#ลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐาน

สรุปปี 2020 ฉบับวิตามินหุ้น

โดย Stock Vitamins - วิตามินหุ้น
เผยแพร่:
94 views

ปีนี้เป็นปีแห่งการเรียนรู้ที่แท้จริง เหมือนได้ลงทะเบียนเรียนหลักสูตรการลงทุนแบบเข้มข้นและครบเครื่องจากอาจารย์ที่มีชื่อว่า COVID-19

ผมขอแชร์เรื่องราว 365 วันที่ผ่านมาให้กับเพื่อนๆ ได้อ่านกันนะครับ เผื่อว่าจะมีอะไรบางอย่างที่พอจะสะกิดใจหรือเป็นประโยชน์ได้บ้าง


1. มีวินัยใฝ่เรียนรู้
ด้วยความที่ปีนี้เป็นปีแรกแบบเต็มปีที่ออกจากงานประจำมา แต่ก็ยังพยายามทำตัวให้มีระเบียบวินัย ขับรถก็ฟัง YouTube, Podcast ความรู้ต่างๆ ตอนเช้าก็นั่งฟังโบรกเกอร์ 8 ที่ ด้วยสปีด 2-3 เท่า อ่านบทวิเคราะห์ ทำสรุปหุ้นแต่ละไตรมาสลงทั้ง excel และ power point จริงๆ ไม่ได้ขยันอะไร แต่ฝึกทำซ้ำไปซ้ำมาให้ชินจะได้กลายเป็นพฤติกรรมในแต่ละวันจนกลายเป็น auto pilot (เดี๋ยวไว้มารีวิวแบบละเอียดครับว่าแต่ละวันทำอะไรบ้างตั้งแต่ตื่นเช้าจนเข้านอน)


2. ลดพอร์ตก่อนเจ็บหนัก
เริ่มเห็นข่าว COVID ที่เมืองจีน ทีแรกก็ไม่ได้คิดว่าจะมีอะไรรุนแรง แต่เราก็นั่งทำ excel รายวันถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิต ทำอัตราส่วนต่างๆ เพื่อดูความเคลื่อนไหว แล้วก็ฟังผู้เชี่ยวชาญบอกว่า วันวาเลนไทน์น่าจะจบ

แต่เวลาผ่านไปทำไมสถานการณ์มันดูรุนแรงขึ้น บวกกับเราเห็นคนโพสต์เล่นๆ ว่า ถ้าลิเวอร์พูลจะไม่ได้แชมป์ที่รอมา 30 ปี ก็คงเป็นเพราะโลกจะแตกหรือ COVID เท่านั้นแหละ ทำให้จุดประกายว่า หรือมันจะจริง เลยลดพอร์ตลงมาถือเงินสด 70% หุ้นที่ไม่ได้ขายก็คิดว่าเป็นหุ้นแข็งแกร่งเติบโตได้ดี


3. ซื้อหุ้นถูกตัว แต่โลภอยากได้ถูกกว่าเดิม
ตอนตลาดหุ้นเจอ Circuit Breaker ผมถือเงินสดเต็มกระเป๋า รอช็อปเต็มที่ ซื้อหุ้นแต่ซื้อไม่เยอะ เพราะยิ่งซื้อมันยิ่งลง เราก็งงและคิดว่า สงสัยสถานการณ์มันเลวร้ายกว่าที่คิด รอบนี้เจ็บกันทั้งโลก ใครต่อใครก็บอกว่าหนักกว่าต้มยำกุ้ง

ผมมีทั้ง DOHOME 5 บาท, JMART 7 บาท, JMT 13 บาท, COM7 ที่ 16 บาท แต่ทุกตัวที่พูดถึงผมขายหมดสิ้นได้กำไรไม่กี่บาท ไม่ใช่ว่ากิจการไม่ดี หรือ upside ไม่เยอะ แต่เพราะความโลภในใจบอกเราว่า ขายก่อนเดี๋ยวไปซื้อที่ราคาต่ำกว่านี้ เพราะดูยังไงสถานการณ์ก็ไม่น่าจะฟื้นได้เร็ว แต่ความเป็นจริง คือ ขายแล้วมันไปต่อ ไปแล้วไปยาว จนเราได้แต่นั่งยืนงงในโควิดว่า เฮ้ย ทำไมมันไม่ลง มันต้องลงสิ


4. ผิดได้ แต่ต้องรีบกลับมาให้ไว
ถามว่า เคยคิดมั้ย ถ้าเราถือหุ้นที่เราเคยซื้อไปมาจนถึงวันนี้ เราจะได้กี่เด้งแล้ว ตอบเลย คิดซิ ใครบ้างจะไม่คิด เสียดายมั้ย เสียดายสิ แล้วก็อดเซ็งกับความโง่ของตัวเองไม่ได้ แต่อย่าโวยวายหลายวัน เพราะเรายังไม่ได้ขาดทุน แค่ทำกำไรหายนิดหน่อย เลยทำการบ้านหนักขึ้น หาหุ้นตัวอื่นทดแทน

ก็เลยได้หุ้นอสังหาหลายตัว หุ้นโรงไฟฟ้า หุ้น Logistics หุ้นธนาคาร ที่เราหาโอกาสซื้อในราคาที่เหมาะสม คือ ไม่ได้ต่ำมาก แต่คิดแล้วว่าไม่ตกรถชัวร์ ทำให้ได้กำไรคืนกลับมา แม้ว่าจะไม่เป็นเด้ง แต่ก็ถือว่าดีพอสมควร บางตัวก็ขายไปแล้ว บางตัวก็ถือลงทุนต่อ


5. ฝึกดูกราฟหาจุดเข้าออก และสัญญาณเตือนภัย
เมื่อก่อนผมดูงบ ดูสตอรี่ ดูพื้นฐานเป็นหลัก แต่ปีนี้ก็มีบาดเจ็บไปบ้างกับหุ้นบางตัวที่งบกำไร new high เดี๋ยว Q4 ก็จะโต ต่อเนื่อง แต่ราคาดันไม่ทำ new high

ผมชอบยึดติดว่า หุ้นพื้นฐานดี กำไรโต ราคาก็ต้องไปสิ แต่พอเราไปดูกราฟ ทำไมราคามันชนแนวต้านที่เคยทำไว้เมื่อ 4 ปีก่อน แล้วไม่ผ่าน ทำท่ายึกยักๆ อยู่ 1-2 อาทิตย์ แล้วก็ร่วงเลย หุ้นบางตัวยก high ยก low มาสวยดี แล้วอยู่ๆ ก็ทำเหมือนไม่อยากไปต่อซะงั้น หลุดทุกเส้นค่าเฉลี่ยที่ตีไว้ จุดสุดท้ายหลุดเส้น 200 วัน แล้วก็โบกมือลาไปยาวเลย

ต้องบอกว่า บางตัวผมแบ่งขายตามกราฟที่เสียทรง ทำให้รอดขาดทุน แต่บางตัวเราก็ดื้อว่า งบมันดีจะขายทำไม แค่เขย่าหรือเปล่า ลงมาแนวนี้น่าจะรับอยู่ แต่เพราะดื้อเลยขาดทุน บางคนอาจจะมองว่า ถือยาวๆ เดี๋ยวราคาก็กลับมามั้ย เดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟังในข้อต่อไปว่า อาจจะไม่ใช่แบบนั้น


6. คัทลอส ทำให้ตาสว่าง
ตอนที่เราถือหุ้นอยู่ เราจะมีอคติในใจว่าหุ้นที่เรามีนั้นดี กำไรโต ราคาน่าจะไปต่อได้อีก แต่พอราคามันลงเยอะๆ เราขายออกไป เราจะเริ่มคิดออกว่ามันมีความเสี่ยงอะไรซ่อนอยู่บ้าง ยกตัวอย่าง หุ้น commodity บางประเภท ที่ราคาขึ้นสูงมาก เรียกได้ว่า ทำ ATH ถ้าเรามองในมุมของคนที่มีหุ้น เราก็จะคิดว่า ดีสิ กำไรต้องโตต่อ ราคาจะไปได้อีก แต่เราลืมคิดไปว่า

-- แล้วการที่ราคา commodity จะไปได้ไกลกว่านี้มันมีโอกาสแค่ไหน คืออาจจะต้องรอให้มีเหตุการณ์พิเศษบางอย่าง หรือ โรคระบาดกว่านี้ ราคาถึงจะสูงกว่านี้ได้ แปลว่าราคามันอาจจะเริ่มตันแล้วก็ได้ คือ upside จำกัด แต่ downside ไม่จำกัด โอกาสลงมากกว่าขึ้น

--  มองแต่มุมของราคา แต่ลืมคิดเรื่องต้นทุนวัตถุดิบ หรือสต๊อกสินค้าที่มี เพราะเราหลงดีใจว่าราคาขึ้นดี แต่บางทีหุ้นที่เราถือเค้าไม่ได้สต็อกมาเยอะ กลายเป็นว่าต้นทุนสูงขึ้นไปอีก แล้วถ้าเกิดไปล็อคราคาล่วงหน้ากับลูกค้าไว้แล้ว ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่


7. กำไรของเขา ไม่ใช่ของเรา จงดีใจที่เจอคนเก่ง
ผมซื้อหุ้นตัวเดียวกับเพื่อน แต่เค้าเล่นสั้น กำไร 10% ขายใน 2 สัปดาห์ แต่ผมถือยาว เพราะกะกินคำใหญ่ เวลาผ่านไปหุ้นขึ้นๆลงๆ บางตัวกำไร 20% แล้วก็ลงมาเหลือ 5% แล้วก็กลับขึ้นไป 10% วนเวียนไปมา เพื่อนเรากำไร 2 รอบแล้ว แต่เรายังไม่ได้อะไรเลย หลายครั้งเราก็แอบเซ็ง ไม่ได้อิจฉาเค้านะ แอบคิดด้วยซ้ำไปว่า เค้าเก่งดีนะ อยากทำได้บ้าง

แต่สิ่งทีผมคิดคือ เราก็ได้เรียนรู้วิธีคิดจากเค้าว่าทำไมซื้อ ทำไมขาย และทำให้เข้าใจด้วยว่า หุ้นตัวเดียวกันแต่มีคนหลากหลายความต้องการเข้ามาซื้อขาย ทำให้ราคาเหวี่ยงขึ้นลง แต่ผมก็ยึดมั่นกับแผนการของตัวเองไปไม่วอกแวกซื้อหรือขายตามใครน่าจะดีกว่า


8. วางแผนดี มีชัยไปกว่าครึ่ง
ต่อเนื่องจากข้อที่แล้ว เราก็จะเน้นการวางแผนที่รัดกุม คือ ซื้อจุดที่ได้เปรียบ แพ้ยาก กำหนด reward/risk ratio ตามค่าเฉลี่ยกำไรของเรา (อันนี้ได้เรียนรู้มาจาก Mark Minervini) ถ้าเรามั่นใจเราก็ลงเงินหนักได้ และก็ไม่ต้องมาเทรดบ่อย เอาเวลาไปหาหุ้นตัวต่อไปดีกว่า

แต่ผมก็จะแบ่ง 2 พอร์ต 70% ลงทุน 30% เก็งกำไร บางทีเป็นหุ้นตัวเดียวกันด้วย เป็นการแก้ปัญหาเสียใจที่ไม่ได้ขายหุ้นแล้วมันย่อลงมา แต่สำคัญ คือ แผนต้องชัด รู้ว่าต้องขายเมื่อไหร่ ทั้งกำไรและขาดทุน (แต่ของจริงก็แอบทำไม่ได้อยู่เหมือนกัน)


 และนี่ก็คือ บทสรุปประจำปี 2020 ของผมนะครับ ก็หวังว่าพอจะเป็นประโยชน์ให้กับเพื่อนๆ ได้บ้าง

ขอบคุณที่ติดตามกันมาตลอด ปีที่ผ่านมา ถ้ามีตรงไหนผิดพลาดประการใดก็ขออภัยทุกท่านไว้ ณ ที่นี่นะครับ


ผู้ชนะแข่งขันโครงการ Stock Writer ของ stock2morrow

https://www.facebook.com/pg/stock.vitamins

Facebook

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง