รอกันมานานว่าเมื่อไหร่ประเทศไทยจะมีธุรกิจสตาร์ทอัพที่สามารถก้าวขึ้นสู่การเป็นยูนิคอร์น แต่ล่าสุด Flash Express ผู้ให้บริการ E-commerce สัญชาติไทยแบบครบวงจร ภายใต้กลุ่มบริษัท Flash Group สามารถทำได้สำเร็จ หลังจากการระดมทุนรอบซีรีย์ D+ ที่ได้ผู้ร่วมทุนรายใหม่อย่าง SCB 10X พ่วงด้วย บริษัทจันวาณิชย์ ซีเคียวริตี้พริ้นท์ติ้ง จำกัด เข้าสนับสนุน
ส่วนของซีรีย์ E ก็ยังคว้า Buer Capital กลุ่มทุนจากสิงคโปร์ ร่วมด้วย SCB 10X ที่ให้การสนับสนุนทั้งซีรีย์ D+ และ E ตามด้วยผู้ลงทุนเดิมอย่าง eWTP, บริษัท ปตท. น้ำมัน และการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์, บริษัท เดอเบล จำกัด (Durbell) ภายใต้กลุ่มธุรกิจ TCP, บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด (Krungsri Finnovate) ในเครือกรุงศรี กรุ๊ป ที่ตบเท้าลงเพิ่มในซีรีย์ E
ซึ่งการระดมทุนครั้งล่าสุดมีเม็ดเงินลงทุนสูงถึง 150 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 4,700 ล้านบาท ซึ่งจะถูกกระจายไปในหลายสัดส่วนทั้งด้านการบริหาร และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ครอบคลุมไปถึงการลงทุนในด้านแพลตฟอร์ม eCommerce รวมถึงการเพิ่มช่องทางการขาย ขยายบริการ และสร้างกลยุทธ์ใหม่ๆ
และภายใน 3 ปี Flash Group สามารถระดมทุนรวมได้มากที่สุดรวมกันถึง 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือมากกว่า 31,200 ล้านบาท ทะยานสู่การเป็นสตาร์ตอัปยูนิคอร์น ตัวแรกของไทย ตามเงื่อนไขของรูปแบบธุรกิจเรียบร้อย
โดยปัจจุบัน Flash Express มียอดจัดส่งพัสดุต่อวันสูงสุดร่วม 2 ล้านชิ้น นอกจากนี้ยังมีบริการ Flash Fulfilment คลังสินค้าแบบครบวงจร ที่มีบริษัทชั้นนำเป็นพันธมิตร และใช้บริการมากมาย รวมถึงบริษัทในเครืออีกหลายบริษัทที่สอดคล้องกับธุรกิจ E-commerce และรูปแบบตลาดของประเทศไทย รวมไปถึงบริการใหม่ที่เตรียมขยายออกสู่กลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งกลยุทธ์หลักของแผนการทำงานยังคงมุ่งไปที่การเป็นผู้ให้บริการแบบ One stop service สำหรับ E-Commerce ทั้งในประเทศไทย และสากล รวมไปถึงการเร่งขยายบริการออกสู่ต่างประเทศโดยยึดความตั้งใจเดิม คือ เริ่มจากกลุ่มประเทศในแถบนี้ คาดว่าภายใน Q4 ของปีนี้น่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น จากการทยอยเปิดให้บริการบางส่วนใน ซึ่งรอการเปิดเผยหลังจากนี้
ยูนิคอร์น คืออะไร?
ยูนิคอร์น หมายถึง ธุรกิจสตาร์ทอัปที่มีมูลค่าบริษัทซึ่งรวมทั้งหนี้สิน และเงินที่ได้จากการระดมทุนจากนักลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 30,000 ล้านบาท และไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ถูกใช้ครั้งแรกเมื่อปี 2556 ในบทความของ Aileen Lee เจ้าของบริษัท Cowboy Ventures ที่เป็นผู้ลงทุนในแนว Venture Capital โดยต้องการจะสื่อว่าบริษัทเหล่านี้ เป็นของหายาก เป็นตำนานเหมือนยูนิคอร์น
นอกจากนี้ยังมีคำว่า มายลิตเติ้ลโพนี่ My Little Pony หมายถึงธุรกิจมูลค่าบริษัทมากกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ “เดเคคอร์น” (Decacorn) มาจากคำว่า (Deca-) ที่แปลว่า 10 หมายถึงธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าเกิน 10,000 ล้านเหรียญหรือราว 300,000 ล้านบาท เช่น Dropbox, SpaceX, Flipkart และ Pinterest
ปัจจุบันมีบริษัทสตาร์ตอัปก้าวเข้าสู่ระดับยูนิคอร์นทะลุ 500 บริษัททั่วโลกแล้ว โดยในจำนวนกว่า 500 บริษัท มีบริษัทที่ตั้งในอาเซียนอยู่ 9 บริษัทด้วยกัน ส่วนใหญ่อยู่ในอินโดนีเซีย
แต่ไม่ได้หมายความว่าสตาร์ตอัป จะไม่เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ เพื่อกลายเป็นบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ในตลาด เพราะเมื่อวันหนึ่งที่เจ้าของธุรกิจเล็งเห็นว่าสตาร์ตอัปของตัวเอง ถึงเวลาแล้วที่จะต้องกลายเป็นองค์กรขนาดใหญ่ ก็จะผลักดันเข้าสู่ตลาดหุ้นได้ภายหลัง เช่น Netflix, Xiaomi, Uber เป็นต้น
ก็ถือว่าเป็นข่าวดีที่ผู้ประกอบการไทยสามารถสร้างธุรกิจที่เติบโตจนมีมูลค่าสูงนับหมื่นล้านบาทได้ในระยะเวลาอันสั้น จากสถิติของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) พบว่ามีสตาร์ตอัปไทยจำนวนกว่า 1,700 ราย ซึ่งแนวโน้มตลาด Digital Economy ก็กำลังขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจสตาร์ตอัปไทยหลายราย ซึ่งแน่นอนว่าในอนาคตจะมีธุรกิจรายใหม่ๆ ของไทยที่เติบโตเป็นยูนิคอร์นตามมาอีกมากมายแน่นอน