมต่างออกไป เขามองว่าการลงทุนนั้นเป็นเรื่องของการควบคุมให้อยู่ในเกมของตัวเองต่างหาก
ความท้าทายของนักลงทุนที่ชาญฉลาดไม่ได้อยู่ที่การหาหุ้นที่ขึ้นมากที่สุด ไม่ได้หาหุ้นที่ราคาต่ำที่สุด แต่เป็นการป้องกันไม่ให้ตัวเองไม่ให้ไปไล่ซื้อหุ้นราคาแพง เพราะคนส่วนใหญ่บอกให้ซื้อต่างหาก
5. เชื่อมั่นในความรู้ตัวเอง
ระหว่างมั่นใจตัวเอง กับ เชื่อมั่นในความรู้ของตัวเอง มีความแตกต่างกัน หลักการลงทุนตามฉบับของเกรแฮมนั้น แนะนำว่าให้มีความเชื่อมั่นในความรู้และประสบการณ์ของตัวเอง แม้ว่าคนอื่นๆจะเห็นต่าง
คุณไม่ได้ถูกหรือผิดเพราะคนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับคุณ แต่คุณถูกเพราะข้อมูล และการใช้เหตุผลเป็นไปอย่างถูกต้อง
ในโลกการลงทุน ความเชื่อมั่นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด รองลงมาจาก “ ความรู้ ”
6. ผลลัพธ์ต้องมีอิทธิพลเหนือกว่าความน่าจะเป็น
เกรแฮมเตือนเสมอว่า ในการตัดสินใจภายใต้ความไม่แน่นอน ผลลัพธ์ต้องมีอิทธิพลเหนือกว่าความน่าจะเป็นเสมอ เพราะเราไม่สามารถหยั่งรู้ได้
นักลงทุนที่ฉลาดจะไม่เพียงมุ่งเน้นการวิเคราะห์ที่ถูกต้อง แต่ยังต้องเอาตัวรอดให้พ้นจากการขาดทุนในกรณีที่คุณวิเคราะห์ผิดพลาดด้วย
เราสามารถกระจายความเสี่ยงการลงทุนได้ตลอดเวลา และไม่ซื้อหุ้นที่กำลังขึ้นอย่างบ้าคลั่ง เพียงเท่านี้ คุณจะมั่นใจได้ว่าผลลัพธ์ที่เกิดจากความผิดพลาด จะไม่ถึงขั้นหายนะ ไม่ว่าตลาดหุ้นจะเป็นขาลงก็ตาม
7. การลงทุน = บริหารความเสี่ยง
การลงทุนให้ประสบความสำเร็จนั้นเป็นเรื่องของการบริหารความเสี่ยง ไม่ใช่หลีกเลี่ยงมัน แม้ว่านักลงทุนไม่ชอบความไม่แน่นอน แต่ว่ามันคือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา มันเป็นแบบนั้นมาโดยตลอด และจะเป็นตลอดไป
ไม่มีใครบอกได้ว่า ช่วงไหนเป็นจังหวะที่ดีที่สุดในการซื้อหุ้น ซึ่งมันขึ้นอยู่กับนักลงทุนเอง ว่าจะจัดการการลงทุนของตัวเองให้มีความเสี่ยงน้อย หรือเสี่ยงมาก
หมายความว่า คนที่เข้าไปซื้อหุ้นตอนราคาแพง การลงทุนของคนนั้นกำลังมีความเสี่ยงมากนั่นเอง