#วางแผนการเงิน

ใครบ้าง? มีสิทธิได้รับมรดกที่ดิน

โดย prop2morrow
เผยแพร่:
188 views

ที่ดินสินทรัพย์ที่มีมูลค่าและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆเมื่อกาลเวลาผ่านไปจะถูกเปลี่ยนมือเมื่อมีการซื้อขายที่ดินเกิดขึ้น หรือยกให้เป็นมรดก ต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า “มรดกที่ดิน” หากเจ้าของที่ดินถึงแก่ความตายและมีการทำพินัยกรรมระบุข้อความไว้อย่างชัดเจนว่าต้องการยกที่ดินแปลงนั้นให้กับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง บุคคลนั้นมีสิทธิที่จะได้รับมรดกที่ดินซึ่งเรียกว่า “การได้รับมรดกที่ดินโดยสิทธิตามพินัยกรรม” แต่หากเจ้าของที่ดินหรือผู้มีชื่อในเอกสารเกี่ยวกับที่ดินถึงแก่ความตาย และที่ดินแปลงนั้นไม่ได้มีการทำพินัยกรรมไว้ ที่ดินแปลงดังกล่าวจะกลายเป็นมรดกที่ดิน ซึ่งผู้ที่จะได้รับมรดกที่ดินจะเป็น “ทายาทโดยสิทธิตามกฎหมาย”


ทายาทที่มีสิทธิตามกฎหมายหรือทายาทโดยธรรม มี 6 ลำดับ แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดก ก่อน-หลัง ดังนี้

ลำดับที่ 1 ผู้สืบสันดาน (บุตร, หลาน, เหลน, ลื้อ)
ลำดับที่ 2 บิดา มารดา
ลำดับที่ 3 พี่น้องร่วมบิดา-มารดาเดียวกัน
ลำดับที่ 4 พี่น้องร่วมบิดา หรือ ร่วมมารดา เดียวกัน
ลำดับที่ 5 ปู่ ย่า ตา ยาย
ลำดับที่ 6 ลุง ป้า น้า อา
คู่สมรส ที่ยังมีชีวิตอยู่ถือเป็นทายาทโดยธรรม มีสิทธิรับมรดกร่วมกับทายาทโดยธรรมทั้ง 6 ลำดับ


โดยผู้มีสิทธิได้รับมรดกจะต้องไปขอจดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินนั้นที่สำนักงานที่ดินจังหวัด หรือสำนักงานที่ดินจังหวัดสาขา ในกรณีมีเอกสารเป็นโฉนดที่ดิน น.ส.3 ข. และสำนักงานที่ดินอำเภอในกรณีมีเอกสารเป็น น.ส. 3 , น.ส.3 ก. ถ้าท้องที่ใดที่ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยยกเลิกอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอเกี่ยวกับการปฏิบัติการตามกฎหมายที่ดินแล้ว ไม่ว่าที่ดินจะเป็นโฉนดที่ดิน น.ส.3 หรือ น.ส.3 ก , น.ส.3 ข. จต้องไปขอจดทะเบียนที่สำนักงานที่ดินจังหวัด หรือสำนักงานที่ดินจังหวัดสาขาที่ดินที่ตั้งอยู่

หลักฐานที่ต้องนำไปประกอบการขอรับมรดก คือ

-- โฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองทำประโยชน์
-- บัตรประจำตัว
-- ทะเบียนบ้าน
-- หลักฐานการตายของเจ้ามรดก เช่น มรณบัตร
-- พินัยกรรม (ถ้ามี)
-- ถ้าผู้ขอ ขอรับมรดกในฐานะเป็นคู่สมรส ต้องมีหลักฐานการสมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย
-- ถ้าผู้ขอรับมรดกเป็นบิดาเจ้ามรดก ต้องมีทะเบียนสมรสกับมารดาของเจ้ามรดกหรือหลักฐานการรับรองบุตร
-- กรณีบุตรบุญธรรมเป็นผู้ขอรับมรดก ต้องแสดงหลักฐานการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม
-- ถ้ามีกรณีพิพาทเกี่ยวกับมรดก ต้องนำสัญญาประนีประนอมยอมความหรือคำพิพากษาอันถึงที่สุดไปแสดง
-- ถ้ามีผู้มีสิทธิรับมรดกร่วมกันหลายคน บางคนได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว ต้องมีหลักฐานการตายของทายาทนั้น

 

ในกรณีที่มีผู้จัดการมรดก หลักฐานที่ต้องนำไป คือ

-- คำสั่งศาลหรือคำพิพากษาของศาล หรือพินัยกรรมซึ่งตั้งให้ผู้ขอเป็นผู้จัดการมรดก
-- หลักฐานการตายของเจ้ามรดก
-- ทะเบียนบ้าน และบัตรประจำตัวของผู้จัดการมรดก
-- โฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์

 

ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน

-- ค่าคำขอ แปลงละ ๕ บาท
-- ค่าประกาศมรดก แปลงละ ๑๐ บาท
-- ค่าจดทะเบียนผู้จัดการมรดก แปลงละ ๕๐ บาท
-- ค่าจดทะเบียนโอนมรดก ร้อยละ ๒ ตามราคาประเมินทุนทรัพย์
-- ในกรณีโอนมรดกระหว่างผู้บุพการีกับผู้สืบสันดาน หรือระหว่างคู่สมรส เรียกตามราคาประเมินทุนทรัพย์ ร้อยละ ๐.๕

ที่มา : กรมที่ดิน


ในยุคนี้การซื้ออสังหาฯ ไม่ว่าจะเป็นคอนโด หรือ บ้าน จะไม่ใช่การซื้อเพื่ออยู่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องคิดไปถึงความคุ้มค่าแก่การลงทุนด้วย Prop2morrow เป็นแหล่งข้อมูลจากกูรูที่มาให้ความรู้ด้านอสังหาฯที่คุณต้องรู้ก่อนตัดสินใจซื้อ ติดตามเราได้ที่ LINE@prop2morrow และ FB: prop2morrow

Facebook

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง