Tip & Trick เราจะใช้อะไรวัดว่าเงินดิจิทัลตัวไหนพื้นฐานดีหรือไม่ดี? โดย “จักรพันธ์ แซ่เตียว” นักเทรดอัลต์คอยน์ (altcoin) จากหนังสือเรื่อง “Bitcoin & Blockchain 101 เงินดิจิทัลเปลี่ยนโลก”
สำหรับคนที่เคยอยู่ในวงการหุ้นมาก่อนแล้วเพิ่งเข้าวงการคริปโตฯ ใหม่ๆ คงจะมีคำถามว่า พื้นฐานของอัลต์คอยน์ หรือเหรียญคริปโตฯ ในตลาดตัวไหนดีหรือไม่ดี? เราจะดูอย่างไรและดูจากอะไร?
7 ตัวช่วยวิเคราะห์เงินดิจิทัลพื้นฐานดี
1. ทีม (team)
นี่คือหนึ่งในปัจจัยขั้นพื้นฐานของวงการนี้ที่จะมองข้ามและปฏิเสธเสียมิได้เลยว่า มันโคตรจะสำคัญมากๆ คือมองแค่ทีมหรือตัวบุคคลก็อาจตัดสินได้เลยว่าเหรียญนั้นๆ เป็นเหรียญพื้นฐานดีหรือไม่ดีก็ว่าได้
ยกตัวอย่างเช่น เหรียญซีคอยน์ที่มีหัวหน้าทีมอย่างคุณหนึ่ง-ปรมินทร์ อินโสม เป็นผู้ก่อตั้งและหัวหน้าทีมพัฒนา ซึ่งตัวคุณหนึ่งเองและทีมนั้นอยู่ในวงการบล็อกเชนมาอย่างน้อยๆ 5 ปีขึ้นไป ก็ไม่ต้องพูดถึงเลยว่าประสบการณ์และความสามารถจะเป็นอย่างไร ผลงานย่อมเป็นคำตอบให้กับคำถามนั้นอยู่แล้วหรือจะเป็นเหรียญอิเธอเรียม ที่มีศาสดา Vitalik Buterin เป็นผู้นำทีมและผู้ร่วมก่อตั้ง มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ Vitalik หายไปจากการทวิตเตอร์ราวๆ 3 วัน มีผู้ไม่หวังดีปล่อยข่าวลือออกมาว่า Vitalik เสียชีวิตถึงกับทำให้ราคาของอิเธอเรียมร่วงเลยทันทีประมาณ 5-10%
2. ที่ปรึกษา (advisor)
ยิ่งมีที่ปรึกษาที่เป็นที่รู้จักในวงกว้างหรือคนดังในวงการก็จะยิ่งดี ทำให้โปรเจกต์นั้นๆ ดูน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้นหรือถึงขั้นเพิ่มมูลค่าให้กับโปรเจกต์นั้นๆ เลย ยกตัวอย่างเช่น Vitalik ศาสดาแห่งวงการบล็อกเชน ยุคปัจจุบันที่ใครๆ ก็รู้จักเป็นอย่างดี ถ้าเขาไปเป็นที่ปรึกษาให้กับโปรเจกต์ไหน โปรเจกต์นั้นจะดูน่าสนใจมากๆ ขึ้นมาทันทีเลย หรือจะเป็นบุคคลดังๆ ในวงการท่านอื่นๆ เช่น Dr. Gavin Wood หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งอิเธอเรียม และยังเป็นผู้ก่อตั้ง Parity Technologies อีกด้วย หรือจะเป็น Anthony Dilorio ก็เป็นอีกหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งอิเธอเรียม และยังเป็นผู้ก่อตั้งกระเป๋าเก็บเหรียญชื่อดังนาม Jaxx อีกด้วย
3. พาร์ตเนอร์ (partner)
ตรงจุดนี้จะคล้ายๆ กับที่ปรึกษา (advisor) ต่างกันที่ส่วนใหญ่จะเป็นในนามองค์กรหรือบริษัทแทนมากกว่า หรืออาจจะเป็นเหรียญดังๆ ในตลาดก็ได้ ตัวอย่างเช่น โปรเจกต์นามว่า Zippie ที่มีพาร์ตเนอร์เป็นเหรียญดังในตลาดไม่ว่าจะเป็น StreamR, Nebulas, Sentinel Protocol บางโปรเจกต์ก็มีการประกาศจับมือเป็นพาร์ตเนอร์กับธุรกิจจริงๆ ที่ไม่ได้อยู่ในวงการคริปโตเคอเรนซีหรือบล็อกเชน เช่น Nokia ประกาศเป็นพาร์ตเนอร์กับทาง StreamR เพื่อใช้เทคโนโลยีของ StreamR ในการซื้อขายข้อมูลแบบเรียลไทม์กันได้ ก็ส่งผลให้เหรียญของ StreamR ดูดีขึ้นมาอย่างมากเลย
4. โซเชียลมีเดีย (community)
สื่อออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น Twitter, Facebook, Telegram, Slack, Discord คืออีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญต่อทุกโปรเจกต์ในวงการคริปโตฯ เลยก็ว่าได้ เพราะมันจำเป็นต้องใช้สื่อสารกับผู้ที่สนใจในโปรเจกต์นั้นๆ สื่อสารกับแฟนคลับ กับตัวโปรเจกต์เอง ประกาศข่าวต่างๆ ที่สำคัญกับตัวโปรเจกต์เอง ทีมงานหรือแอดมินก็ต้องคอยโพสต์หรือสื่อสารกับคนที่ติดตามอยู่เสมอๆ ยกตัวอย่างเช่น NEO เทคโนโลยีของเหรียญนี้อาจจะไม่ดีมากนัก ล่มก็บ่อยมาก ทว่าคอมมูนิตี้รักโปรเจกต์นี้มาก และเชียร์กันบ่อยๆ หรือพูดแต่สิ่งดีๆ กับโปรเจกต์นี้ก็ส่งผลต่อราคาขึ้นได้เช่นกัน และราคาไม่ค่อยลงมากนัก
5. การตลาด (marketing)
การตลาดสำคัญมากๆ มันคือการสร้างการรับรู้ในตัวเหรียญหรือแบรนด์นั้นๆ ยิ่งเหรียญไหนเน้นในเรื่องการตลาดที่จะทำให้คนรับรู้ว่าโปรเจกต์ของตัวเองคืออะไร จะทำอย่างไรให้คนส่วนใหญ่เข้าใจได้ง่ายๆ ยิ่งน่าสนใจ เพราะวงการนี้ยังเป็นอะไรที่ค่อนข้างเข้าใจยาก ถ้าโปรเจกต์ไหนสามารถทำการตลาดได้ดีให้คนเข้าใจได้ง่ายๆ อันนี้แหละน่าสนใจมากๆ มันก็จะแปลว่า คนจะเข้าไปถือเหรียญนั้นๆ มากขึ้นเรื่อยๆ
6. โค้ด (github)
ถ้าไม่ใช่สายเดฟ (developer) อาจจะดูยากและไม่เข้าใจโค้ดของโปรเจกต์นั้นๆ เลย ส่วนถ้าใครเป็นสายเดฟจะได้เปรียบเป็นอย่างมาก เพราะจะดูออกเลยว่าโปรเจกต์นั้นๆ พื้นฐานดีหรือไม่ดีอย่างไร ก๊อปปี้โค้ดมาจากโปรเจกต์อื่นไหม? ก็จะพอรู้ได้เลยบางคนถึงกับบอกเลยว่าเหรียญนี้โค้ดสวยมากๆ กันเลยทีเดียว
7. เทคโนโลยี (technology)
นอกจากบล็อกเชนที่เป็นเมนหลักของเทคโนโลยีนี้แล้ว ก็จะมีหลายๆ โปรเจกต์ที่มีเทคโนโลยีมาช่วยทำให้บล็อกเชนดีขึ้น ทำอะไรได้ง่ายขึ้น เช่น บางโปรเจกต์จะมาทำให้การสร้างสัญญาอัจฉริยะง่ายขึ้น คนทั่วไปที่ไม่รู้ภาษาคอมพิวเตอร์ก็สามารถสร้างสัญญาอัจฉริยะบนบล็อกเชนได้ง่ายๆ เพียงไม่กี่คลิก ดังเช่น โปรเจกต์ที่ชื่อว่า BlockCAT, Etherparty เป็นต้น
ตัวอย่างเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น
• Cross Chain เทคโนโลยีที่จะทำให้เชน (chain) ที่แตกต่างกันสามารถสื่อสารกันได้ ส่งเหรียญข้ามแพลตฟอร์ม
• Scalable, Sharding จะมีบางโปรเจกต์มาแก้ปัญหาใหญ่ของบล็อกเชน คือ Scaling สมมติว่าคนล้านคนทำธุรกรรมพร้อมๆ กัน ก็จะเกิดปัญหากับบล็อกเชนทันที
• Decentralized Data Exchange หรือจะเรียกว่า Big Data ก็คงไม่ผิดมากนัก ตัวอย่างโปรเจกต์ที่เน้นในเรื่องนี้ก็เช่น Data (StreamR), Ocean Protocol
• Decentralized Exchange แบบ Trustless ตัวอย่างโปรเจกต์ เช่น Kyber Network หรือจะเป็นเทคโนโลยีที่จะมาผนวกกับบล็อกเชน เช่น
• IoT (Internet of Things)
• Machine Learning
• AI (Artificial Intelligence)
• RFID Chips (Radio Frequency Identification)
• Web3.0 หรือ DApp Browser
สุดท้ายท้ายสุด คือการทำให้ได้ตามที่ได้ประกาศไว้ ดังเช่น โร้ดแมปโปรเจกต์นั้นๆ ประกาศเอาไว้
ถ้าทำไม่ได้ตามนั้น คนที่ถือเหรียญอยู่ก็อาจขาดความศรัทธาและเชื่อมั่นในเหรียญนั้นๆ ก็ได้ก็จะเกิดการเทขายกันออกมาย่อมส่งผลต่อราคาในปัจจุบันและอนาคตได้เลยทีเดียว
อย่าลืมว่าวงการนี้ ไม่มีงบการเงินให้ดู ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญคือความเชื่อมั่นและศรัทธาของคนที่ถือเหรียญนั้น ๆ อยู่
ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นคือแค่เบื้องต้นในการวิเคราะห์เท่านั้นและส่วนหนึ่งในการวิเคราะห์ว่าโปรเจกต์ไหนน่าลงทุนระยะยาว หรือเหรียญไหนในตลาดพื้นฐานดีหรือไม่ดีอย่างไร ยังมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราต้องดูดูให้รอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นกราฟจังหวะการเข้าซื้อ จังหวะการขาย
ยังมีสิ่งน่ารู้เกี่ยวกับเงินดิจิทัลอีกมากมายใครที่สนใจเรื่องนี้ อ่านเล่มนี้ต่อได้ที่ 2read หรือ คลิกที่นี่