"สุดท้าย มันจะกลับเข้าสู่ค่าเฉลี่ยเสมอ" ...
นี้คือหัวใจของทฤษฏีที่ว่า Regression to the Mean คือผลลัพธ์ของสิ่งๆหนึ่งที่โดดเด่นมากๆ เมื่อเวลาผ่านไป ผลลัพธ์นั้นๆก็จะทำได้ไม่ค่อยดี กลับเข้าสู่ค่าเฉลี่ย
... ในทางกลับกัน อะไรที่แย่มากๆ เมื่อเวลาผ่านไป ผลลัพธ์กลับเริ่มดีขึ้น วิ่งเข้าสู่ค่าเฉลี่ย
เปรียบเทียบในการลงทุน
เราเรียนรู้มาว่า ตลาดหุ้นจะให้ตอบแทนระยะยาวที่ 10% โดยเฉลี่ย
>> ถ้าปีไหน ผลตอบแทนโดดเด่น ใครๆก็รวยจากตลาดหุ้นสร้างผลตอบแทน 30-40% ในปีนั้นๆ พอปีถัดไปเราก็อาจจะพอเดาได้ว่า ผลตอบแทนอาจจะติดลบก็ได้เพื่อให้กลับเข้าสู่ค่าเฉลี่ยที่ 10%
>> หรือถ้าปีไหนตลาดหุ้นย่ำแย่ พอเข้าสู่ปีใหม่ หุ้นอาจจะวิ่งอย่างรุนแรงก็เป็นไปได้
หรือแม้แต่กองทุนรวม ถ้าปีไหนกองทุนรวมของ บลจ.ไหนทำผลงานได้อย่างโดดเด่น ติด Top3 ของปีนั้น พอปีถัดไป ผลงานก็อาจจะย่ำแย่ ไม่ติดอันดับก็ได้
ปีเตอร์ ลินซ์ เคยเขียนในหนังสือ Beating The Street ให้เหตุผลเอาไว้ว่า กองทุนส่วนใหญ่มักจะถือหุ้นคล้ายๆกัน ดังนั้นตามหลักแล้วผลตอบแทนจากกองทุนรวมจะใกล้เคียงกัน ไม่แตกต่างกันมาก
... แต่ถ้ามีกองทุนไหนให้ผลตอบแทนอย่างโดดเด่น แสดงว่าในพอร์ตหุ้นของกองทุนนั้นอาจจะมีหุ้นสักตัวที่วิ่งอย่างรุนแรง 3-4 เท่า ทำให้ผลตอบแทนของกอทุนนั้นๆโดดเด่น
... แต่มันเป็นเรื่องยากที่จะรักษาผลตอบแทนสูงๆในระยะยาว เพราะสุดท้ายแล้วกองทุนที่สร้างผลตอบแทนอย่างโดดเด่นในปีนี้ พอปีหน้ามักจะไม่ได้ดีอย่างที่คาดหวัง
ลองเอากราฟ SET Index มาดูภาพกว้างๆย้อนหลังเป็น 10 ปี โดยใส่เส้นค่าเฉลี่ย 100 วันลงไป จะเห็นได้ว่าแท่งเทืยนไม่สามารถฉีกหนีเส้นค่าเฉลี่ยได้นาน ท้ายที่สุดแล้วมันก็จะกลับเข้าไปแตะเส้นค่าเฉลี่ยไม่ช้าก็เร็ว
เราอาจจะเห็นผลตอบแทนของแต่ละสินทรัพย์ขึ้นๆลงๆอย่างรุนแรง บางปีก็วิ่งดี บางปีก็ตกต่ำ แต่แน่นอนว่าไม่มีสินทรัพย์ไหนขึ้นตลอดไป หรือลงตลอดไป สุดท้ายสินทรัพย์ย่อมกลับเข้าสู่ค่าเฉลี่ยในระยะยาว
แล้วแบบนี้ นักลงทุนจะปรับตัวหรือแก้ไขเรื่องนี้อย่างไร
คำตอบคือ จัดพอร์ตให้มีหลายๆสินทรัพย์ (Diversification) กระจายความเสี่ยงให้เหมาะสม เพราะในพอร์ตเราจะมีบางสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนได้ดี และบางสินทรัพย์ให้ผลตอบแทนที่ไม่ดี สลับกันไป
ดังนั้นการจัดพอร์ตให้ครอบคลุมทุกๆสินทรัพย์ จะช่วยให้เราอยู่รอดทุกสภาวะตลาด และให้เราลงทุนระยะยาวได้อย่างมีความสุขครับ