#ลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐาน

TQR … เพราะความเสี่ยง คือ โอกาส

โดย Stock Vitamins - วิตามินหุ้น
เผยแพร่:
203 views

หุ้น IPO ที่กำลังจะเข้าตลาด ทำธุรกิจเกี่ยวกับประกันภัย เห็นชื่อปุ๊บ คำถามแรกที่นึกถึงคือ เป็นอะไรกับ TQM

ตอบแบบนี้ครับ


1. TQR ไม่ใช่บริษัทลูกของ TQM แต่ครอบครัวพรรณิภา คือ คุณอัญชลิน กับคุณนภัสนันท์ ถือหุ้นตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทในปี 2555 สัดส่วน 60% (หลัง IPO เหลือ 44.3%) และ TQM ไม่ได้เข้ามาบริหารงาน แค่ถือหุ้นใหญ่

2. TQM กับ TQR เป็นนายหน้าประกันภัยเหมือนกัน แต่ TQM เป็น B2C คือ เป็นนายหน้าระหว่างบริษัทประกันกับคนทั่วไป ขณะที่ TQR เป็น B2B เป็นนายหน้าระหว่างบริษัทบริษัทประกัน กับ บริษัทประกันภัยต่ออีกที

3. พูดให้เห็นภาพง่ายๆ คือ สมมติเราซื้อรถมา อยากทำประกัน ก็อาจจะมีเจ้าหน้าที่ของ TQM โทรมาหา ชวนให้ทำประกันกับบริษัทที่มีให้เลือกหลายที่ โดยที่เราไม่ได้ไปติดต่อกับบริษัทประกันโดยตรง เราได้ประกันความคุ้มครอง TQM ได้ค่าธรรมเนียม บริษัทประกันได้เงินประกันจากเรา

 

 

4. ต่อมา บริษัทประกันอาจเริ่มกลัวว่า ทุนประกันสูง มีความเสี่ยง (น้ำท่วม โรคระบาด เป็นต้น) เลยไปหาบริษัทรับประกันภัยต่อมากระจายความเสี่ยงด้วย (เช่น THRE) สมมติทุนประกัน 100 ตัวเองอาจจะรับภัยเอง 40 ส่งต่อให้บริษัทประกันภัยต่อ 60 แต่ทีนี้บริษัทรับประกันภัยต่อในไทยอาจไม่เยอะ แต่ต่างประเทศมีเยอะกว่า TQR เลยเข้ามาเป็นนายหน้าหาให้แล้วคิดค่าธรรมเนียมเอา


===============

ถามว่า ธุรกิจนี้น่าสนใจแค่ไหน

ข้อมูลจาก TQR Roadshow บอกว่า ตลาดประกันวินาศภัยมีเบี้ยประกันต่อปีประมาณ 250,000 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 4% ต่อปี สัดส่วนของประกันภัยต่อ คือ 30% คิดเป็นตัวเงินก็ประมาณ 75,000 ล้านบาท ถือว่าใหญ่อยู่เหมือนกัน

TQR มีเบี้ยประกันต่อปีประมาณ 7,000 - 8,000 ล้านบาท แปลว่า มีส่วนแบ่งอยู่ 10-11% ของตลาด

แต่อัตรากำไรของ TQR นั้นน่าตื่นเต้นกว่า

>> GPM อยู่ที่ 75-80% สูงมาก ถ้าเทียบกับ TQM 48-50%
>> NPM อยู่ที่ 30-40% สูงมากเช่นกัน ถ้าเทียบกับ TQM 17-22%

สาเหตุที่ GPM สูง เพราะ business model ไม่มีอะไรมาก ใช้ความเชี่ยวชาญของคนเป็นหลัก ในการคำนวณ ในการติดต่อสื่อสาร แต่การที่มาร์จิ้นสูงก็จะเป็นตัวเรียกให้คู่แข่งเข้ามามากเช่นกัน


NPM ก็เลยสูงตาม เพราะหลักๆ ก็มีแค่ค่าพนักงาน ค่าเสื่อมบ้างนิดหน่อย แต่มีบางปีเช่น ปี 2560, 2561 ที่ NPM ลงมา 20 ต้นๆ เพราะมีค่าที่ปรึกษาจะขยายไปต่างประเทศมากขึ้น และมีรายการพิเศษสำรองไว้เรื่องข้อพิพาททางกฎหมาย


มาดูรายได้และกำไรที่เป็นตัวเลขจะได้ภาพชัดขึ้นครับ

>> ปี 2560 รายได้รวม 105 ล้านบาท กำไรสุทธิ 23.6 ล้านบาท
>> ปี 2561 รายได้รวม 154 ล้านบาท กำไรสุทธิ 32.8 ล้านบาท
>> ปี 2562 รายได้รวม 132 ล้านบาท กำไรสุทธิ 44 ล้านบาท

>> 9 เดือน ปี 2562 รายได้รวม 102 ล้านบาท กำไรสุทธิ 38.2 ล้านบาท
>> 9 เดือน ปี 2563 รายได้รวม 160 ล้านบาท กำไรสุทธิ 68.6 ล้านบาท

 


แนวโน้มรายได้และกำไรดูเติบโตดี อาจมีบางปีที่สะดุดบ้าง จากการแข่งขันที่สูงของธุรกิจรถยนต์ ทำให้รายได้ลด แต่ยังรักษากำไรไว้ได้

9 เดือนปีที่แล้ว ตัวเลขดูโตกระโดด ต้องติดตามว่าจะมาต่อเนื่องมั้ย เพราะว่าได้มาจากธุรกิจอย่างประกันสุขภาพ ประกันภัย Cyber ประกันภัยอัญมณีและทองคำ คือ อาจจะเป็นเพราะปีที่มี COVID ด้วยหรือเปล่า ทำให้เกิดการตื่นตัวกันเยอะ


TQR ยังไม่ได้กำหนดราคา IPO แต่จะมีหุ้นที่ออกมาขายไม่เยอะ 60 ล้านหุ้น เท่านั้น และดูเหมือนว่าจะไม่ได้ต้องการเงินมากเท่าไหร่
... เพราะในวัตถุประสงค์การใช้เงินเขียนว่า จะเอาไปใช้พัฒนาระบบ IT ทำให้เป็น platform มากขึ้น 20 ล้านบาท และเอาไปใช้พัฒนาแบบจำลอง ทำโมเดลประกันต่างๆ อีก 20 ล้านบาท เช่นกัน เงินที่เหลือก็จะเอาไปลงทุนธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

เพื่อนๆ คนไหนสนใจลองไปทำการบ้านกันต่อได้นะครับ ส่วนตัวผมมองว่า ดีที่มาร์จิ้นสูง รายได้ กำไรเติบโตได้ดี แต่ก็ยังแอบคิดว่า รายได้กำไรจะโตได้เยอะมากๆ แค่ไหนในอนาคต คู่แข่งเข้ามาง่ายหรือเปล่า และมีโอกาสแค่ไหนที่บริษัทประกันจะไปคุยกันเองโดยตรงกับประกันภัยต่อ

 

อย่าลืมว่า การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนลงทุนทุกครั้ง วิตามินหุ้นเพียงให้ข้อมูลประกอบการลงทุนเท่านั้น


ผู้ชนะแข่งขันโครงการ Stock Writer ของ stock2morrow

https://www.facebook.com/pg/stock.vitamins

Facebook

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง