1+1 = 2 และ 2+2 = 4
เสื้อ 500 บาท ลด 10% คือ ลดไป 50 บาท
กางเกง 800 บาท ถ้าลด 10% ด้วย ก็จะลดไป 80 บาท
ถ้านี่คือวิชาคณิตศาสตร์ เราจะได้คำตอบที่ถูก
แต่ถ้าเป็นวิชาการลงทุน บางครั้ง อาจไม่ใช่คำตอบที่ถูก หรือบางครั้งตอบถูก แต่ไม่ทำกำไร
พวกเรานักลงทุนชอบคิดอะไรที่เป็นตรรกะ เป็นเหตุเป็นผล แล้วก็นำความคิดนั้นไปลงทุน ซึ่งอาจจะไม่ได้ทำกำไรเสมอไปทุกครั้ง เพราะบางทีมันมีตัวแปรอื่นเข้ามา หรือความเชื่อบางอย่างนั้นผิดไป ทำให้คำตอบผิด วันนี้วิตามินหุ้นจะพาคุณไปรู้จักความเชื่อเหล่านั้นกันครับ
1. เมื่อก่อน EPS 1 บาท ราคาหุ้น 10 บาท วันนี้ EPS 2 บาท ราคาหุ้นไม่ควรอยู่ที่ 5 บาท
ถ้าคิดตามหลักเหตุและผล กำไร 1 ราคาหุ้นวิ่งไป 10 ถ้ากำไร 2 ราคาก็ต้องวิ่งไป 20 บาทสิ ว่าแล้วเคาะขวาทันที แต่ราคาก็ไม่ไปไหนอยู่ตรงนั้นเป็นปี เพราะอะไรกัน
- เหตุผลแรก เพราะนักลงทุนมองอนาคต ราคา 10 บาท ในวันนั้น คือ การมองว่าหุ้นตัวนี้จะทำ EPS ได้ 2 บาท ในวันนี้ พออนาคตเดินทางมาถึง ราคาหุ้นก็เลย sell on fact กับความจริงที่เกิดขึ้น ถ้าเราไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ เข้าไปซื้อก็ติดดอย
- เหตุผลที่สอง สมการการลงทุนไม่ใช่มีแค่ตัวเลข อย่าลืมใส่ความรัก โลภ โกรธ หลง เข้าไปด้วย วันที่ EPS 1 บาท มีสตอรี่เต็มไปหมด ผู้บริหารเปิดเผยแผนการเติบโต 3 ปี เป็นเท่าตัว นักวิเคราะห์แนะนำซื้อแทบทุกเจ้า คือ ปัจจัยเกื้อหนุนนะตอนนั้นเยอะกว่าตอนนี้
- เหตุผลที่สาม ตอน EPS 1 บาท หุ้นยังไม่ดัง ไม่มีคนสนใจ ไม่มีคนคาดว่า กำไรจะโตได้จริง พอเวลาผ่านไปแป๊บนึง กำไรเหมือนจะเริ่มดีจริง คนส่วนใหญ่เริ่มเห็น หุ้นมีความ mass มากขึ้น ก็เลยไล่ซื้อหุ้นกัน ราคาขึ้นก่อนที่ EPS จะปรากฎแบบชัดเจน
2. ขายหุ้นเมื่อเต็มมูลค่า
พวกเราชอบคำนวณหามูลค่าหุ้นกัน สมมติคิดได้ 10 บาท ตอนนี้ 7 บาท เราก็ซื้อ ราคาวิ่งขึ้นวิ่งลงไปจนใกล้ๆ จะ 10 บาท แต่ไม่เคยถึงซักที เราก็ยึดติดว่า รอ 10 บาท ก่อนค่อยขาย เพราะยังไม่เต็มมูลค่า แต่พอเราไม่ขาย ราคาหุ้นก็ค่อยๆ ซึมลงๆ เรื่อยๆ สุดท้ายก็กลับมาที่ทุนเรา 7 บาท เราก็ยังไม่ได้ขายได้แต่เสียใจ และรอวันนึงที่จะไปขายที่ 10 บาทให้ได้
- เหตุผลแรก เราประเมินมูลค่าผิด เพราะโอกาสที่ราคาจะออกมาเป๊ะๆ 10 บาท มันก็ยากอยู่นะ เราควรประเมินเป็นกรอบราคา ประเมินหลาย scenario ทั้ง worst, base และ best case เพื่อจะได้มูลค่าในแต่ละกรณี และพิจารณาควบคู่ไปกับผลประกอบการ
- เหตุผลที่สอง ถ้าเราขายเต็มมูลค่า แล้วคนที่มาซื้อต่อจากเราจะไปขายใคร เหมือนเราซื้อรถมา 1 ล้านบาท ขับไปซัก 2 ปี เอาไปตั้งราคาขาย 1 ล้านบาท ก็คงไม่มีใครซื้อต่อจากเรา แต่ถ้าเราบอกว่า ขาย 8 แสนบาทพอ ทีนี้หลายคนจะรีบเข้ามาซื้อ เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่เราลงทุน อย่าหวังว่าจะขายที่เต็มมูลค่า ให้คิดเผื่อคนที่มารับของต่อจากเราด้วยว่าเขาก็ต้องการเอาไปขายต่อเช่นกัน
3. ลงทุน 1 แสน ขอแค่ค่ากับข้าววันละพันพอ
เราคิดง่ายๆ ว่า 100,000 บาท กำไรวันละ 1,000 บาท ก็แค่ 1% เอง ดูไม่เยอะ ขอแค่ค่ากับข้าววันละเท่านี้ ไม่น่ายาก สมมติว่าปีนึงเราเทรด 200 วันพอ เท่ากับว่า เราจะได้กำไร 200,000 บาท จากเงินต้น 100,000 บาท คือ โต เท่าตัวเลยนะ
ถามว่าเป็นไปได้มั้ย ถ้าทำแบบสม่ำเสมอทุกวัน คิดว่าไม่ได้ และยิ่งถ้าทำกำไรต่อเนื่องทุกวัน เป็น 5-10 ปี ก็คิดว่าไม่น่าจะทำได้กันทุกคน แต่ถ้าเปลี่ยน mindset ใหม่ เป็นกำไรทั้งปี เท่านั้นเท่านี้เปอร์เซ็นต์ แล้วในแต่ละครั้งของการลงทุนมีกำไร มีขาดทุน แต่สุดท้ายได้ผลลัพธ์ตามเป้าหมาย แบบนี้น่าจะเป็นไปได้มากกว่า
บางครั้งเรามองจากจุดเล็ก 1% เอง จากการลงมือทำ 1 ครั้ง ว่าทำได้ แล้วก็ไปคูณกับอีก 200 ครั้ง ว่าได้เหมือนกัน บางทีก็อาจไม่ใช่
จริงๆ แล้วความเชื่อผิดๆ ในโลกการลงทุนยังมีอีกเยอะครับ วันนี้ฝากไว้ 3 ข้อ ให้ลองคิดกันดูก่อนว่าเราเคยประสบพบเจอกับเหตุการณ์แบบไหนกันมาบ้าง ถ้าเรามีสติรู้เท่าทันและสามารถแยกแยะออกมาได้ว่าตัวเรากำลังทำอะไรอยู่ สถานการณ์แบบนี้คืออะไรกันแน่ เราก็จะเอาตัวรอดจากการลงทุนและประสบความสำเร็จได้ครับ