หลายๆคนอาจจะเคยเห็นผู้ที่ทำงานในสายการเงินมีตัวอักษรต่างๆท้ายชื่อ (Designation) แล้วเกิดคิดสงสัยว่าตัวอักษรเหล่านั้นมีความหมายอย่างไร แล้วต้องทำอย่างไรถึงจะได้มา รวมถึงหลายๆคนที่อยู่ในสายงานทางด้านการเงินแล้ว แต่สนใจที่จะพัฒนาความรู้ตัวเองแต่ยังไม่แน่ใจว่าเราควรจะเลือก Designation ไหนดี วันนี้เรามาคุยกันเรื่องนี้เลยค่ะ
จะขอเน้นที่ Designation ในวงการการเงินการลงทุนที่ได้ยอมรับในระดับสากลนะคะ เนื่องจากในอนาคตเราต้องมีการติดต่อประสานงานกับต่างชาติมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งข้อสอบของ Designation เหล่านี้จะเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด
CFA (Chartered Financial Analyst)
ในสายงานการเงินแล้ว เป็นที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า CFA เป็น Designation ที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในระดับสากลมากที่สุดนะคะ ขนาดหลายๆคนเรียกว่าเป็น Gold Standard เนื้อหาครอบคลุมค่อนข้างกว้างในด้านการเงินการลงทุน การบริหารพอร์ตการลงทุน การวิเคราะห์มูลค่าสินทรัพย์ต่างๆ (Equity, Debt, Alternatives) เศรษฐศาสตร์ สถิติ บัญชี และจรรยาบรรณ
จำนวนข้อสอบ: 3 ระดับ โดยข้อสอบแต่ละระดับมีความยาว 6 ชั่วโมง โดย Level I จัดสอบในเดือนมิ.ย. และธ.ค. ของทุกปี ส่วน Level II และ Level III จัดสอบในเดือนมิ.ย. ของทุกปี
- ค่าสอบ: $850-$1,280 ขึ้นอยู่กับเวลาที่ลงทะเบียน และค่าแรกเข้า
- ค่าสมาชิกรายปี: $275 + ค่าสมาชิกของ CFA Society ในเมืองที่เราอยู่
- เหมาะกับผู้ที่ต้องการทำงานทางด้านการบริหารการลงทุน ผู้จัดการกองทุน นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ นักวาณิชธนกิจ ฯลฯ
การที่จะมี Designation ต่อท้ายชื่อได้จะต้อง:
I. วุฒิปริญญาตรี
II. ประสบการณ์การทำงานที่เกี่ยวข้องเป็นเวลา 4 ปี
III. สอบผ่านข้อสอบทั้งสามระดับ
IV. เป็นสมาชิกของ CFA Institute
สามารถศีกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.cfainstitute.org/pages/index.aspx
CFP (Certified Financial Planner)
เนื้อหาครอบคลุมถึงการวางแผนทางการเงิน ประกัน ภาษี การวางแผนเกษียณอายุ มรดก และจรรยาบรรณ
จำนวนข้อสอบ: 1 ระดับ ยาว 10 ชม. (แบ่งสอบ 2 วัน) สามารถสอบได้ช่วงเดือน มี.ค, ก.ค. และ พ.ย. ของทุกปี
ค่าสอบ: $595 แต่ก่อนจะลงทะเบียนสอบได้ ต้องเรียน Course ของเขาก่อน (ราคา $800-$4,000 ขึ้นอยู่กับ course) ยกเว้นจะมีคุณวุฒิทางการศึกษาหรือ Designation อื่นๆที่เป็นที่ยอมรับ เช่น CFA, CPA
- ค่าสมาชิกรายปี: $325
- เหมาะกับนักวางแผนทางการเงิน ผู้ให้คำปรึกษาด้านการเงิน
การที่จะมี Designation ต่อท้ายชื่อได้จะต้อง:
I. วุฒิปริญญาตรี
II. ประสบการณ์การทำงานที่เกี่ยวข้องเป็นเวลา 3 ปี
III. สอบข้อสอบผ่าน
IV. เป็นสมาชิกของ CFPBS
สามารถศีกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.cfp.net/become-a-cfp-professional
FRM (Financial Risk Manager)
เน้นด้านการจัดการความเสี่ยง โดยเนื้อหาครอบคลุมถึง สถิติ Modelsในการจัดการความเสี่ยง และความเสี่ยงต่างๆ (เช่น Market, Credit, Investment, Operational)
จำนวนข้อสอบ: 2 ระดับ โดยข้อสอบแต่ละระดับมีความยาว 4 ชั่วโมง โดยจัดสอบในเดือนพ.ค. และ พ.ย. ของทุกปี ซึ่งสามารถสอบทั้งสองระดับได้ในวันเดียวกัน
- ค่าสอบ: $350-$650 สำหรับข้อสอบแต่ละระดับ และค่าแรกเข้า $300
- ค่าสมาชิกรายปี: $150
- เหมาะกับ: ผู้ที่ต้องการทำงานด้านการจัดการความเสี่ยง
การที่จะมี Designation ต่อท้ายชื่อได้จะต้อง:
I. วุฒิปริญญาตรี
II. ประสบการณ์ทำงานที่เกี่ยวข้องเป็นเวลา 2 ปี
III. สอบผ่านข้อสอบทั้งสองระดับ
IV. เป็นสมาชิกของ GARP
สามารถศีกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.garp.org/#!/frm/
CAIA (Chartered Alternative Investment Analyst)
เน้นด้านการลงทุนทางเลือก เนื้อหาครอบคลุมถึง Hedge Fund, Private Equity, Real Assets, Derivatives และ จรรยาบรรณ
จำนวนข้อสอบ: 2 ระดับ โดยข้อสอบแต่ละระดับมีความยาว 6 ชั่วโมง โดยจัดสอบในเดือนมี.ค. และ ก.ย. ของทุกปี
- ค่าสอบ: $1,250 และค่าแรกเข้า $400
- ค่าสมาชิกรายปี: $350
- เหมาะกับผู้ที่ต้องการทำงานทางด้านการลงทุนทางเลือก
การที่จะมี Designation ต่อท้ายชื่อได้จะต้อง:
I. วุฒิปริญญาตรีและประสบการณ์ทำงานที่เกี่ยวข้องเป็นเวลา 1 ปี หรือ ประสบการณ์การทำงานที่เกี่ยวข้องเป็นเวลา 4 ปี
II. สอบผ่านข้อสอบทั้งสองระดับ
III. เป็นสมาชิกของ CAIA Association
สามารถศีกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.caia.org
การที่เรามี Designation ที่เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางจะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้เรา เนื่องจากผู้พบเห็นจะทราบได้เลยว่าเรามีความรู้ทางด้านนี้ รวมถึงช่วยให้เราเป็นที่ต้องการในตลาดการจ้างงานมากขึ้นด้วยค่ะ
สำหรับคนที่ต้องการย้ายมาทำงานทางด้านการเงิน แต่ไม่มีประสบการณ์หรือไม่ได้ศึกษาทางด้านการเงินมาโดยตรง การสอบ Designation เหล่านี้ผ่าน จะช่วยให้เราเป็นที่สนใจของผู้จ้างงานมากขึ้นด้วยค่ะ
เราควรจะเลือกสอบ Designation ไหนดีล่ะ? ต้องดูว่าเราอยากทำงานแบบไหนค่ะ หรืออยากมีความรู้เพิ่มขึ้นในด้านไหน เพราะนอกจากการต้องอ่านหนังสือ และเตรียมตัวอย่างมากในการสอบแล้ว แต่ละ Designation ก็มีค่าสอบและค่าธรรมเนียมสมาชิกที่จะต้องจ่ายทุกปี ซึ่งเป็นเงินจำนวนไม่น้อยเลยค่ะ ดังนั้นเราควรจะเลือก Designation ที่เหมาะสมและจะทำประโยชน์ให้เราอย่างสูงสุดค่ะ
หลายๆคนอาจจะสงสัยว่าถ้าอย่างนั้นมีมากกว่าหนึ่ง Designation ได้ไหม ขอตอบว่าได้ค่ะ อย่าง Finance Geek เองก็มี 2 Designations คือ CFA และ CAIA โดยจากการที่ได้คุยกับหลายๆคนในวงการ คือไม่ควรมีเกิน 3 Designations ค่ะ เพราะคนในสายงานเราหรืออนาคตผู้จ้างงานของเราจะมองว่า เราไม่รู้ตัวเองว่าเราต้องการหรือชอบงานอะไรกันแน่ และเราอาจจะเป็นหนอนหนังสือมากเกินไปหรือเปล่า การที่มี Designation มากไปก็ทำให้เราดูไม่ค่อยดีได้ค่ะ
บทความคุณภาพโดย FB: Finance Geek