#ข่าวหุ้นธุรกิจการลงทุน

ทำความเข้าใจงบการเงิน &#039แบงก์ชาติ&#039 แบบง่ายๆ

โดย วัชราทิตย์ เกษศรี
เผยแพร่:
627 views

ประเด็นเรื่องการรายงานงบการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบก์ชาติมีมาให้ดราม่าทุกๆ ปี ซึ่งแน่นอนว่ายังมีหลายคนน่าจะยังไม่ทราบว่ารูปแบบของงบการเงิน กำไร ขาดทุนของแบงก์ชาติ แตกต่างจากงบการเงินของบริษัทเอกชนอย่างที่เราคุ้นเคย ดังนั้นวันนี้จะเขียนทำความเข้าใจเรื่องบการเงินของแบงก์ชาติอย่างง่ายๆ ให้ได้รู้กัน รวมทั้งประเด็นที่ว่าแบงก์ชาติขาดทุน 1 ล้านล้าน จริงๆ แล้วนั้นขาดทุนอะไร

 

แบงก์ชาติทำหน้าที่อะไร?

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย ทำหน้าที่หลักๆ 2 อย่าง คือ

 

1. ดูแลรักษาเสถียรภาพของค่าเงิน และระบบเศรษฐกิจ

2. พิมพ์ธนบัตรเพื่อนำออกให้ประชาชนใช้จ่าย โดยมีทุนสำรองเงินตราหนุนหลังค้ำประกันค่าเงินอยู่

 

นอกจากนี้ก็มีหน้าที่อื่นๆ เช่น  ควบคุมการหมุนเวียนของเงินบาทในระบบ, ควบคุมการถ่ายโอนเงินตราระหว่างประเทศ รวมทั้งเฝ้าระวังอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับสกุลเงินตราต่างๆ และหน้าที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเงิน สินทรัพย์ หลักทรัพย์ และอัตราดอกเบี้ยต่างๆ เป็นต้น

 

รูปแบบงบการเงินของแบงก์ชาติ

 

ด้วยการที่แบงก์ชาติเป็นหน่วยงานพิเศษที่มีระบบเฉพาะตัว ดังนั้นงบการเงินของแบงก์ชาติจึงมีลักษะณะไม่เหมือนกับหน่วยงานไหนทั้งรัฐและเอกชน ซึ่งบัญชีของแบงก์ชาติมี 2 แบบ 2 ส่วน คือ

 

 1. บัญชีของธนาคารแห่งประเทศไทย ใช้เพื่อการรักษาเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจ แบ่งเป็นบัญชีสินทรัพย์ ได้แก่ เงินสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งอยู่ในรูปสกุลเงินต่างประเทศ และมีสัดส่วนสูงกว่า 85% ของสินทรัพย์ทั้งหมด ส่วนที่เหลือก็เป็นสินทรัพย์ในรูปแบบพันธบัตรรัฐบาลไทย ส่วนบัญชีหนี้สินประกอบด้วยพันธบัตรแบงก์ชาติ ที่เกิดจากการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อดูแลเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจ เงินรับฝากจากสถาบันการเงิน และรัฐบาล ซึ่งส่วนนี้เป็นหนี้ที่อยู่ในรูปของเงินบาททั้งหมด

 

 2. บัญชีของทุนสำรองเงินตรา เป็นบัญชีที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ด้านการพิมพ์ธนบัตรออกใช้ในระบบเศรษฐกิจ โดยมีสินทรัพย์คือสกุลเงินต่างประเทศทั้งหมด 100% เพื่อใช้เป็นสินทรัพย์หนุนหลังค้ำประกันการพิมพ์ธนบัตรไม่ให้ด้อยค่า หรือเป็นแค่กระดาษธรรมดาๆ ใบหนึ่ง ส่วนหนี้สินประกอบด้วยธนบัตรที่ใช้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งมันก็คือ ธนบัตรที่เราจับจ่ายใช้สอย ซื้อสินค้าและบริการต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจ โดยนี่ถือว่าเป็นหนี้สินของธนาคารกลาง

 

การขาดทุนหรือกำไรของงบการเงินเกิดขึ้นจากอัตราแลกเปลี่ยนจากมูลค่าเงินตราและสินทรัพย์ต่างประเทศเป็นหลัก จะไม่สามารถนำมาตีความในรูปแบบของงบการเงินบริษัทได้ ที่ผลกำไรขาดทุนขึ้นอยู่กับผลประกอบการบริษัท ยอดขายสินค้า หรือต้นทุนของสินค้า

 

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าทั้งสองบัญชีมีความไม่สมดุลกันเรื่องมูลค่าสินทรัพย์และหนี้สินอยู่แล้ว แต่ในความไม่สมดุลนี่แหละมันคือการสร้างสมดุลภายในของเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ และการที่บัญชีทุนสำรองเงินตรา ที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศมันจะมีความผกผัน ผันผวนไปตามอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินในช่วงเวลานั้น ซึ่งปัจจัยเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนนี่แหละคือ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้งบการเงินของแบงก์ชาติ กำไร หรือ ขาดทุน ได้

 

สมมุติว่าว่าอัตราแลกเปลี่ยนตอนนี้อยู่ที่ 30 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ถ้ามีทรัพย์สินอยู่ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะขายได้เงินกลับมา 3 ล้านล้านบาท แต่ถ้าเกิดเงินบาทอ่อนค่าลงแค่ 1 บาท ทรัพย์สิน 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เดิม จะขายเพิ่มได้เป็น 3 ล้าน 1 แสนล้านบาท แต่ตรงกันข้าม ถ้าเงินบาทแข็งค่าขึ้นแค่ 1 บาท 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เดิมนั้นจะขายได้แค่ 2 ล้าน 9 แสนล้านบาท

 

ทำให้ 1 แสนล้านบาทที่หายไป ดูเหมือนจะขาดทุน แต่เป็นแค่การขาดทุนทางบัญชี จากการตีราคาเท่านั้น เพราะธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้เอาทรัพย์สินดอลลาร์สหรัฐฯ ไปขายจริงๆ เงิน 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ก้อนเดิมก็ยังเก็บเอาไว้อยู่ ดังนั้น การขาดทุนหรือว่ากำไรของแบงก์ชาติ ไม่ได้เกี่ยวกับว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นหรือไม่ดีอย่างไร

 

หรือเรียกว่ากำไรที่ไม่ใช่กำไร และขาดทุนที่ไม่ใช่ขาดทุน

 

เพราะฉะนั้นทุกๆ ปีแบงก์ชาติก็จะมีการประเมินอยู่แล้วว่า ต้องจัดทำงบการเงิน ซึ่งต้องตีราคาให้เป็นเงินบาท เสมือนว่าถ้าขายเงินดอลลาร์ทั้งหมดออกไป จะได้เงินกลับมากี่บาท ซึ่งมันจะสัมพันธ์กับค่าเงินในเลานั้นด้วยว่าแข็งค่าหรืออ่อนค่าอยู่ จากราคาสินทรัพย์เมื่อปีก่อนหน้า

 

ที่สำคัญคือ การขาดทุนหรือกำไรของแบงก์ชาติไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับภาษี เพราะเป็นคนละส่วนกัน แบงก์ชาติไม่ได้จะเอาเงินภาษีไปอุดการขาดทุน เพราะมันไม่ได้ขาดทุนจริงๆ เป็นตัวเงินในบัญชีงบดุล หรือบัญชีงบประมาณรายปี ซึ่งต่างจากงบประมาณประเทศที่กำกับดูแลโดยกระทรวงการคลัง ที่ใช้เงินภาษีมาตั้งงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินที่ใช้จริง จ่ายจริง ลงทุนจริง นั่นเอง

 

น่าจะพอเข้าใจคร่าวๆ เกี่ยวกับงบการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยกันบ้างแล้ว อาจจะเข้าใจยากสักหน่อย แต่อย่างน้อยก็จะได้รู้ว่าหลักการนั้นเป็นอย่างไร


ประวัตินักเขียน : 10 ปี ในอาชีพผู้ประกาศข่าว ผู้สื่อข่าว และครีเอทีฟโปรดิวเซอร์รายการทีวี สิงสถิตสายเศรษฐกิจมหภาค อาเซียน และต่างประเทศ จากกรุงเทพธุรกิจทีวี NOW26 NEW18 GMM25 JKN-CNBC และ NBT WORLD

ผู้ก่อตั้งเพจและเว็บไซต์ Reporter Journey ที่มีผู้ติดตามทุกแพล็ตฟอร์มกว่ากว่า 250,000 คน

Facebook

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง