การประเมินมูลค่าหุ้นถือเป็นศาสตร์และศิลป์ที่สำคัญในการลงทุนระยะยาว และมุมมองของแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน ตัวเลขที่ถูกนำมาใช้วัดความถูกแพงส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วย 3 ตัว คือ ค่า P/E ค่า P/BV และอัตราการปันผล (Dividend Yield)
... ทั้งนี้ยังมีตัวเลขที่เราสามารถนำมาใช้วัดมูลค่าความถูกแพงด้วย นั้นคือ Market Capitalization หรือที่เราชอบเรียกกันว่า Market Cap. หรือมุลค่าของหลักทรัพย์
โดยวิธีการคำนวนหา Market Cap. คือ จำนวนหุ้นสามัญคูณด้วยราคาตลาด นั้นหมายความว่าราคาของ Market Cap. เปลี่ยนแปลงไปทุกวัน ตามทิศทางราคาหุ้นที่เปลี่ยนแปลงไป
แล้วแบบนี้ เราจะประเมินมูลค่าความถูกแพงได้อย่างไร มี 3 วิธีแบบนี้ครับ ...
1. Market Cap. เป็นตัวบ่งบอกความใหญ่ ความเล็ก ของบริษัทนั้นๆ
Market Cap. คือมูลค่าของบริษัทมีขนาดเท่าไร ถ้าเราอยากจะเป็นเจ้าของ 100% จำเป็นจะต้องจ่ายเงินเท่าไร แล้วถ้าเราถือครองมันไปแล้ว ในอนาคตจะมีโอกาสโตต่อไปได้แค่ไหน
บริษัทขนาดใหญ่ โอกาสที่จะเพิ่มการเติบโตอาจจะเป็นเรื่องที่ยาก ถ้าสภาพรวมของประเทศนั้นไม่ได้เติบโตตามไปด้วย แต่ดีตรงที่ว่ามีความแข็งแกร่ง บางบริษัทสามารถจ่ายปันผลได้มาก
บริษัทขนาดเล็ก มีโอกาสที่จะเติบโตได้จากขนาดที่เล็ก ไม่ว่าจะเป็นการพยายามเพิ่มยอดขาย หรือไปกินส่วนแบ่งการตลาดของคู่แข่งก็สามารถเพิ่มการเติบโตได้ แต่บริษัทขนาดเล็กก็มีความเปราะบาง เรียกว่าผลตอบแทนสูง ความเสี่ยงก็สูงตามไปด้วย
2. Market Cap. ของหุ้น นำไปเปรียบกับบริษัทอื่นที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน
หลายๆครั้ง เราสามารถนำ Market Cap. ของหุ้นบางตัวไปเทียบกับหุ้นที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ถ้า Market Cap. ค่อนข้างเกาะกลุ่มกันก็บ่งบอกว่าหุ้นตัวนั้นไม่ได้ถูกและไม่ได้แพง แต่หลายครั้งเราก็จะเห็นว่า Market Cap. ของหุ้นตัวหนึ่งนั้นต่ำกว่าอีกตัวที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันค่อนข้างมาก แบบนี้เราก็พอจะ "เดา" ได้ว่า มูลค่าของหุ้นค่อนข้างที่จะถูก แต่ความถูกอย่างเดียวไม่พอ เราจำเป็นจะต้องศึกษาเพิ่มเติมว่าบริษัทมีอะไรบางอย่างที่เกิดปัญหาขึ้นหรือเปล่า เช่น บริษัทที่ทำสินค้าความสวยความงามบริษัทหนึ่ง น้อยกว่าอีกบริษัทมากๆเป็นเพราะว่าบริษัทที่มี Market Cap. มากกว่า มีช่องทางการขายทั่วประเทศ ขายผ่านเซเว่น มีปริมาณขายเยอะ รายได้เยอะ ในขณะที่อีกบริษัทที่มี Market Cap. ถูกกว่านั้นไม่ได้มีช่องทางการขายที่หลากหลาย ส่วนใหญ่ต้องไปเปิดสาขาเองถึงจะวางขายได้ หรือรับจ้างผลิต OEM ที่มีอัตรากำไรต่ำกว่า
ดังนั้น Market Cap. ถูกอย่างเดียวไม่พอ ต้องเจาะลึกด้วยว่าถูกกว่าเพราะอะไร ...
3. Market Cap. ยิ่งพุ่งสูง ราคาหุ้นอาจจะแพงแล้ว
อุตสาหกรรมหรือธุรกิจบางประเภท เป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ได้ใหญ่และไม่ได้โดดเด่นมากนัก นานๆอาจจะมีเหตุการณ์พิเศษบางอย่างที่ทำให้มันโตเร็ว สร้างยอดขายและกำไรเติบโตอย่างมาก ทำให้ดึงดูดนักลงทุนเข้ามาซื้อหุ้น ดันราคาให้พุ่งไปไกลจนมี Market Cap. พุ่งตามขึ้นมาด้วยหลายเท่า เราก็อาจจะพอคาดเดาได้ว่าหุ้นอาจจะมีราคาแพงไปแล้ว แน่นอนว่าในระยะสั้นมันก็อาจจะโตต่อไปได้อีก แต่ระยะยาวมันก็อาจจะโตขึ้นไปมากไม่ได้ เพราะการเติบโตจะหยุดลงตามขนาดที่เล็กอยู่ในแล้วของสภาวะอุตสาหกรรม หรือตามเศรษฐกิจของประเทศที่ไม่ได้โต ถ้าเป็นอย่างนั้นไม่ช้าก็เร็ว ราคาหุ้นก็จะต้องร่วงลงมา
นี้ก็เป็น 3 ข้อ ที่เราสามารถนำ Market Cap. มาใช้วิเคราะห์และประเมินความถูกแพงของหุ้นเพื่อการลงทุนระยะยาวได้
หน้าที่ของนักลงทุน คือ หลีกเลี่ยงหุ้นที่แพงมากๆ และเลือกซื้อหุ้นที่ "ยังไม่ขึ้น" แต่มีโอกาสเติบโตกลายเป็นหุ้นที่สร้างผลตอบแทนให้เป็นกอบเป็นกำกับนักลงทุนในอีกหลายปีข้างหน้าได้
แต่เราต้องไม่ลืมว่า Market Cap. จะโตตามเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ ถ้าประเทศไม่เติบโตก็ยากที่ Market Cap ของบริษัทจดทะเบียนจะโตตามไปด้วย ...