#ข่าวหุ้นธุรกิจการลงทุน

อะไรทำให้ 4 เดือนแรกของปี 64 มีนักลงทุนหน้าใหม่เปิดพอร์ตถึง 7 แสนราย

โดย วัชราทิตย์ เกษศรี
เผยแพร่:
162 views

จากการที่นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ได้เปิดเผยถึงสถิติการเปิดบัญชีใหม่เพื่อซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไทย ที่พบว่ามีนักลงทุนหน้าใหม่เข้าสู่วงการตลาดหุ้นเพิ่มขึ้นสูงกว่า 8 แสนบัญชีเมื่อปี 2563 และเพียงแค่ 4 เดือนแรกของปีนี้ก็มีพอร์ตใหม่ๆ เกิดขึ้นถึง 7 แสนพอร์ต ซึ่งนับว่าสูงเป็นประวัติการณ์โดยที่ปกติแล้วจะมียอดเปิดบัญชีเฉลี่ยแค่ปีละ 3-4 แสนบัญชีเท่านั้น

 

ปัจจัยที่ทำให้ตลาดหลักทรัพย์มีนักลงทุนหน้าใหม่ๆ ตบเท้าเข้าสู่เส้นทางการซื้อขายหุ้นมากขนาดนี้ ส่วนหนึ่งก็มาจากระบบการเปิดพอร์ตที่สะดวกสบายมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน จากการใช้ระบบออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟนและเว็บไซต์ “e-Open Account” ที่ทำให้การเปิดพอร์ตไม่จำเป็นต่อถ่อสังขารหอบหิ้วเอกสารไปที่ธนาคาร หรือศูนย์บริการของบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ อย่างในอดีต ช่วยลดขั้นตอนการเปิดพอร์ตการลงทุนให้ง่ายและรวดเร็ว

 

ในมุมมองของผู้เขียนซึ่งเป็นหนึ่งในนักลงทุนรายย่อยในตลาดหุ้นมองว่า บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นของไทยแม้จะมีความเคลื่อนไหลค่อนข้างสวิงไปมาพอสมควร แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่พอรับกับสถานการณ์ได้ เนื่องจากพื้นฐานของ SET INDEX ยังคงมีความแข็งแกร่ง แม้จะเจอกับปัจจัยกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว สงครามการค้าระหว่างมหาอำนาจโลก และการเกิดโรคระบาดรุนแรง แต่ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่าไม่ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายเพียงใด ตลาดหุ้นไทยมีการปรับตัวและรับมือกับความไม่สบายผันผวนได้เสมอ

 

คนไทยเริ่มมีความเข้าใจและมีความรู้มากขึ้นในการลงทุนอื่นๆ นอกจากการออมเงินในบัญชีออมทรัพย์ ที่ออมให้ตายยังไงก็สู้เงินเฟ้อไม่ไหว ดอกเบี้ยเงินฝากต่ำเตี้ยเรี่ยดิน จะเก็บดอกกินก็คงจะยาก เงินต้นไม่หายไปจากบัญชีก็ดีเท่าไหร่แล้ว ผนวกกับการซื้อกองทุนรวม LTF RMF หรือ SSF และการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ มาก่อนยิ่งทำให้เป็นเหมือนกับการได้ฝึกความรู้ความเข้าใจในลงทุน และมั่นใจได้ประมาณหนึ่งว่าการลงทุนไม่ใช่เรื่องยากแล้วน่ากลัว อย่างที่ในอดีตมักมีคนลงทุนซื้อหุ้นแล้วเจ๊งกันเป็นแสนเป็นล้าน เพราะขาดความเข้าใจและการศึกษาข้อมูลที่ดีเพียงพอ

 

อีกทั้งตามเพจต่างๆ กลุ่มเฟสบุ๊ค รวมทั้งอินฟลูเอนเซอร์สายการลงทุนก็ให้ความรู้และเป็นที่ปรึกษาด้านการสอนวิธีการลงทุนอย่างถูกต้อง ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างพื้นฐานความเข้าใจในการเตรียมความพร้อมก่อนการลงทุนได้เป็นอย่างดี

 

ในช่วงที่การระบาดของไวรัสกระทบกับความมั่นคงทางรายได้ ทำให้อาจจะต้องหารายได้เพิ่มโดยที่ไม่ต้องเสี่ยงออกไปหางานอื่นๆ ข้างนอกให้เสี่ยงติดเชื้อ หรือมีเวลามากขึ้นเพราะทำการ Work From Home ได้ ทำให้มีเวลาที่จะลองศึกษารูปแบบการลงทุนใหม่ๆ และลองทำการฝึกเทรดหุ้นจำลองได้ เหมือนเป็นการลองมือก่อนที่จะลงสนามจริง และใช้เงินจริง


นอกจากนี้กระแสหุ้น IPO แห่งปีอย่าง บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก(OR) และ บมจ.เงินติดล้อ (TIDLOR) ที่เข้ามาระดมทุนผ่านการกระจายหุ้นให้นักลงทุนรายย่อยแบบ Small Lot First มีผลอย่างมากต่อการเชิญชวนให้ผู้คนเข้ามาลงทุนจนจำนวนพอร์ตมีมากขึ้น โดยเฉพาะ OR ที่มีการให้จองหุ้นในราคาที่ไม่สูงมากกับจำนวนหุ้นเริ่มต้นที่ 300 หุ้น ซึ่งนับว่าไม่เกินกว่ากำลังของคนทั่วไปที่จะเจียดเงินเก็บมาจองหุ้นนี้ ประกอบกับกระแสการโปรโมท การทำการตลาด และตัวบริษัทแม่อย่าง ปตท. ก็เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีความมั่นคงสูง และเข้าถึงความรู้สึกการมีร่วมของผู้คนได้ดี เพราะใครๆ ก็ต้องเคยแวะปั้มน้ำมันของ ปตท. จึงเป็นสิ่งที่ทำให้คนสนใจเข้ามาจองหุ้นเป็นจำนวนมากถึง 530,000 ราย

 

ส่วน บมจ.เงินติดล้อ (TIDLOR) ก็ใช้วิธีเดียวกับ OR สร้างกระแสตอบรับการจองหุ้นได้พอสมควร แม้จะไม่มากเท่า OR เนื่องจากราคาจองค่อนข้างสูง และมีโอกาสที่จะไม่ได้หุ้นตัวนี้ในราคา IPO แต่ก็ถือว่าเรียกกระแสความสนใจในการลงทุนของนักลงทุนหน้าใหม่ๆ ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะผู้ที่พลาดจากการจองหุ้น OR

 

ปัจจุบันข้อมูลล่าสุดสิ้นเดือนเมษายน 2564 มียอดเปิดบัญชีรวม 4.2 ล้านบัญชี เฉพาะปีนี้เพิ่มขึ้นแล้วกว่า 7 แสนบัญชี โดยนักลงทุนรายย่อยยังคงมีมูลค่าการซื้อขายสูงสุดที่ 51.6% ของมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งตลาด

 

ทางด้านนายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลท. เปิดเผยว่า ในช่วงมกราคม-เมษายน 2564 แต่ละประเทศทยอยฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ให้ประชากรโดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว ส่งผลให้ IMFคาดการณ์เศรษฐกิจโลกว่าจะสามารถฟื้นตัวกลับมาสู่ภาวะปกติ และปรับประมาณการเติบโตของ GDP โลกเพิ่มขึ้นจาก 5.5% เป็น 6.0%

 

แต่การระบาดของ COVID-19 รอบใหม่ในประเทศไทย ส่งผลให้นักเศรษฐศาสตร์ปรับลดประมาณการเติบโตของ GDP ลงเล็กน้อย ส่วนหนึ่งเพราะได้รับปัจจัยบวกจากภาคการส่งออกของไทยในช่วงไตรมาส 1/2564 ที่ส่งสัญญาณฟื้นตัวแข็งแกร่ง อีกทั้งนักวิเคราะห์ยังปรับประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
 

อย่างไรก็ตามประโยคคลาสสิคตลอดการในการเข้าสู่สนามของนักลงทุนอย่าง “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน” ยังคงเป็นสิ่งที่ใช้ย้ำเตือนได้เสมอ เพราะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไม่ใช้พื้นที่ของสนามเด็กเล่น ที่จะเข้ามาแล้วเห็นเงิน เงินกำไรได้ตลอดเวลา เพราะมีความผันผวนตามสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ และปัจจัยอื่นๆ มากมายโดยเฉพาะเหล่าผู้คุมกฎรายใหญ่ๆ ที่วันหนึ่งจะกรูกันเข้าซื้อจนราคาหุ้นพุ่งเห็นเขียวสวยสดใส แต่จู่ๆ จะทุบตลาดเทขายกันโครมเดียวแบบชั่วพริบตาก็เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ รายย่อยที่เข้าช้าออกไม่ทันก็พากันติดดอยเหน็บหนาว ลงไม่ได้กันบานเบอะ หรือจู่ต้องขายหมู ขายขาดทุนก็เยอะไป

 

เพราะฉะนั้นก่อนจะลงทุนอะไรอาจจะต้องศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เพื่อป้องกันการ “เจ็บตัว” จากสมรภูมิในตลาดหุ้น จนเข็ดขยาดและมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการซื้อขายหุ้น และต้องเข้าใจว่าการลงทุนในตลาดหุ้นไม่ใช่การออมเงิน มันมีความเสี่ยงเสมอที่จะหายทั้งกำไรทั้งเงินต้น ดังนั้นก่อนจะลงทุนอะไรศึกษาให้ดี แล้วเราจะมีความสุข และสนุกกับการลงทุนนั่นเอง


ประวัตินักเขียน : 10 ปี ในอาชีพผู้ประกาศข่าว ผู้สื่อข่าว และครีเอทีฟโปรดิวเซอร์รายการทีวี สิงสถิตสายเศรษฐกิจมหภาค อาเซียน และต่างประเทศ จากกรุงเทพธุรกิจทีวี NOW26 NEW18 GMM25 JKN-CNBC และ NBT WORLD

ผู้ก่อตั้งเพจและเว็บไซต์ Reporter Journey ที่มีผู้ติดตามทุกแพล็ตฟอร์มกว่ากว่า 250,000 คน

Facebook

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง