"พูดถึงการอ่านบทวิเคราะห์ แค่คิดก็รู้สึกง่วงนอนแล้ว อย่าว่าแต่ทำความเข้าใจเลย ..."
"บทวิเคราะห์ก็เหมือนการเชียร์หุ้น เล่นเองดีกว่า"
"เล่นหุ้นตามโบรค มีแต่เจ๊งกับเจ๊ง ..."
นี้เป็นความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ที่มีต่อบทวิเคราะห์ แต่นั้นเป็นการเข้าใจแบบ "ผิวเผิน" เท่านั้น ถ้าเราเข้าใจแบบนี้แสดงว่าเราอ่านแต่คำว่า "ซื้อ "ถือ" หรือ "ขาย" เราไม่ได้อ่านเนื้อหาของการวิเคราะห์เลยว่าพูดถึงประเด็นอะไร มีพัฒนาการอย่างไรของบริษัท
ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจส่วนประกอบของบทวิเคราะห์ กันก่อนครับ
1. ชื่อหุ้น
2. หัวข้อของการวิเคราะห์ , สรุปประเด็นแบบสั้นๆ
3. แนะนำซื้อ ถือ หรือขาย พร้อมบอกราคาเป้าหมาย (เป็นส่วนที่เราควรให้ความสำคัญน้อยที่สุด)
4. เนื้อหาของการวิเคราะห์ บางแห่งเป็นเนื้อหาสรุป และส่วนเนื้อหาจะอยู่หน้าถัดไป
5. คาดการผลประกอบการล่วงหน้าของหุ้นตัวนั้นๆ
ส่วนที่นักลงทุนต้องให้ความสนใจ คือ ข้อ 2 และข้อ 4
และส่วนที่ให้ความสำคัญน้อยที่สุด คือ ข้อ 3
การอ่านบทวิเคราะห์ เราแทบจะไม่สนใจว่า "ซื้อ "ถือ" หรือ "ขาย" รวมถึงราคาเป้าหมาย (Target Price) เลย แต่เราสนใจในเนื้อหาของบทวิเคราะห์มากกว่า (ในขณะที่คนส่วนใหญ่สนใจแค่ ซื้อไหม ราคาเป้าหมายเท่าไร...)
ต่อมาแยกประเภทของบทวิเคราะห์ ซึ่งบทวิเคราะห์จะมีอยู่ 3 แบบด้วยกัน คือ
1. วิเคราะห์ผลประกอบการที่ออกมา : อันนี้วิเคราะห์งบการเงินรายไตรมาส ว่ามีจุดสำคัญอะไร มีกำไรพิเศษไหม มีขาดทุนอะไรตรงไหนบ้าง และตอนท้ายเป็นการแสดงความคิดเห็น ถ้าคนที่ "คุ้นเคย" จะลดระยะเวลาสำหรับการนั่งอ่านผลประกอบการรายไตรมาสได้อย่างมาก เพราะนักวิเคราะห์สรุปมาให้ในรายงานหน้าเดียว
2. วิเคราะห์เหตุการณ์สำคัญ : เวลาที่บริษัทมีประเด็นอะไรสำคัญ มีข่าวอะไรสำคัญ เช่นในปัจจุบัน CPALL ซื้อเทสโก้โลตัส จะกระทบระยะสั้น - ระยะยาวอย่างไร หรือการ Spin-Off หุ้น STGT ของหุ้นแม่อย่าง STA จะส่งผลกระทบเชิงบวกอย่างไรบ้าง ประเด็นนี้แนะนำว่าเราควรอ่านของหลายๆค่ายเพื่อรวบรวมความคิดเห็น เราสามารถดาวโหลดได้จากเว็บ settrade.com หรือตามเว็บไซด์ของบริษัทหลักทรัพย์นั้นๆได้เลย บางแห่งก็สามารถดาวโหลดมาอ่านฟรีได้เลย
3. วิเคราะห์คาดการณ์ผลประกอบการที่กำลังจะมาถึง : อันนี้ก็ถือว่าสำคัญ เพราะเป็นการมองภาพแบบคร่าวๆของผลประกอบการที่กำลังจะออก มีมุมมองเชิงบวกอย่างไร มีประเด็นเชิงลบอะไรบ้างเพราะนักวิเคราะห์จะใกล้ชิดกับบริษัทจดทะเบียนมากกว่า อีกทั้งโบรคเกอร์จะมี Model การคำนวนผลประกอบการออกมา ถึงแม้ว่าตัวเลขอาจจะไม่ตรง แต่เราควรจะดู "แนวโน้ม" ของผลประกอบการ ก็มีส่วนช่วยได้มาก
... ตัวอย่างเช่น สำหรับปี 2564 ผลประกอบการกลุ่มแบงก์จะฟื้นตัวเด่นชัดในครึ่งปีหลัง เราก็พอจะเห็นภาพคร่าวๆแล้วว่า อ่อ! กลุ่มแบงก์มีแนวโน้มที่ดีในครึ่งปีหลัง หรือไตรมาส 1 ปีนี้ ผลประกอบการของ CPF จะออกมาโดดเด่น เพราะ ราคาหมูดีขึ้น ธุรกิจปลายน้ำดีขึ้น เป็นต้น
นี้ก็เป็นข้อควรรู้ของบทวิเคราะห์สไตล์มือใหม่ที่ควรทำความเข้าใจ เชื่อว่าถ้าเราใช้เป็นจะมีประสิทธิภาพในการลงทุนอย่างมากครับ