ช่วงนี้กระแส COVID กลับมาอีกครั้งหลังจากตรวจพบผู้ติดเชื้อที่สมุทรสาครทำสถิติต่อวันสูงสุดใหม่ ทำให้เกิดความกังวลว่าจะกระจายเป็นวงกว้าง และเกิด 2nd wave ตามมา
เหตุการณ์แบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เราก็ยังอดกังวล อดกลัวไม่ได้ แล้วก็ขายหุ้นตัดขาดทุนออกมาเพราะกลัวว่าจะลงต่อ หรือไม่กล้าซื้อหุ้นที่ลงมาแรงแล้วสุดท้ายเด้งกลับไปไว ทำให้เราแอบเสียดายว่า รู้งี้ขายตัวนั้นมาซื้อตัวนี้ก็รวยไปแล้ว เรื่องแบบนี้เกิดวนเวียนซ้ำไปซ้ำมากับเราอยู่บ่อยครั้ง
วันนี้ผมจะมาแนะนำวิธีรับมือเวลาตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ครับว่าเราควรจะมีวิธีคิดและหลักการทำอย่างไรกันดี
1. ตระหนักแต่อย่าตระหนก
แน่นอนว่า เราคงตกใจ เพราะประเทศไทยรับมือกับ COVID ได้ดีมาก จนเราไม่ได้คาดมาก่อนว่า COVID จะกลับมาลุกลามใหญ่โตอีก เป็นเรื่องปกติที่เราจะกลัว แต่อยากให้เราค่อยๆ ตั้งสติ ให้ตัวเรารับรู้ว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร รุนแรงแค่ไหน อย่าตระหนกตกใจให้เกินกว่าเหตุ แล้วพาลขายหุ้นจนหมดพอร์ต หรือไม่แม้แต่จะมองหาโอกาสในวิกฤต
2. มองภาพใหญ่ให้ออก
อย่ามองแต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อว่าเยอะจนน่ากลัว แต่ให้มองภาพใหญ่ให้ออกว่า เหตุการณ์จะลุกลามแค่ไหน หรือแค่ล็อคดาวน์บางส่วน วัคซีนเริ่มมีการฉีดกันแล้วใช่มั้ย เดี๋ยวปีหน้าจะมาที่ไทย แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ยังมี และการเกิด 2nd wave แบบนี้ที่ต่างประเทศก็มี ตลาดหุ้นก็ลง แต่สุดท้ายก็กลับขึ้นมาได้ ถ้าเราเข้าใจภาพว่าน่าจะเป็นแบบนี้ เราก็จะวางแผนต่อได้ถูก
3. แบ่งไม้ลงทุน อย่าซื้อทีเดียว
เพราะเราไม่รู้แน่ชัดว่าสถานการณ์จะลุกลามใหญ่โตแค่ไหน หรือจำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มมากกว่านี้หรือเปล่า การที่หุ้นลงมาทีเดียว 80 จุด ก็ไม่ได้แปลว่าวันต่อไปจะต้องเด้งกลับแรงในทันที ถ้าเหตุการณ์ไม่ดีขึ้น โอกาสที่ตลาดจะลงต่อก็มี เราจึงไม่ควรทุ่มหมดหน้าตักซื้อหุ้นทั้งหมดในวันเดียว โอเคว่า เราจะไม่ได้หุ้นที่ราคาต่ำสุด (ซึ่งเราไม่ควรหวังแบบนั้นอยู่แล้ว) แต่อย่างน้อย ต้นทุนเราก็จะไม่เสียเปรียบ ถ้าสุดท้ายหุ้นที่เราซื้อลงมาด้วยความตกใจ มันก็จะกลับขึ้นไปเมื่อคลายกังวลและถ้าเราซื้อถูกจังหวะ เราก็จะได้กำไรกลับมา
4. ดูให้ออก ตัวไหนได้ ตัวไหนเสีย
เวลาตลาดลง ไม่ได้แปลว่าหุ้นทุกตัวต้องลงหมด และไม่ใช่การปาเป้าว่าจะซื้อหุ้นตัวไหนดี แต่เราต้องวิเคราะห์ให้ถี่ถ้วนว่า
- หุ้นตัวนี้อยู่ในสมุทรสาคร กระทบหนัก น่าจะลงแรง
- หุ้นตัวนี้อยู่ในกลุ่มท่องเที่ยว สายการบิน ร้านค้าขายของ ก็อาจจะกระทบตามมา
- หุ้นตัวนี้ขึ้นไปเยอะก่อนหน้า คนซื้อที่ราคาต่ำกันเยอะ น่าจะขายทำกำไรออกมา
- หุ้นตัวนี้ทำอุปกรณ์การแพทย์ ขายประกัน ก็จะไม่ลง เพราะได้ประโยชน์
- หุ้นตัวนี้ ดูธุรกิจแล้วไม่น่าเกี่ยวอะไรด้วย แต่ลงแรง แบบนี้ก็น่าสนใจ
มองให้ออกว่าเราจะลงทุนหุ้นตัวไหนดี ที่เข้าทางกับแผนการของเรา เพื่อที่ว่าตอนหมอกควันจางลง คนอื่นจะเริ่มเห็นว่าตัวไหนดี และกลับเข้ามาซื้อ แต่สำหรับเราได้ซื้อไปก่อนหน้านั้นแล้ว
5. โอกาสมีให้เสมอ สำหรับคนที่วางแผน
รอบนี้นับว่าโชคดี ที่ข่าวออกมาวันเสาร์ ทำให้เรามีเวลาคิด เวลาวางแผนว่าจะทำอย่างไรกับหุ้นในพอร์ตและเงินสดในมือดี เรามีเวลาหาหุ้นที่น่าสนใจ เรามีเวลาคิดว่า ควรขายหุ้นตัวไหนมั้ย หรือแม้แต่จะคิดว่า การอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไร แต่การวางแผนนั้นเราต้องชัดเจนในทุกขั้นตอนว่าจะซื้อที่ราคาเท่าไหร่ กี่หุ้น ถ้าหุ้นขึ้นจะทำไง ถ้าหุ้นลงจะทำไง จะขายที่ราคาเท่าไหร่ เรื่องรายละเอียดแบบนี้เราต้องแม่น ไม่งั้นพอตลาดเปิดมา SET ลง 50 จุด เราก็ทำอะไรไม่ถูก ไม่รู้ว่าจะซื้อตัวไหน หรือจะขายตัวไหนดี สุดท้ายก็จะเสียโอกาสไปเพราะไม่ได้ทำการบ้านไว้ล่วงหน้า
6. เตรียมพร้อมในเรื่องที่คาดไม่ถึง
เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เราอาจคาดไม่ถึงเกิดขึ้นได้เสมอ แม้เป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ก็ทำให้เราเสียโอกาสไป เช่น App การซื้อขายล่มเพราะคนใช้งานเยอะ โอนเงินเข้าพอร์ตช้าไป ไม่ทันเวลาเปิดตลาด สัญญาณอินเตอร์เน็ตที่บ้านหรือมือถือไม่ดี นอนดึกตื่นสาย ต้องเข้าประชุมตอนสิบโมง อะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้การลงทุนของเรามีปัญหาได้ ให้เตรียมแผนสำรองไว้ล่วงหน้าจะได้ไม่ตกม้าตายเพราะเรื่องเล็กน้อย
7. เจ็บแล้วจำ กำไรอย่าได้อวด
สุดท้ายเราอาจจะได้กำไรเพราวางแผนมาดี มองเกมส์ขาด แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ย่อมต้องมีคนที่ขาดทุน การที่เราจะออกมาโอ้อวดว่าเราเก่งอาจจะไม่ใช่เรื่องที่สมควรกระทำเท่าไรนัก และอีกอย่างการได้กำไรรอบนี้ก็มาจากเหตุการณ์โรคระบาดที่มีผู้คนเจ็บป่วยกันด้วย เพราะฉะนั้นอาจจะดีกว่า ถ้าเราเก็บกำไรไว้ในใจ และคอยทบทวนบทเรียนว่าเราสำเร็จเพราะอะไร เพื่อฝึกฝนให้เก่งยิ่งขึ้นไป
ฝากข้อคิดทิ้งท้ายว่า ตลาดหุ้นขึ้นแรงลงแรงเป็นเรื่องปกติที่ผ่านไปแล้วก็จะผ่านมาอีก มีทั้งคนที่ได้กำไรและขาดทุนจากเรื่องนี้ แล้วเราอยากให้เหตุการณ์แบบนี้จบแบบไหนสำหรับเรา อยู่ที่เราเป็นคนเลือกเอง