#แนวคิดด้านการลงทุน

ทำไมการปรับดอกเบี้ยของ FED ถึงมีผลกับตลาดหุ้นไทย

โดย วัชราทิตย์ เกษศรี
เผยแพร่:
84 views

ใครที่ติดตามข่าวเศรษฐกิจหรือการลงทุน จะต้องรู้สึกคุ้นหูกับชื่อของ FED (เฟด) Federal Reserve Board หรือ ธนาคารกลางสหรัฐ ที่เวลาประกาศจะเคลื่อนไหวอะไรแต่ละทีมีผลต่อตลาดหุ้นอย่างมีนัยสำคัญเสมอ โดยเฉพาะการจ้องจะปรับขึ้นหรือลงของดอกเบี้ยนโยบายที่หากว่าส่งสัญญาณออกมาทีไร ตลาดหุ้นน้อยใหญ่ก็จะเตรียมตัวระแวงกันก่อนที่จะประกาศอย่างเป็นทางการทุกที ถ้าปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายปุ๊บ หุ้นก็พร้อมร่วงปั๊บ 
 

ทำไม FED ถึงมีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทย

 

ตอบง่ายๆ แบบกำปั้นทุบเดินเลยคือ เพราะมันคือหน่วยงานด้านการเงินของสหรัฐฯ ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก ที่ทุกอย่างแทบจะผูกโยงกับประเทศนี้ทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นการค้า การนำเข้าส่งออก ตลาดการเงิน การลงทุน ที่มีอิทธิพลไปทุกหย่อมหญ้า เพราะการที่สหรัฐจะมำคำสั่งอะไรออกมาก็ตามย่อมส่งผลกระทบต่อความเป็นไปของโลกเสมอ

 

เช่นเดียวกับ FED ที่เป็นผู้กำหนดนโยบายการเงิน ที่ถือว่าเป็นเบอร์ใหญ่ที่สุดของบรรดาธนาคารกลางของโลก การที่จะส่งสัญญาณปรับขึ้น - ลง และคงอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.01% ก็มีผลต่อตลาดเงินตลาดทุนแล้ว

 

ต้องเข้าใจว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีผลต่อการเติบโตและชะลอตัวของเศรษฐกิจด้วย เช่น ถ้าช่วงนี้เศรฐกิจไม่ค่อยจะดี ชะลอตัว เงินทองฝืดเคือง ธนาคารกลางก็จะประกาศลดดอกเบี้ยลง เพื่อให้รู้สึกว่าพอดอกถูก ทุกอย่างจะถูกลง พอของถูกคนก็ตัดสิ้นใจซื้อได้ง่าย เกิดการหมุนเวียนของเงินตราในระบบเศรษฐกิจ กระตุ้นให้เศรษฐกิจฟื้นตัว

 

ในทางตรงกันข้าม ถ้าช่วงนั้นเศรษฐกิจเติบโตร้อนแรง แข็งแกร่ง บรรยากาศต่างเป็นไปในทิศทางที่สดใส ธนาคารกลางปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้อง แต่ไม่ใช่ปรับเพราะอยากกินดอกเยอะๆ แต่ปรับขึ้นเพื่อชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ให้ร้อนแรงเกินไป เพราะการที่เศรษฐกิจโตแบบไม่ติดเบรกเลย มันจะส่งผลเสียตามมา เกิดภาวะฟองสบู่ เงินเฟ้อพุ่ง จากที่คิดว่าเศรษฐกิจจะดีๆ อาจมีผลร้ายคือ ไปไว ไม่ติดเบรก ไม่ระวัง ก็จะพังลงเอาเหมือนกัน

 

ผลกระทบของการปรับดอกเบี้ยของ FED ต่อตลาดหุ้นไทย

ให้ผู้อ่านลองนึกภาพตามว่า ในระบบเศรษฐกิจที่เราคุ้นเคย จะมีตลาดการซื้อขายหลักทรัพย์ใหญ่ๆ อยู่สองตลาด คือ ตลาดพันธบัตร และตลาดหุ้น โดยธรรมชาติแล้วตลาดพันธบัตรจะมีมูลค่ามากกว่าตลาดหุ้นเสมอ และที่สำคัญมีความนิยมเข้าซื้อถือครองกว่า เพราะมีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำโดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาล

 

เงินของนักลงทุนมันไหลไปไม่กี่ที่หรอก ถ้าออกจากหุ้นก็จะไหลไปพันธบัตรรัฐบาล ถ้าออกจากพันธบัตรรัฐบาลก็จะไหลกลับมาที่หุ้น ตามสภาวะการซื้อขาย ณ เวลานั้น ยิ่งถ้าเป็นพันธบัตรของรัฐบาลสหรัฐด้วยแล้ว ยิ่งเป็นที่สนใจของนักลงทุน นักลงทุนก็ต้องดิ้นรนหาช่องทางการลงทุนใหม่ๆ ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าการฝากเงินดอกเบี้ยต่ำเตี้ยเรี่ยดินในตลาดเกิดใหม่ เม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ที่ในช่วงที่ตลาดเกิดใหม่ที่เคยคึกคัก ต่างชาติก็จะหอบเงินมาซื้อ ที่ตลาดหุ้นไทยเองก็ขึ้นจาก 400-500 จุดมาถึง 1500-1600 จุด ก็มีโฟลว์จากต่างชาติด้วย

 

การที่ FED ขึ้นดอกเบี้ย ดอกเบี้ยเงินฝากในอเมริกาก็จะปรับสูงขึ้นด้วย พวกพันธบัตรที่จะออกมาใหม่ ก็มีดอกเบี้ยหน้าตั๋วสูงขึ้นเช่นกัน นักลงทุนที่เคยหอบเงินมาลงทุนในตลาดเกิดใหม่ก็จะหอบเงินกลับบ้าน เพราะตลาดประเทศพัฒนาแล้วมีเสถียรภาพกว่า และไม่ต้องมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนอีกด้วย สรุปคือหลังจาก FED ขึ้นดอกเบี้ยแล้ว เงินอาจจะไหลกลับเข้าอเมริกา ตลาดหุ้นจึงร่วงเพราะกังวลว่าโฟลว์ไหลออกนั่นเอง

 

ดังนั้นแล้วก็ต้องจับตาดูให้ดีเพราะทั้งตลาดพันธบัตร ตลาดหุ้น และนโยบายของ FED มีความเกี่ยวเนื่องกัน ถ้านักลงทุนรู้จักการสังเกตตลาด หรือดูแนวโน้มนโยบายออก ก็จะสามารถอยู่รอดในตลาดได้แบบไม่แพ้ และยังสามารถปรับพอร์ตการลงทุนจากการคาดการณ์ของแนวโน้มดังกล่าวได้อีกด้วย


ประวัตินักเขียน : 10 ปี ในอาชีพผู้ประกาศข่าว ผู้สื่อข่าว และครีเอทีฟโปรดิวเซอร์รายการทีวี สิงสถิตสายเศรษฐกิจมหภาค อาเซียน และต่างประเทศ จากกรุงเทพธุรกิจทีวี NOW26 NEW18 GMM25 JKN-CNBC และ NBT WORLD

ผู้ก่อตั้งเพจและเว็บไซต์ Reporter Journey ที่มีผู้ติดตามทุกแพล็ตฟอร์มกว่ากว่า 250,000 คน

Facebook

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง