#แนวคิดด้านการลงทุน

กรณีศึกษา เมื่อคุณภาพชีวิตสัตว์ คือปัจจัยสำคัญในการพิจารณาการลงทุน

โดย stock2morrow
เผยแพร่:
93 views

ท่ามกลางการระบาดของไวรัสโควิด-19 สร้างความไม่แน่นอนให้แก่การดำรงชีวิตของมนุษย์ เรากำลังตกอยู่ในสภาวะความผันผวนของหลายๆด้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นสภาพสังคม ภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ 

 

เมื่อหลายๆธุรกิจกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอน นักลงทุนต่างให้ความสนใจกับธุรกิจที่เติบโตได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น เพราะสิ่งเดียวที่จะทำให้บริษัทสามารถอยู่รอดได้ในทุกภาวะวิกฤตก็คือความยั่งยืนนั่นเอง

 

เราจึงได้เห็นกลยุทธ์ลงทุนยุคนี้ คือลงทุนในบริษัทที่มีพื้นฐานที่ดี มีแนวโน้มการเติบโตสูง และอีกสิ่งหนึ่งที่กลายมาเป็นปัจจัยสำคัญในปัจจุบัน คือต้องเป็นบริษัทที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG (Environment, Social,  Governance) 

 

ซึ่งหลายคนอาจจะคิดว่า การลงทุนในหุ้นลักษณะที่กล่าวมานี้ มักจะได้ผลตอบแทนต่ำ และใช้เวลานาน ไม่ค่อยน่าสนใจ ตอนแรกผู้เขียนเองก็คิดแบบนั้นเหมือนกัน แต่พอมาเห็นตัวเลขของมูลค่าล่าสุด ต้องบอกเลยว่าไม่ธรรมดาแล้วครับ

 

รู้หรือไม่ว่า ระหว่างปี 2018 - 2020 สินทรัพย์ที่ลงทุนภายใต้แนวคิด ESG นั้นมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมา 17.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นมาสูงถึง 42%

 

โดยคิดเป็น 33% ของมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนในสหรัฐฯรวมกันทั้งหมด 51.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีแนวโน้มการเติบโตมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการรายงานของ Forum for Sustainable and Responsible Investment

 

ทางฝั่ง MSCI เองก็รายงานว่า ช่วงที่เกิดการระบาดของโควิดใหม่ๆ ตลาดหุ้นทั่วโลกอยู่ในช่วงตกต่ำ แต่นักลงทุนยังให้ความสนใจหุ้นที่อยู่ในการจัดอันดับ ESG อยู่ เพราะมองว่าเป็นหุ้นที่มีความเสี่ยงต่ำ และยังพอมี Upside ที่สูงกว่าหุ้นทั่วไป

 

ด้านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ก็มีการออกแคมเปญผลักดันให้ บจ. ทำการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนของธุรกิจที่เรียกว่ารายงานความยั่งยืน" อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ทำให้บริษัทที่มีคะแนนดีจะมีโอกาสได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากกว่า

 

พฤติกรรม และตัวเลขดังกล่าว ได้สะท้อนให้เห็นถึงกระแสการลงทุนในหุ้นยั่งยืน ว่ากำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น จากบรรดากองทุนและเหล่านักลงทุนรายย่อย รวมไปถึงองค์กรต่างๆทั่วโลก เริ่มมีการใช้เกณฑ์ตัดสินใจในการลงทุนอย่างจริงจัง หากบริษัทไหนไม่ให้ความสำคัญกับแนวคิด ESG ก็จะไม่เลือกลงทุน

 

นั่นทำให้หลายๆองค์กรเริ่มหันมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือธรรมาภิบาลกันมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหาร ต่างเห็นความสำคัญของการยกระดับคุณภาพชีวิตสัตว์  (Animal Welfare) ให้ผ่านเกณฑ์ตามมาตรฐานสากล

 

โดยมีหลักการเพื่อคุ้มครองสัตว์เลี้ยงทั้งที่นำมาเป็นอาหาร ใช้งาน และเพื่อการวิจัย ให้ได้รับการดูแลเอาใจใส่ให้สุขสบายทั้งร่างกายและจิตใจ โดยถือหลัก 5 ข้อ ประกอบไปด้วย

 

1. ปราศจากการหิว กระหาย และการให้อาหารที่ไม่ถูกต้อง

2. ปราศจากความไม่สะดวกสบายอันเนื่องมาจากสภาวะแวดล้อม

3. ปราศจากความเจ็บปวด การบาดเจ็บ และโรคภัย

4. ปราศจากความกลัวและทุกข์ทรมาน

5. อิสระในการแสดงพฤติกรรมตามปกติของสัตว์

 

 

การปฏิบัติตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ จะทำให้สัตว์ฟาร์มได้อยู่สบาย ไม่เครียด แข็งแรง มีพื้นที่ ไม่แออัด เมื่อสุขภาพดีก็ปราศจากโรค ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรคแบบรวมกลุ่ม จึงเป็นการลดความเสี่ยงจากสารตกค้าง เพราะสัตว์ที่มีสุขภาพดีจะเติบโตตามศักยภาพตามธรรมชาติ

 

การใส่ใจในชีวิตของสัตว์ฟาร์ม นอกจากจะทำให้ชีวิตของพวกเขาสุขสบายแล้ว รู้หรือไม่ว่า มันยังส่งผลให้ผู้บริโภคอย่างพวกเราได้เนื้อสัตว์ที่มีรสชาติอร่อย คุณภาพดี และยังปลอดภัยต่อร่างกายเราด้วย
 


ซึ่งนี่ก็ตรงกับเทรนด์ของผู้บริโภคยุคใหม่ ที่หันมาให้ความใส่ใจเรื่องการดูแลสุขภาพกันมากขึ้นอย่างชัดเจน บริษัทที่ผลิตสินค้าที่ดีต่อสุขภาพ จึงได้รับผลกระทบเชิงบวกจากเทรนด์นี้ไปด้วย

 

โดยสวัสดิภาพสัตว์  ได้กลายมาเป็นอีกหนึ่งในดัชนีสำคัญในการชี้วัดถึงความเติบโตอย่างยั่งยืน และความมีมนุษยธรรมในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดี และผลประกอบการที่ดี ให้แก่องค์กรที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างไม่ต้องสงสัย

 

สำหรับองค์กรใหญ่ๆในประเทศไทย ก็เริ่มยกระดับความเป็นอยู่ของสัตว์กันมากขึ้นไม่ว่าจะเป็น บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ที่ได้รับการเลื่อนขั้นมาอยู่ในระดับ tier 3 จากทั้งหมด 6 tier ด้วยกัน ตามรายงานการจัดอันดับบริษัทที่มีการจัดการสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์ม (The Business Benchmark on Farm Animal Welfare หรือ BBFAW) ของปี 2563

 

หาก CPF ยกระดับสวัสดิภาพสัตว์มากขึ้นกว่านี้จนได้ไปอยู่ระดับ tier 1 เหมือนบริษัทระดับโลกอย่าง Marks & Spencer ล่ะก็ คิดดูว่าจะอิมแพคต่อวงการอุตสาหกรรมอาหารไทยมากแค่ไหน 

 

และยังมีบริษัทใหญ่ๆอีกมากมายกำลังตามกระแสมาติดๆ ไม่ว่าจะเป็น ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป ก็เพิ่งจะประกาศว่าจะใช้ไข่ที่มาจากแม่ไก่ที่เลี้ยงแบบปล่อย (Cage Free) ไม่ได้อยู่ในกรงขัง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในหลัก 5 ข้อของ Animal Welfare 

 

หรือทางเบทาโกรเอง ก็ให้สัญญาว่าจะเลิกเลี้ยงแม่หมูแบบยืนซองในขณะตั้งท้องและให้นมลูก ซึ่งการเลี้ยงพวกเขาในซองแคบๆ แบบผิดวิถีธรรมชาตินั้น จะทำให้หมูเครียด และเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้

 

ลองคิดดูว่า ถ้าทุกธุรกิจให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว ทุกๆฝ่ายจะได้รับประโยชน์กันหมด ไล่ไปตั้งแต่ธุรกิจจะยั่งยืนในระยะยาว ผู้บริโภคได้รับประทานสินค้าที่มีคุณภาพ และสัตว์ฟาร์มอยู่อย่างมีความสุข เรียกได้ว่าแฮปปี้กันทุกฝ่าย

 

สรุปแล้ว การนำประเด็นด้าน ESG มาประกอบเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ และตัดสินใจในการลงทุน
นอกจากจะดี ตรงตามกระแสที่กำลังตื่นตัวในวงการลงทุนแล้ว 
ยังเป็นสิ่งสำคัญที่พวกเรานักลงทุน และในฐานะประชากรโลกคนหนึ่ง จะร่วมผลักดันธุรกิจให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม และดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนอย่างแท้จริง

 

สัตว์ก็มีหัวใจ มีความรู้สึก อยากได้คุณภาพชีวิตที่ดี ไม่แตกต่างจากมนุษย์เราเช่นกัน

 

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.setsustainability.com/page/esg-disclosure

https://www.tiscowealth.com/trust-magazine/issue-49/exclusive.html

https://www.worldanimalprotection.or.th/BBFAW-CPF

https://www.cnbc.com/2020/12/21/sustainable-investing-accounts-for-33percent-of-total-us-assets-under-management.html

https://www.newforesight.com/investing-in-impact-trends-to-watch-in-2021-and-beyond/


ศูนย์รวมความรู้เรื่องหุ้น ศูนย์รวมนักลงทุนรายย่อย ที่อยากรู้วิธีการลงทุนในหุ้นอย่างถูกต้องและได้กำไรอย่างยั่งยืน ติดตามเราได้ที่

www.stock2morrow.com 

FB: stock2morrow 

LINE@stock2morrow

FacebookInstagramYoutubeLine

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง