ดูเหมือนว่ามีนักลงทุนจำนวนมากที่เข้ามาในโลกการลงทุนได้ไม่นาน อยากจะเพิ่มความเสี่ยงให้มากขึ้น แต่ไม่อยากลงทุนในหุ้นที่มีความเสี่ยงสูงมาก จึงเลือกที่จะลงทุนในกองทุนรวมเป็นตัวเลือกแรกๆ
... แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า ไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหนดี
นี้เป็น 5 เคล็ดไม่ลับ วิธีเลือกกองทุนรวมให้เหมาะสมกับตัวเราเอง
มีอะไรบ้าง มาดูกันครับ
1. เงินที่เราจะลงทุน เราพร้อมจะเสียมันไปได้โดยไม่กระทบกับชีวิตประจำวันเราหรือไม่
นี้เป็นคำถามสำคัญที่ต้องถามตัวเองว่า เราพร้อมรับความเสี่ยงที่มากขึ้นเพื่อต้องการผลตอบแทนที่มากขึ้น แล้วเรา "ทำใจ" ได้ไหม ถ้าลงทุนแล้วเราอาจจะขาดทุน เพราะเราต้องไม่ลืมว่า การลงทุนเราจะได้รับผลตอบแทนที่สูง แต่เราก็มีโอกาสที่จะขาดทุนได้เช่นเดียวกัน
เงินก้อนนี้ ถ้า "ขาดทุน" เราทำใจรับได้ไหม ?
เงินก้อนนี้ ไม่ได้มีความจำเป็นต้องใช้ในอีก 5 ปีข้างหน้า ?
เงินก้อนนี้ เป็นเงินออม เป็นเงินเย็น ของเรา ?
ยิ่งช่วงนี้ มีนักลงทุนจำนวนมากอยากจะลงทุนต่างประเทศผ่านกองทุนรวม แต่เราต้องไม่ลืมว่ากองทุนรวมต่างประเทศมีความเสี่ยงมาก เช่น เรื่องของเศรษฐกิจ เรื่องของวัฒนธรรมที่แตกต่างจากของไทย เรื่องของภาษี เรื่องของปันผล เรื่องของค่าเงินที่ขึ้นลงตลอดเวลา เราจำเป็นจะต้องเข้าใจให้รอบด้านก่อนครับ
2. วิเคราะห์ภาพตลาด
เราต้องเข้าใจก่อนว่า ราคาของสินทรัพย์กองทุน (NAV) เปลี่ยนแปลงทุกวัน เราต้องรู้ว่าสินทรัพย์ที่เราจะซื้ออ้างอิงกับอะไรเป็นส่วนใหญ่ เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้ ก็จะอ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ย ถ้าเราวิเคราะห์ว่าดอกเบี้ยมีแนวโน้มสูงขึ้น กองทุนนี้ก็จะให้ผลตอบแทนดีขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยการวิเคราะห์ภาพตลาดและเศรษฐกิจโดยรวม
สำหรับการลงทุนในกองทุนหุ้นต่างประเทศ เช่น ประเทศจีน ส่วนใหญ่ก็จะอ้างอิงกับดัชนี Hang Seng ของฮ่องกง หรือ Shanghai Index ของจีน เราก็ต้องไปศึกษาว่าตลาดเหล่านี้อยู่ระดับตรงไหน แพงไปหรือยัง มีค่า P/E เท่าไร
รวมถึงกองทุนที่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์อย่างทองคำ หรือน้ำมัน ก็จะอ้างอิงอยู่กับราคาเหล่านี้ที่เราจำเป็นจะต้องเกาะติดอยู่ตลอดเวลา ครับ
3. เลือกกองทุน
เมื่อเราวิเคราะห์ข้อที่ 1 และ 2 แล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อมา คือ "คัดเลือก" กองทุน
เราอาจจะเลือกมา 4-5 กองทุน ที่เราสนใจจากต่าง บลจ. เมื่อเลือกแล้วเราก็ต้องทำการบ้านต่อว่ากองทุนที่เราสนใจนั้นลงทุนในอะไรบ้าง เพราะเราต้องไม่ลืมว่ากองทุนที่ลงทุนประเภทเดียวกัน แต่ให้ผลตอบแทนแตกต่างกันเพราะ การลงทุนของผู้จัดการกองทุนแต่ละคนแตกต่างกัน
เช่น การลงทุนในต่างประเทศ อย่างเช่นหุ้นจีน ส่วนใหญ่กองทุนไทยจะเป็นลักษณะระดมเงินเพื่อไปซื้อกองทุนจากต่างประเทศที่ลงทุนในจีนต่ออีกทีหนึ่ง เราก็ต้องไปค้นคว้าต่อว่ากองทุนต่างประเทศนั้น ถือหุ้นอะไรอยู่บ้าง เน้นลงทุนในอะไร ผลการดำเนินงานย้อนหลังเป็นอย่างไร
ขั้นตอนนี้ อาจจะใช้เวลานานสักหน่อยครับ แต่ถ้าได้ลงมือทำแล้ว คุ้มค่ากับเวลาที่เสียไปแน่นอน
4. เปรียบเทียบกองทุน
เมื่อเราได้กองทุนที่เราต้องการแล้ว ต่อไปก็คือการเปรียบเทียบกองทุน ว่ากองทุนไหนที่เราชอบมากที่สุด มีนโยบายการลงทุน หรือหุ้นที่เราสนใจ และผลการดำเนินงาน (Performance) ที่ผ่านมาของกองทุนเป็นอย่างไร มีความสม่ำเสมอมากแค่ไหน กองทุนมีปันผลหรือไม่
ที่สำคัญ อย่าลืมดูค่าธรรมเนียมจัดการกองทุนที่เหมาะสมเมื่อเปรียบเทียบกับผลตอบแทนที่จะได้รับด้วยนะครับ
5. สำคัญที่สุด คือ จังหวะของการเข้าซื้อ
ราคา NAV มีขึ้นลงตลอดเวลา จังหวะของการเข้าเป็นสิ่งสำคัญที่จะชี้ให้เราเห็นเลยว่าจะขาดทุนตั้งแต่ต้น หรือกำไรตั้งแต่ซื้อ เราอาจจะรอจังหวะของการปรับฐานแล้วเข้าซื้อ หรือถ้าเราจับจังหวะไม่ถูกก็อาจจะใช้วิธีของการ "ซื้อถัวเฉลี่ย" หรือ DCA (Dollar Cost Average) คือ แบ่งเงินซื้อเป็นประจำทุกเดือนในระยะเวลาเดียวกัน ด้วยเงินเท่าๆกัน วิธีนี้จะทำให้เราได้ต้นทุนแบบเฉลี่ยๆ ไม่ต่ำและไม่สูงจนเกินไป
จะเห็นได้ว่า ขั้นตอนสำคัญในการเลือกกองทุน คือ ต้องรู้ความต้องการ และระดับความเสี่ยงของตัวเอง จากนั้นจึงมองหากองทุนที่เหมาะสมกับตัวเอง ตอบโจทย์ต่อการวางแผนการเงินของเราได้นั้นเองครับ