#ข่าวหุ้นธุรกิจการลงทุน

หุ้นไทยในวันที่อ่อนแรง กับปัจจัยลบรุมรอบด้าน

โดย วัชราทิตย์ เกษศรี
เผยแพร่:
88 views

ต้องยอมรับว่าในช่วงสัปดาห์นี้ตลาดหุ้นไทยส่งสัญญาณอ่อนแรงมาตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ จากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศที่กำลังรุมเร้า ซึ่งวันนี้เป็นอีกวันที่บรรยากาศการซื้อขายไม่สดใส หลังจากความไม่แน่นอนต่างๆ ภายในประเทศโดยเฉพาะการรับมือการแพร่ระบาดของไวรัส ที่กำลังเป็นคำถามตัวใหญ่ๆ ว่า ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมามันเดินมาถูกทางจริงๆ หรือเปล่า?


ข้อกังขาเรื่องการรับมือไวรัส และประสิทธิภาพวัคซีน
ประเด็นเรื่องของวัคซีนกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่มีผลกระทบต่อความรู้สึกนักลงทุน ด้วยเหตุที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นอีกครั้ง ประกอบกับหลายฝ่ายทั้งหมอ หน่วยงานด้านสาธารณสุขก็ออกมาตั้งข้อกังขาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ที่ไม่อาจจะเพิ่มภูมิคุ้มกันเพื่อลดการติดเชื้อได้อย่างที่เคยโฆษณาเอาไว้

วัคซีนที่ดีที่สุด คือวัคซีนที่ฉีดได้เร็วที่สุด คงไม่ใช่อีกต่อไปแล้ว เพราะแม้แต่ศุภ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ที่เคยให้ข้อมูลด้านวัคซีนมาตลอดกลับยังพูดว่า วัคซีนจากจีนที่เราฉีดๆ กันไปหลายล้านโดสแล้วนั้นอาจไม่เพียงพอในการสร้างภูมิคุ้มกัน หากเพียงแค่ฉีด 2 เข็ม แต่ต้องเป็น 3 เข็ม อาจจะเทียบเท่ากับวัคซีนอีกยี่ห้อที่ใครๆ เขาก็บอกว่าดี

ไหนจะคำถามมากมายว่า โปรเจ็ค ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’ ที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา แน่ใจแล้วหรือว่าพร้อมแล้วจริงๆ ที่จะรับผู้คนจากประเทศอื่นๆ ที่ไม่รู้ว่าจะปลอดภัยหรือไม่ เพราะมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยวว่าควรเปิดประเทศบางส่วน รับนักท่องเที่ยว เพราะไม่เช่นนั้นเศรษฐกิจภาคบริการและการท่องเที่ยวก็ไม่สามารถกลับมาได้ แต่อีกฝั่งที่ไม่เห็นด้วยก็บอกว่าในเมื่อภายในประเทศยังฉีดวัคซีนได้ไม่มากพอ แถมวัคซีนที่ฉีดยังเริ่มไม่มั่นใจในประสิทธิภาพด้วยแล้ว ยังจะกล้าเปิดประเทศเอาต่างชาติเข้ามาอีกเหรอ

ยังไม่รวมเรื่องของการเกิดคลัสเตอร์ใหม่ๆ อีกหลายจุด วัคซีนที่จัดสรรได้ล่าช้า รวมทั้งความกังวลเรื่องไวรัสสายพันธุ์อินเดียหรือเดลตา ที่จะขึ้นมาระบาดแทนสายพันธุ์เดิม ยิ่งสะท้อนความกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ภายในประเทศ ที่ไม่ค่อยน่าอภิรมย์เลยสักนิด

การเมืองกลับมาครุกรุ่น หวั่นเกิดความวุ่นวาย
สถานการณ์ทางการเมืองกลับมาเป็นปัจจัยที่กระทบต่อบรรยากาศการลงทุนอีกครั้ง เมื่อเริ่มมีการเคลื่อนไหวทางการเมือง มีการชุมนุมทางการเมืองอีกครั้ง ในประเด็นเรียกร้องการแก้รัฐธรรมนูญ เรื่องที่มาของการสรรหา ส.ว. ที่เป็นชนวนครั้งใหม่ในการชุมนุม ซึ่งบรรยากาศการชุมนุมที่หายไปสักพักใหญ่ๆ หลังจากที่มีการระบาดละรอกที่ 3 ได้กลับมาขุ่นมัวอีกครั้ง ซึ่งมีการส่งสัญญาณกันมาตั้งแต่เมื่อวาน จนกระทั่งวันนี้มีการชุมนุมขึ้น ซึ่งตลาดหุ้นไทยก็ซึมซับปัจจัยลบนี้เข้าไปแบบเต็มๆ ถึง 2 วันติดๆ ทำให้นักลงทุนต่างเทขายออกมาเป็นจำนวนมาก เพราะเริ่มไม่มั่นใจในสถานการณ์ภายในประเทศ
.
แต่ถึงอย่างไรเรื่องการเมืองในเวลานี้อาจจะยังไม่ใช่ปัจจัยลบที่มีนัยสำคัญมากเท่าไหร่ ต่อความรู้สึกในระยะยาวของนักลงทุน เพราะตลาดหุ้นไทยค่อนข้างจะคุ้นชินกับบรรยากาศการเมืองไทยที่เป็นแบบนี้มาหลายปี เพียงแค่ตอนนี้นักลงทุนอาจจชะลอการลงทุนเพื่อรอดูท่าทีของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นก่อน และถ้าไม่มีอะไรยืดเยื้อก็จะไม่ใช่ปัจจัยหลักในการตัดสินใจลงทุน


การปรับลด GDP อีกครั้งสะท้อนประเทศยังไม่ฟื้น
เศรษฐกิจไทยยังไม่สามารถเติบโตได้ในช่วงนี้ เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับ เพราะล่าสุดก็มีการปรับลดตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอีกครั้ง สะท้อนผ่านมติคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50% ต่อปี โดยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงมากจากการโรคระบาดรอบ 3 ซึ่งส่งผลกระทบการใช้จ่ายในประเทศและแนวโน้มการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยว

นอกจากนี้ กนง.ยังได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2564 จะขยายตัวได้ 1.8% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 3.0% และในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัว 3.9% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 4.7%

ซึ่งเป็นมุมมองเดียวกับ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า บริษัท Fitch Ratings (Fitch) ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของ GDP ในปี 2564 ลงเหลือ 1.8% ก่อนจะฟื้นตันขึ้นเป็น 4.2% ในปี 2565 จากผลกระทบขอโรคระบาดระลอกที่ 3 ที่ส่งผลให้เกิดการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่แม้จะไม่เข้มงวดเหมือนการระบาดในระลอกที่ผ่านมา แต่ก็ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง

ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจในระยะต่อไปยังคาดการณ์ได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากยังมีปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนอีกหลายปัจจัย

ที่ส่งผลชัดเจนกับความสามารถในการทำกำไรของสถาบันการเงินไทย ที่ก่อนหน้านี้ความสามารถในการทำกำไรของสถาบันการเงินไทยก็อ่อนแอตั้งแต่ก่อนเกิดการระบาดอยู่แล้ว โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ได้ส่งผลทำให้ส่วนต่างรายได้อัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ของสถาบันการเงินลดลง แม้จะมีการกระจายแหล่งที่มาของรายได้ โดยสถาบันการเงินหันไปเน้นค่าธรรมเนียมต่าง ๆ มากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ก็ได้รับผลกระทบจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง และการแข่งขันที่สูงขึ้น รวมถึงค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองสูงก็ส่งผลกดดันความสามารถในการทำกำไรด้วย ซึ่งสะท้อนได้จากหุ้นในกลุ่มธนาคารที่ไม่ค่อยจะสู้ดีนักนั่นเอง

อย่างไรก็ตามช่วงนี้ ตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ค่อนข้างอ่อนแอกว่าตลาดหุ้นทั่วโลก โดยตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียที่ส่วนใหญ่แม้จะติดลบเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้มากมายอะไร ขณะที่ตลาดในยุโรปก็เคลื่อนไหวในแดนบวกกันส่วนใหญ่ หลังจากที่เริ่มผ่อนคลายความกังวลจากท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังไม่เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยต้องการรอให้เศรษฐกิจฟื้นตัวจริงๆ ก่อน ซึ่งตลาดหุ้นไทยก็เป็นปัจจัยลบจากภายในประเทศเป็นหลักที่ส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุน


ดังนั้นช่วงนี้ก็ต้องระมัดระวังการลงทุนไว้ด้วย และปรับพอร์ตการลงทุนของท่านให้ดีเพื่อรับกับสถานการณ์ที่อ่อนไหวในช่วงนี้


ประวัตินักเขียน : 10 ปี ในอาชีพผู้ประกาศข่าว ผู้สื่อข่าว และครีเอทีฟโปรดิวเซอร์รายการทีวี สิงสถิตสายเศรษฐกิจมหภาค อาเซียน และต่างประเทศ จากกรุงเทพธุรกิจทีวี NOW26 NEW18 GMM25 JKN-CNBC และ NBT WORLD

ผู้ก่อตั้งเพจและเว็บไซต์ Reporter Journey ที่มีผู้ติดตามทุกแพล็ตฟอร์มกว่ากว่า 250,000 คน

Facebook

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง