#แนวคิดด้านการลงทุน

ปั่นหุ้น vs. ปั้นหุ้น (ตอนจบ)

โดย วิชัย ทองแตง
เผยแพร่:
679 views

 

(ต่อจากตอนที่แล้ว)

 

3. ข้อควรต้องสังเกตอีกข้อ ก็คือ หุ้นที่อยู่ในขบวนการปั่น มักจะเป็นหุ้นที่พื้นฐานไม่ดี

 

“มักจะ” นะครับ ข้อนี้ต้องเข้าใจให้ชัด ที่พวกนักปั่นเลือกหุ้นประเภทนี้มาปั่น ก็เพราะหุ้นที่มีพื้นฐานดี จะมีนักวิเคราะห์เขียนบทวิจัยกันออกมาบ่อย ๆ ซึ่งนักลงทุนทั่วไปและนักลงทุนสถาบันก็จะเข้ามาเล่นด้วย จึงยากต่อการควบคุม

 

สาเหตุที่เลือกหุ้นพื้นฐานไม่ดีมาปั่น ก็เพราะมันสามารถใช้สูตรง่าย ๆ ที่นักลงทุน โดยเฉพาะรายย่อย ชอบกันเหลือเกิน ก็คือ การปล่อยข่าวว่าจะมีการขยายการลงทุนไปในธุรกิจอื่นที่มี P/E สูง หรือ การได้รับงานใหม่มี Back Log เพิ่ม ซึ่งจะทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ หรือการปล่อยข่าวว่าจะเปลี่ยนการลงทุนโดยย้ายหมวดกันเลยทีเดียว เหมือนกับการ Diversify หรือ Turn Around ทำนองนั้น

 

บางครั้งก็เล่นข่าวว่ามีขาใหญ่เข้ามาลงทุน มีนักลงทุนที่มีชื่อเสียง เข้ามาลงทุนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แล้วขยายหรือเปลี่ยนธุรกิจไปในแนวทางใหม่ที่ดีกว่าเก่า ฯลฯ โดยสรุปก็คือการ “ปล่อยข่าว” เป็นหลักนั่นแหละครับ

 

ส่วนหุ้นประเภทพื้นฐานดี ก็ใช่ว่าจะหลีกพ้นจากการปั่นไปได้ โดยมักจะทำกันแบบเนียน ๆ นั่นคือ ปล่อยข่าวให้เกินจริงนิดหน่อย เขาเรียกว่าเป็นการ “ปั่นตามน้ำ” ซึ่งเดี๋ยวผมจะเขียนอธิบายเอาไว้ต่างหากเป็นอีกข้อหนึ่ง

 

 

บางครั้งก็เป็นการเอาข่าวเก่ามา “เล่น” ใหม่ หรือเอาข่าวจริงแต่ยังไม่ถึงกำหนดประกาศ เอามา “เล่น” ล่วงหน้าในช่วงกระแสตลาดดี ๆ หรือช่วงขาขึ้นของตลาด วิธีนี้บางครั้งมี “คนใน” ร่วมกันสนับสนุน คนในที่ว่านี้อาจจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เสียเอง หรือผู้บริหารของบริษัทนั่นแหละ สรุปว่าเล่นกันเสียเอง

 

เขียนถึงตรงนี้ ก็ขอแก้ต่างแทน “คนใน” ไว้ด้วยครับ เพราะเหตุการณ์ “ข่าวรั่ว” ทำนองนี้มันเกิดขึ้นได้เสมอในทุกองค์กร ผมเองมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการในบริษัทจดทะเบียนอยู่หลายบริษัท มันเป็นความยากเหมือนกันที่จะปกปิดข่าวดี ๆ ต่าง ๆ ในบริษัทไว้ให้เป็นความลับอันมิอาจแพร่งพรายสู่สาธารณะได้อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะข่าวดีที่จะมีผลและอ่อนไหวต่อราคาหุ้น

 

บางครั้ง พวกเราผู้บริหารถึงได้ปิดเงียบอย่างจริง ๆ จัง ๆ แต่การทำงานทุกอย่าง โดยเฉพาะการเจรจาดีล (Deal) ต่าง ๆ ที่ต้องมีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย บางครั้งเราก็คาดไม่ถึงหรอกครับว่ามันหลุดออกมาท่าไหน แต่อย่างน้อยตัวเราเองต้องมั่นคงครับ ไม่เป็นผู้หลุดข่าวเสียเอง

 

 

4. “ปั่นตามน้ำ” 

 

เรื่องนี้ขอแยกออกมาเขียนหน่อยนึงครับ เพราะเป็นการยากมากที่จะแยกให้ออกระหว่าง ความปกติ กับ ความผิดปกติ ความตั้งใจ กับ ความไม่ตั้งใจ ทั้งเป็นการยากยิ่งนักที่จะจับได้ไล่ทัน แต่หากได้ทำการวิเคราะห์อย่างละเอียดแล้ว จะพบว่าเป็นความแนบเนียน เป็นความแยบยล และเป็นเทคนิคของมืออาชีพ ที่ไม่สามารถกล่าวหา หรือกล่าวโทษได้เลย           

           

มันเป็นความสอดคล้องสมเจตนา ระหว่างเจตนาของ เจ้าของ กับ นักปั่น โดยมิได้นัดหมายกัน (หรืออาจจะนัดหมายก็ไม่แน่ เอาเป็นว่าคิดในแง่ดีไว้ก่อนครับ)

 

อย่างเช่น บริษัทที่ทำกำไรได้ดีเสมอมา และมีการจัดสรรกำไรออกมาจ่ายเป็นเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ เกิดวันดีคืนดีนึกขึ้นมาได้ว่า อยากใช้กระแสเงินสดในบริษัทที่มีอยู่เหลือเฟือ เพื่อไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์พิเศษของตน ก็เลยคิดผันเอากำไรออกมาปันโดยชอบด้วยกฎหมาย อาจจะเป็นปันผลระหว่างกาล หรือ ปันผลปกติ แต่มีจำนวนสูงเป็นพิเศษ ลูงกว่าที่เคยจ่ายปันผลตลอดมา

 

กรณีอย่างนี้เจ้าของไม่อยากทำผิดกฎหมาย ก็เลยต้องอาศัยมติรองรับ หากเป็นปันผลระหว่างกาล ก็ใช้แค่มติคณะกรรมการ ถ้าเป็นปันผลประจำปี ก็เสนอผ่านมติผู้ถือหุ้น เรื่องแบบนี้จะเลยออกมานอกกรอบนโยบายจ่ายเงินปันผลพิเศษที่แจ้งไว้ในข้อมูลสารสนเทศในแบบ 56-1 แต่หากเมื่อมีมติดังกล่าวรองรับไว้ ก็ไม่ผิดอะไร

 

สำหรับผม ในฐานะที่เป็นคนเก่าคนแก่ในตลาด ไม่ค่อยรู้สึกอะไรเท่าไหร่ เพราะผู้ถือหุ้นทั่วไปก็ชอบ เพราะยิ่งปันผลเยอะ ก็จะยิ่งชอบ

           

แต่ถ้ามองกลับมาถึงเจตนาแล้ว ก็ต้องบอกว่าดูไม่สวยเท่าไหร่ เพราะคุณก็รู้อยู่ว่า ทางคุณคือคนที่ได้ประโยชน์สูงสุด เนื่องจากถือหุ้นเยอะ ปันผลเยอะ เม็ดเงินก็ได้เต็มที่ ถ้าเป็นเรื่องเจตนาเพื่อตนเอง 

 

บางทีมันอาจตัดโอกาสการลงทุนขยายกิจการเพื่อสร้างอนาคตความเติบโตของบริษัทไปอย่างน่าเสียดาย เพียงเพราะคุณคิดอย่างสั้น ๆ ด้วยเหตุผลเฉพาะหน้า หรือ เพียงแค่ตอบสนองความต้องการของตัวคุณเอง โดยมิได้คำนึงถึงแผนในอนาคตของบริษัท

 

พวกนักปั่นจมูกไวทั้งหลาย เมื่อได้กลิ่นพวกนี้ แน่นอนว่าเขาก็จะเข้ามาร่วมแจมด้วยแน่ การโดดเข้าร่วมของพวกเขาก็คือ สูตรการสร้างราคา ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ซึ่งก็สมประโยชน์เจ้าของด้วย เจ้าของที่คิดหมาก 2 ชั้นเป็น ก็จะปล่อยให้ทีมนักปั่นทำงานที่พวกเขาเจนจัด ผลก็คือเจ้าของได้ 2 ต่อ คือ ได้ทั้งปันผล และ ราคาหุ้นที่สูงขึ้น ส่วนจอมปั่นก็ได้ราคาหุ้นไปทำกำไรเป็นกอบเป็นกำ

 

 

 

5. ว่าด้วยเทคนิคการปั่น

 

หลังจากเรารู้จัก Money Game ของเจ้ามือที่จะใช้ในการเตรียมปั่นหุ้นแล้ว ต่อไปเรามาดูกันว่าพวกเจ้ามือเขามีวิธีการปั่นหุ้นในกระดานกันอย่างไร หลักการสำคัญก็คือ เจ้ามือจะต้องมีหุ้นอยู่ในมือให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จะคอนโทรลราคาได้ง่าย

           

วิธีการเก็บหุ้น เจ้ามืออาจจะร่วมมือกับเจ้าของหุ้นเดิมหรือมี “นอมินี” มาช่วยเก็บหุ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการรายงานถือครองหุ้นที่มากกว่า 5% ให้กับ กลต. ก่อนที่จะเริ่มทำราคา เจ้ามือจะต้องแน่ใจก่อนว่าไม่มีผู้อื่นแปลกปลอมเข้ามาในหุ้นตัวนั้นด้วย เพราะไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถสร้างราคาได้เต็มที่

 

ข้อสังเกตว่าเจ้ามือกำลังทยอยเก็บหุ้นอยู่ เช่น มีการตั้ง Bid-Offer กันเองในปริมาณที่สูงอย่างผิดสังเกต เช่น ปกติหุ้นดังกล่าวมีวอลลุ่มซื้อขายหลักล้านบาท แต่อยู่ดี ๆ กลับมีการซื้อขายเพิ่มขึ้นเป็นหลักสิบล้านบาท ถ้าเกิดแบบนี้ ให้ตั้งข้อสงสัยเลยว่าอาจมีความพยายามที่จะเก็บหุ้นอยู่

 

เมื่อเก็บหุ้นได้เยอะที่สุดแล้ว เจ้ามือก็จะทำการลากราคาหุ้นขึ้นไปเพื่อให้รายย่อยที่ตกใจกับราคาที่วิ่งขึ้นมาเร็วและแรงเข้ามารับหุ้นเอาไว้แทน บางครั้งเราจะเห็นการทำราคาไปจนถึง Ceiling หรือขึ้นไปกว่า 30% ภายในวันเดียว เพราะเจ้ามือต้องการที่จะลากราคาไปให้ไกลกว่าต้นทุนที่ถืออยู่ให้ได้มากที่สุด ระหว่างนั้นเอง รายย่อยก็จะเกิดความโลภ เพราะเชื่อว่าราคาจะไปได้ไกลกว่านั้น จากข่าวที่จะตามออกมาภายหลัง เช่น เข้าไปลงทุนในธุรกิจอื่นที่มีอนาคต ได้งานประมูลใหม่ ๆ หรือการใช้ Money Game อย่างการแตกพาร์ แจกวอแรนท์ ฯลฯ ซึ่งก็ยิ่งทำให้รายย่อยมีความมั่นใจ

 

ยิ่งสมัยนี้ นักลงทุนที่ใช้กราฟเทคนิคในการวิเคราะห์เริ่มมีมากขึ้น เจ้ามือก็มีความเข้าใจในกราฟเทคนิคด้วย จึงมักจะสร้างราคาให้อิงกับเครื่องมือเทคนิคต่าง ๆ เพื่อให้รายย่อยตายใจ เช่น สร้างราคาให้อยู่เหนือเส้นค่าเฉลี่ย 200 วันให้เหมือนว่าหุ้นกำลังอยู่ในเทรนด์ขาขึ้น เพื่อให้รายย่อยที่เล่นตามเทคนิคเข้ามาซื้อหุ้น

 

เมื่อสามารถสร้างราคาไปได้ไกลกว่าต้นทุนที่ถืออยู่ เจ้ามือก็จะทำการขายหุ้นเพื่อทำกำไร เช่น อาจจะออกข่าวในเชิงลบต่าง ๆ หรือการออกหุ้นเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจงหรือ PP ในราคาที่ต่ำมาก ๆ เจ้ามือก็จะทุบหุ้นลงได้ทุกราคา เพราะต้นทุนที่อยู่ในมือต่ำอยู่แล้ว ผู้ที่เสียหายส่วนใหญ่จึงเป็นนักลงทุนรายย่อยที่เข้ามาถือหุ้นเป็นไม้ท้าย ๆ แล้ว

 

ที่น่าแปลกใจก็คือ พฤติกรรมการปั่นหุ้นดังกล่าวนี้ ไม่ได้เป็นของใหม่แต่อย่างไร 

 

เจ้ามือใช้วิธีแบบนี้มาตั้งนานแล้ว แต่นักลงทุนรายย่อยก็ยังคงตกเป็นเหยื่ออยู่เสมอ

 

เมื่อเราได้รู้แล้วว่าการปั่นหุ้นเขาทำกันอย่างไร หวังว่าพวกเราจะไม่พลาดถูกหลอกอีกนะครับ

 

*******

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ "ปั้นหุ้น"  ของคุณวิชัย ทองแตง เล่มล่าสุด (พฤศจิกายน 2558)

 


คุณ วิชัย ทองแตง รายใหญ่ในสมญานาม "ราชานักเทคโอเวอร์" จะมาเผยหมดเปลือกถึง "กลยุทธ์ปั้นหุ้น"  (หนังสือ "ปั้นหุ้น" พ.ย. 2558) อ่านจบเล่มเมื่อไหร่ ภาพความเข้าใจตลาดฯ ก็จะเปลี่ยนไปตลอดกาล 

คุณวิชัย ทองแตง เป็นนักปั้นหุ้น เป็น "Deal Maker" ที่มีรูปแบบการลงทุนแตกต่างจากรายใหญ่อื่น ๆ ส่วนใหญ่ และนั่นก็เป็นแนวทางที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง

ทั้งการติดอันดับเศรษฐีหุ้นของฟอร์บส์ และทั้งยังมีเวลาช่วยเหลือสังคมในรูปแบบต่าง ๆ ไปพร้อมกัน

ประโยชน์ใด ๆ ที่เกิดขึ้นจากการจำหน่ายหนังสือเล่มนี้ คุณ วิชัย ขอมอบให้มูลนิธิ “หนึ่งน้ำใจ เพื่อหนึ่งชีวิตใหม่” ใครได้อ่าน ก็ถือว่าเป็นการสร้างบุญร่วมกับคุณ วิชัยด้วยแล้วกันครับ

 

 

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง